• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหัวใจ

การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหัวใจ



ผู้ป่วยโรคหัวใจหลังจากเข้ารับการรักษาและกลับบ้าน มักจะมีปัญหาในเรื่องการปฏิบัติตัว เพราะผู้ป่วยบางคนคิดว่าแม้จะรักษาหายแล้วแต่ร่างกายอาจไม่ปกติ การทำงานอะไรก็ไม่เต็มที่ รู้สึกกลัวว่าจะเกิดอาการหัวใจวายได้ จนบางครั้งมีผลให้เกิดความเครียด กลับเป็นโรคหัวใจได้อีกครั้ง
ดังนั้น การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหัวใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ หมดความกังวล จึงขอเชิญฟังคำอธิบายของ แพทย์หญิงวันดี โภคะกุล จากหน่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเลิดสิน
 

 

⇒ ผู้ป่วยโรคหัวใจหลังจากออกจากโรงพยาบาล จะมีการดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติได้หรือไม่
เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว การปฏิบัติตัวในระยะแรกจะปกติได้เพียงใดขึ้นกับอาการ และความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น ผลของการรักษาส่วนใหญ่ก็สามารถปฏิบัติตัวช่วยเหลือตนเองได้ แต่จะเริ่มออกกำลังกายได้เมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ดูแลรักษา


⇒การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหัวใจมีวิธีใดบ้าง
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหัวใจ เริ่มได้ตั้งแต่ตอนอยู่ในโรงพยาบาล พอท่านเริ่มหายเจ็บหน้าอกอาจจะ 1-2 วัน แพทย์ยังไม่อนุญาตให้ลงจากเตียง ระยะที่ยังนอนอยู่ก็ออกกำลังกายได้ง่ายๆเช่น นอนแล้วกระดกปลายเท้าข้อเท้าขึ้นลง หรือยกงอเข่าแล้วเหยียดตรง การทำเช่นนี้นอกจากช่วยให้มีการออกกำลังกายและเพิ่มการทำงานของหัวใจ ที่ช่วยได้มากคือ ช่วยขยับกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ ช่วยให้หายปวดเมื่อย แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกควรหยุด

ระยะที่สองเมื่อแพทย์เห็นว่ามีอาการดีขึ้น ไม่เจ็บหน้าอก ก็จะให้ลุกขึ้นจากเตียง ลองลุกขึ้นนั่งแล้วนอนดูว่าเหนื่อยหรือไม่ ถ้าไม่เป็นอะไรก็ให้เดินรอบเตียง ซึ่งเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง จะทำได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับความรู้สึกท่านว่าเหนื่อยเจ็บหรือไม่ แต่ในระยะนี้ไม่ควรเกิน 5-10 นาที

ระยะที่สามเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน ท่าต้องทราบว่าจะทำอะไรได้บ้าง โดยขอคำแนะนำจากแพทย์
ทางด้านจิตใจก็ต้องทำพร้อมกับทางร่างกาย อย่ากังวล เพราะการกังวลจะทำให้เกิดความเครียด มีผลทำให้การฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายกลับคืนสภาพเดิมได้ช้ากว่าปกติ


⇒หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการออกกำลังกายควรมีวิธีเริ่มต้นอย่างไร
การเริ่มออกกำลังกายมีหลักว่าควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพิ่มขึ้นเรื่อยตามสภาพของหัวใจ การออกกำลังกายที่ปลอดภัยที่สุดคือ การเดิน โดยเฉพาะคนที่ก่อนเป็นโรคนี้แล้วไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ขณะที่ออกกำลังด้วยการเดินในระยะแรกควรมีคนเดินเป็นเพื่อนด้วยเพื่อให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดอาการผิดปกติขึ้น ดังนั้นจึงควรเดินในบริเวณบ้านดีที่สุด

ในระยะ 2-4 สัปดาห์แรกไม่ควรเดินในที่สูงๆต่ำๆ เพราะหัวใจต้องทำงานหนัก คือหัวใจจะเต้นเร็ว ช้า สลับกันตลอดเวลา ควรจะเดินในที่ราบ โดยปกติในเวลา 4 สัปดาห์ควรเดินได้อย่างน้อย 1 กิโลเมตร ในเวลา 30 นาที หลังจาก 4 สัปดาห์ที่เดินแล้วไม่เจ็บหน้าอก ก็ให้เดินขึ้นๆลงๆได้
ถ้าหลังจากสัปดาห์ที่ 8 ผู้ป่วยเดินได้ 2 กิโลเมตร ในเวลา 30 นาที และไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างไร ก็แสดงว่าผู้ป่วยสามารถเดินได้ตามปกติ นอกจากนี้อากาศเย็นจะเดินได้น้อยและช้าลง เพราะอากาศเย็นจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานมากขึ้น อาจจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้ ดังนั้นตอนหน้าหนาวเวลาออกไปเดินจึงควรใส่เสื้อกันหนาว

นอกจากนี้มีการออกกำลังกายที่เรียกว่า การออกกำลังกายสลับกับการหยุดเป็นพักๆ ส่วนใหญ่ใช้เวลา 30 นาที คือออกกำลังกาย 5 นาที และพัก 5 นาที ต่อไปก็ออกเพิ่มเป็น 10 นาที พัก 5 นาที รวมกันได้ 30 นาที ถ้าจะให้ผลดีก็ควรออกกำลังอย่างน้อย 4 ครั้งต่อสัปดาห์


