• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาเพนิซิลลิน

ยาเพนิซิลลิน

 

เมื่อ 26-27 ปีที่แล้วมา ได้มีการค้นพบยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลกคือยา “เพนิซิลลิน” โดยท่านเซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง

นับจากนั้นเป็นต้นมาโฉมหน้าของการรักษาโรคติดเชื้อก็ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ความสำเร็จในการรักษาโรคติดเชื้อเพิ่มขึ้นทันตาเห็น จนใครต่อใครในสมัย 10 ปีแรกที่เริ่มมีเพนิซิลลินใช้ ต่างคิดว่าต่อไปนี้มนุษย์เราคงพิชิตโรคติดเชื้อได้แล้ว
แต่เมื่อเวลาผ่านไปความจริงก็ปรากฏว่า โรคติดเชื้อยังคงอยู่ เชื้อที่เคยถูกทำลายด้วยยาเพนิซิลลินกลับดื้อต่อยาเพนิซิลลินมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ได้มีเชื้อโรค(แบคทีเรีย)จำนวนมากที่ดื้อต่อยาเพนิซิลลิน และเหตุการณ์เช่นที่เกิดกับยาเพนิซิลลินก็เกิดกับยาชนิดอื่นๆด้วยสาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เชื้อดื้อยาก็คือ การใช้ยาปฏิชีวนะโดยพร่ำเพรื่อ และขาดหลักวิชาที่ถูกต้อง

ผลเสียที่ตามมาจากการที่เชื้อดื้อยาก็คือ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตเพราะไม่มียารักษา หรือเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้นเพราะต้องใช้ยาใหม่ซึ่งส่วนใหญ่ราคาแพง และยาบางชนิดอาจมีพิษมากขึ้นด้วย
ในฉบับนี้ผมใคร่ขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับยา “เพนิซิลลิน วี” หรือเรียกสั้นๆว่า “ยาเพน วี”
ยาตัวนี้เป็นเพนิซิลลินชนิดที่ทนกรด สามารถกินเข้าทางปากแล้วถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ระบบภายในร่างกายได้


ลักษณะของยา ตัวนี้มี 2 แบบคือ
1. ยาเม็ด ขนาด 125 มก. หรือ 2 แสนหน่วย และขนาด 250 มก. หรือขนาด 4 แสนหน่วย
2. ยาผงละลายน้ำบรรจุขวด ขนาด 62.5 มก.ต่อช้อนชา(5 ซี.ซี.) หรือ 1 แสนหน่วยต่อช้อนชา และ 125 มก. หรือ 2 แสนหน่วยต่อช้อนชา (5 ซี.ซี.)


⇒ ราคาโดยประมาณ
ยาเม็ด ขนาด 125 มก. ราคาเม็ดละ 25-50 สตางค์ ขนาด 250 มก. ราคาเม็ดละ 50-75 สตางค์
ยาผงละลายน้ำบรรจุขวด ขนาด 62.5 มก. ปริมาตร 2 ออนซ์ ขวดละ 8-10 บาท ขนาด125 มก. ปริมาตร 2 ออนซ์ ขวดละ 12-15 บาท
ยาผงละลายน้ำ เมื่อผสมน้ำแล้ว (ควรใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว) จะเก็บไว้นอกตู้เย็นได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าแช่ตู้เย็นจะเก็บไว้ได้ 2 สัปดาห์


⇒ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาเพนวี
1. โรคติดเชื้อที่ผิวหนังบางชนิดได้แก่ ตุ่มหนอง ฝี ตามแขนขาหรือลำตัว พวกนี้กินยาเพน วี นาน 5-7 วัน

2. โรคติดเชื้อที่คอและ/หรือต่อมทอนซิล จากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสเตรปโตค็อกคัส อาการได้แก่ มีไข้ มักสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เจ็บคอมาก คอแดงจัดและ/หรือมีตุ่มหนองหรือคราบหนอง มีก้อนใต้คางกดเจ็บ
การรักษา  : ให้ยาเพน วี นาน 7-10 วัน

3. โรคติดเชื้อของโพรงจมูก จากแบคทีเรียกลุ่มสเตรปโตค็อกคัส ซึ่งมักมีน้ำมูกสีเหลืองหรือเขียวและมีไข้สูง
การรักษา   :  ให้ยาเพน วี นาน 5-10 วัน

4. ป้องกันโรคไข้รูห์มาติก คนที่เคยเป็นโรคไข้รูห์มาติก หากเกิดโรคติดเชื้อของคอจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสอีก โอกาสที่จะเป็นไข้รูห์มาติกซ้ำมีมากกว่าคนที่ไม่เคยเป็นประมาณ 50 เท่า เพราะฉะนั้นคนที่เคยเป็นไข้รูห์มาติกมาแล้ว จึงต้องกินยาเพน วีทุกวันไปอีกนานหรือฉีดยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน เดือนละ 1 เข็ม ทุกเดือน


⇒ ถ้ากินยาเพน วี ต้องกินดังนี้
- เด็กเล็ก (น้ำหนักตัวน้อยกว่า 25 กิโลกรัม) ให้กินยาเพน วี ขนาด 250 มก. วันละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง

- เด็กโต (น้ำหนักตั้งแต่ 25 กิโลกรัม) หรือผู้ใหญ่ ให้กินยาเพน วี ขนาด 250 มก. วันละ 2 เม็ด ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง เช้า 1 เม็ด เย็น 1 เม็ด


⇒ ขนาดยาที่ขอแนะนำให้ใช้ ในกรณีเพื่อรักษาโรคตามข้อ 1-3 ข้างต้น เป็นดังนี้
ผู้ใหญ่ ให้ยาเพน วี เม็ดขนาด 250 มก. 1-2 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้าเจ็บคอมากอาจบดแล้วละลายน้ำกินก็ได้ แต่ขมหน่อย

เด็ก ให้ยาชนิดเม็ดหรือน้ำตามสภาพของเด็ก ขนาดยา 5-25 มก./กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่า อาการเป็นหนักหรือเบาเพียงใด

ตัวอย่างการให้ยาในเด็ก
สมมติว่าเด็กเล็กอายุ 2 ขวบ หนัก 12 กก. เป็นไข้ น้ำมูกเขียว ไอ เจ็บคอ แต่ไม่หอบ ถ้าไม่เขียว ยังกินน้ำกินข้าวได้บ้าง แบบนี้ถือว่าอาการปานกลาง ก็ประมาณการให้ยา 15 มก./กิโลกรัม เด็กหนัก 12 กก. ดังนั้นแต่ละครั้งต้องให้ยา 15x12 จะได้ 180 มก.หรือประมาณ 1 ½ ช้อนชาของยาน้ำที่มีตัวยา 125 มก.ต่อช้อนชา เป็นต้น

ยาเพน วีเป็นยาที่ปลอดภัยมาก การแพ้ยาพบได้น้อย โดยเฉพาะในเด็ก ยิ่งพบน้อยกว่าผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีประวัติว่าเคยแพ้ยาเพนิซิลลิน ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ไม่ควรใช้ยาเพน วี หรือยากลุ่มที่คล้ายกันอีก เช่น แอมพิซิลลิน อะมอกซิซิลลิน (AMOXYCILLIN) คลอกซาซิลลิน (CLOXACILLIN) เป็นต้น


⇒ลักษณะการแพ้ยาเพนิซิลลิน
หรือยาที่คล้ายคลึงกับยาเพนิซิลลิน ได้แก่ อาการผื่นลมพิษ บวม หายใจไม่ออก หมดสติภายหลังได้รับยา 20 นาที – 48 ชั่วโมง บางคนอาจเกิดอาการทันทีหลังจากได้รับยา (มักเป็นยาฉีด)


⇒ข้อเตือนใจ
1. ควรกินยาให้ถูกขนาดและนานเพียงพอตามที่แนะนำ
2. ควรกินยาเพน วี ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง
3. ถ้าเคยแพ้ยาเพนิซิลลิน แอมพิซิลลิน คลอกซาซิลลิน อะมอกซิซิลลิน ห้ามใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนี้อีก และต้องบอกแพทย์ทุกครั้งเมื่อไปพบแพทย์


 

ข้อมูลสื่อ

89-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 2529
108 ปัญหายา