⇒เรื่องการเล่นกีฬา ผู้ป่วยจะทำได้หรือไม่

แนะนำว่าควรเล่นกีฬาหลังจากกลับบ้านแล้ว 4-6 สัปดาห์ ที่สำคัญคือ ต้องทำสม่ำเสมอ ถ้าจะเล่นกอล์ฟหรือโบว์ลิ่งก็ 6-8 สัปดาห์หลังจากกลับบ้าน แต่การเล่นเทนนิส ซึ่งเป็นกีฬาที่ออกแรงมากจึงควรเป็น 8-12 สัปดาห์หลังจากกลับบ้าน


มีข้อปฏิบัติอย่างไรสำหรับผู้ป่วยในการออกกำลังกาย
ข้อปฏิบัติที่ควรทราบคือ
1. ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์

2. เมื่อเริ่มออกกำลังกายต้องมีการอุ่นเครื่องทุกครั้ง เพราะหัวใจเรายังผิดปกติ เพิ่งมีการฟื้นฟู อาจอุ่นเครื่องด้วยการเดิน 5-10 นาที เพื่อให้หัวใจเริ่มปรับสภาพก่อน

3. ขณะออกกำลังกาย ถ้าเหนื่อยอาจลดลงเหลือเพียงการเดินหรือหยุดพักสักครู่

4. ถ้าออกกำลังกายแล้วมีอาการแน่น เจ็บหน้าอก หายใจขัด เวียนศีรษะ หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ จะต้องหยุดทันที อย่าฝืนเล่นต่อ และรีบพบแพทย์}


⇒ ผู้ป่วยสามารถขับรถได้เหมือนเดิมหรือไม่
ถ้าไม่มีโรคแทรกของโรคหลอดเลือดหัวใจ สัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ก็ควรขับได้ แต่มีหลักว่าท่านต้องมีความเชื่อมั่นว่าจะทำได้ อย่ากังวลว่าตัวเองจะทำไม่ได้ ถ้าไม่แน่ใจควรขอคำแนะนำและความมั่นใจจากแพทย์ผู้ดูแลรักษาก่อน ควรตื่นเช้าขับรถตอนรถว่าง อย่าไปขับตอนรถติดจะทำให้เครียด ซึ่ง 4-6 สัปดาห์ก็ควรขับได้เหมือนปกติ


⇒ ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติหรือไม่
สำหรับคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ จะไปทำงานได้ต้องขึ้นอยู่กับ 2 ประเด็นคือ
1. ขึ้นกับสมรรถภาพของร่างกาย พยาธิของโรคเป็นมากน้อยแค่ไหน
2. ชนิดของงานที่ทำ ถ้าเป็นงานนั่ง มีเดินนิดหน่อยก็เริ่มได้เร็ว ประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็ทำได้แล้ว แต่ถ้าเป็นงานที่ออกแรงมาก เช่น ยกของ ขับรถแท็กซี่ต้องเครียดตลอดเวลา อาจต้องประมาณ 2-3 เดือนหลังจากเกิดโรค

ส่วนคนที่มีอาชีพต้องเดินทางบ่อยๆ ถ้าไม่เกิดอาการเลยหลังจากกลับบ้านแล้ว 4 สัปดาห์ก็เดินทางได้เหมือนคนปกติ เพียงแต่ควรมียาอมใต้ลิ้นติดตัวด้วย


⇒ผู้ป่วยควรกินอาหารอย่างไร และคนที่ติดบุหรี่ควรเลิกหรือไม่
ในเรื่องอาหาร ถ้าท่านไม่มีความผิดปกติ ซึ่งแพทย์ต้องควบคุมเกี่ยวกับเรื่องอาหาร เช่น เป็นโรคเบาหวาน มีไขมันในเลือดสูง มีกรดยูริกสูง ก็ไม่มีข้อห้าม แต่มีหลักว่าจะต้องควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

คนที่สูบบุหรี่เกิน 20 มวน จะมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนปกติ 3-4 เท่า เพราะบุหรี่มีสารนิโคตินกระตุ้นและกล่อมประสาท จึงควรหยุดบุหรี่ การเลิกในระยะแรกอาจทำให้อารมณ์หงุดหงิด แต่ถ้าทนได้จะหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ ส่วนพวกของมึนเมา แอลกอฮอล์ไม่ควรดื่ม เพราะพวกนี้จะไปทำให้กินอาหารมากขึ้น มีผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และยังมีผลต่อหัวใจ สมอง และตับเสื่อมลง


⇒ขอให้อาจารย์สรุปจุดมุ่งหมายและประโยชน์จากการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหัวใจ
จุดมุ่งหมายของการฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ เพื่อให้ร่างกายและหัวใจกลับสู่สภาพปกติมากที่สุด เร็วที่สุด และโดยวิธีที่ปลอดภัยที่สุด
การออกกำลังกายโดยวิธีที่ถูกต้อง ถือเป็นวิธีที่ดีและปลอดภัย ถ้าท่านทำได้ถูกหลัก นอกจากทำให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง ยังทำให้มีจิตใจกระปรี้กระเปร่า


ขณะท่านออกกำลังกาย ก็ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ท่านเป็นโรคอะไร สภาพร่างกายและจิตใจเป็นอย่างไร และมีขีดความสามารถแค่ไหน ต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์

ข้อมูลสื่อ

89-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 2529
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร