• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การควบคุมโรคอุจจาระร่วง จะทำอย่างไรก่อนดี

การควบคุมโรคอุจจาระร่วง จะทำอย่างไรก่อนดี



การปรับปรุงคุณภาพของน้ำหรือส้วมอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงแค่นั้น แทบไม่มีผลต่อการลดอุบัติการณ์ของโรคท้องร่วงเลย
น้ำเกลือแห้งและมาตรการต่างๆ ในด้านการรักษาโรคท้องร่วง มีผลทำให้อัตราการตายของโรคนี้ลดลงอย่างมาก แต่ไม่มีผลในการลดการเกิดโรคท้องร่วงหรือลดการแพร่กระจายของโรคเป้าหมายหลักในการต่อสู้กับโรคท้องร่วงก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคท้องร่วง


⇒จะป้องกันโรคท้องร่วงได้อย่างไร?
มีมาตรการหลัก 3 ประการคือ
1. ขัดขวางการแพร่กระจายของโรค โดยการปรับปรุงปริมาณและคุณภาพน้ำดื่ม น้ำใช้ ปรับปรุงการขจัดสิ่งปฏิกูลและสุขอนามัย

2. ปรับปรุงสุขภาพโดยทั่วไปของเด็กๆ โดยการปรับปรุงคุณภาพของอาหาร และจดการเกิดโรคติดเชื้ออื่นๆ

3. สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
ในระยะยาวการป้องกันจะบรรลุผลต้องอาศัยการผสมผสานมาตรการเหล่านี้เข้าด้วยกัน แต่ที่สำคัญคือ การผสมผสานมาตรการในข้อ 1 และ 2 ซึ่งได้เกิดผลมาแล้วในประเทศพัฒนาและเขตร่ำรวยของประเทศด้อยพัฒนา


⇒ ความรวย-ความจน
โรคท้องร่วงสัมพันธ์กับความยากจนและสภาวะแวดล้อมกับระดับการศึกษา ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับความยากจนด้วย ในชุมชนที่ฐานะดีโรคท้องร่วงเป็นปัญหาจิ๊บจ๊อยไปเสียแล้ว ถ้าเรามองดูในยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือเป็นตัวอย่าง จะพบว่าโรคติดเชื้อบางอย่างเป็นโรคที่พบได้น้อยมากๆ (ตัวอย่างเช่น โรคอหิวาต์ โรคบิด โรคไทฟอยด์ เป็นต้น) ขณะที่โรคติดเชื้อบางอย่างจะยังคงมีอยู่ แต่เป็นปัญหาน้อยเมื่อเทียบกับประเทศด้อยพัฒนา โรคเหล่านั้นได้แก่ โรคท้องร่วงโรต้าไวรัส อีโคไล ซัลโมเนลล่า แคมไพโร แบคเตอร์ ชิเกลลา ซอนนีไอ

คำถามอันแรกในการป้องกันโรคท้องร่วงคือ จะทำให้ลักษณะของโรคท้องร่วงในชุมชนยากจนเปลี่ยนไปเป็นลักษณะของโรคท้องร่วงในชุมชนร่ำรวยได้อย่างไร
หากการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องอาศัยการขจัดความยากจนและการเพิ่มพูนรายได้บุคคล และพัฒนาระดับการศึกษาอย่างจริงจังเสียก่อนแล้วล่ะก็ เราคงต้องเลิกพูดกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่หันความสนใจไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแทน อย่างไรก็ตาม ได้มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคท้องร่วงในชุมชนยากจนสามารถลดลงได้ในระยะเวลาไม่นานนัก โดยการปรับปรุงน้ำดื่มน้ำใช้ การขจัดสิ่งปฏิกูลและพัฒนาสุขอนามัย โดยไม่ต้องรอให้เกิดการยกระดับทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาวไกลเสียก่อน


⇒การระบาด
แต่เดิมมาคนเราเชื่อกันว่า โรคท้องร่วงเกิดเพราะน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระ ความเชื่อนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อได้พบความจริงว่า มีการระบาดของโรคท้องร่วงโดยไม่เกี่ยวโยงกับน้ำดื่ม
ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นไปได้มากว่า การระบาดของเชื้อโรคท้องร่วงนั้นเป็นในลักษณะจากอุจจาระมาสู่ปากคนไข้ โดยไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำที่สกปรก การติดต่อในลักษณะนี้มีโอกาสเกิดได้มากในชุมชนยากจนที่อยู่กันแออัด

การระบาดทางน้ำดื่ม เป็นเพียงลักษณะหนึ่งของรูปแบบการแพร่ในลักษณะจากอุจจาระสู่ปากผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าส่วนมากของการระบาดของเชื้อ โรต้าไวรัส ชิเกลลา อีโคไล และอะมีบา เกิดขึ้นโดยไม่ได้อาศัยน้ำ


⇒คุณภาพของน้ำ
การระบาดทางน้ำสามารถทำให้ลดลงโดยการปรับปรุงคุณภาพของน้ำ คนจำนวนมากดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคจำนวนมหาศาล ตัวอย่างเช่น มีเชื้ออีโคไล จำนวน 1 หมื่นตัว ในน้ำ 100 ซี.ซี. ในลำธาร ลำห้วย หรือหนองน้ำ การทดแทนแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดดังกล่าวด้วยน้ำประปา หรือปกป้องบ่อน้ำจากการปนเปื้อน ช่วยให้ได้น้ำคุณภาพดีขึ้น ดังนั้นจึงหยุดยั้งการระบาดของโรคทางน้ำได้
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในประเทศบังคลาเทศ กัวเตมาลา ลีโซโต สหรัฐอเมริกา และที่อื่นๆ พบว่าการปรับปรุงคุณภาพน้ำไม่ได้ลดการเกิดโรคท้องร่วงเลย
คำอธิบายก็คือ โรคท้องร่วงในชุมชนเหล่านี้ ไม่ได้ระบาดโดยอาศัยแหล่งน้ำเป็นหลัก


⇒การมีและการใช้น้ำ
หากโรคท้องร่วงแพร่กระจายโดยไม่อาศัยน้ำแต่แพร่ทางมือ เสื้อผ้า และอาหารที่ไม่สะอาดเช่นนี้แล้ว ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงสุขอนามัยส่วนบุคคลและสุขอนามัยในครัวเรือน เรื่องนี้แม้จะไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ แต่ก็เป็นเรื่องยากลำบาก เมื่อแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุดอยู่ไกลจากบ้านเรือน และต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการลำเลียงน้ำโดยใช้ภาชนะเล็กๆ หรือแม้แต่จะมีสูบอยู่ใกล้บ้าน ก็มักจะมีน้ำไหลเพียงบางช่วง การปรับปรุ่งความสะอาดส่วนบุคคลและบ้านเรือนต้องใช้น้ำจำนวนมาก (ประมาณ 30-40 ลิตรต่อคนต่อวัน) โดยที่แหล่งน้ำต้องอยู่ใกล้บ้าน และมีใช้ตลอดวันตลอดปี นอกจากนี้การรักษาความสะอาดยังขึ้นกับการใช้น้ำอย่างเหมาะสม


⇒การขจัดสิ่งขับถ่าย
ส่วนใหญ่ของเชื้อโรคที่ก่อโรคท้องร่วง ออกมากับอุจจาระ ดังนั้น การขจัดอุจจาระของคนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทุกครอบครัวต้องมีส้วมใช้และใช้กันจริงทุกคน และรักษาความสะอาดตลอดเวลา ส้วมต้องน่าใช้ และเป็นที่ยอมรับของทุกๆคน การศึกษาบางอันพบว่า การสร้างส้วมไม่แน่ว่าจะลดการเกิดโรคท้องร่วงได้ ทั้งนี้เพราะส้วมไม่ได้มีคนใช้ ไม่สะอาด หรือไม่ได้ถูกใช้โดยกลุ่มที่สำคัญที่สุดของชุมชน นั่นคือเด็กๆทั้งหลาย


⇒พฤติกรรม
การมีน้ำสะอาดและส้วมใช้อาจมีผลเพียงน้อยนิดในการป้องกันโรคท้องร่วง นอกเสียจากคนเราจะเข้าใจถึงประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ ได้ใช้ประโยชน์จากมันและบำรุงรักษาเอาไว้ ดังนั้นโครงการจัดหาน้ำและขจัดสิ่งขับถ่ายทั้งหลาย ต้องทำควบคู่ไปกับการให้สุขศึกษาอย่างจริงจัง และต้องวางแผนและลงมือปฏิบัติร่วมกับชาวบ้าน การรณรงค์ให้ล้างมือบ่อยๆ อาจจะให้ผลสำเร็จเป็นพิเศษ


⇒เน้นความสำคัญที่เด็ก

เด็กๆไม่เพียงแต่เป็นกลุ่มที่เกิดโรคท้องร่วงมากที่สุด พวกเขายังเป็นแหล่งแพร่เชื้อแหล่งใหญ่ด้วย การติดเชื้อชนิดมีอาการและไม่มีอาการพบบ่อยที่สุดในเด็ก และอุจจาระของเด็กนั่นแหละเป็นตัวการแพร่เชื้อไปสู่สมาชิกคนอื่นในครอบครัวและเพื่อนบ้าน พฤติกรรมเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระและสุขอนามัยส่วนบุคคลของเด็กเป็นปัญหาสำคัญ แต่ถูกละเลยในการควบคุมโรคท้องร่วง

สำหรับเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ ควรเน้นสุขศึกษาที่ผู้ปกครองโดยเฉพาะแม่ของเด็ก ในเด็กโตและผู้ใหญ่ การให้สุขศึกษาในทั้ง 2 กลุ่มเป็นสิ่งสำคัญ รูปแบบการให้สุขศึกษาเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมอนามัยของเด็ก ต้องดัดแปลงให้สอดคล้องกับความเชื่อและค่านิยมของแต่ละชุมชน
ในหลายแห่งรวมทั้งประเทศที่พัฒนาอย่างสหราชอาณาจักร ปรากฏว่าผู้ใหญ่มีความเชื่อว่าอุจจาระของเด็กๆนั้นค่อนข้างปลอดภัย ดังนั้นในชุมชนแบบนี้รูปแบบของสุขศึกษาต้องพยายามสื่อความหมายว่า อุจจาระของเด็กนั่นแหละคือตัวร้ายที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วง


⇒สรุป
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่าโรคท้องร่วงสามารถติดต่อได้โดยทางน้ำ หรือทางเสื้อผ้า ภาชนะเครื่องใช้และมือที่ไม่สะอาด โรคท้องร่วงจากเชื้ออหิวาต์ ชิเกลโลซิส และไทฟอยด์ ระบาดทางน้ำ แต่โรคท้องร่วงจากเชื้อโรต้าไวรัส แคมไพโล แบคเตอร์ และอีโคไล ระบาดทางเครื่องใช้และมือที่ไม่สะอาด

ดังนั้น การป้องกันโรคท้องร่วงที่มีประสิทธิภาพ ต้องประกอบด้วยมาตรการที่ผสมผสานกันดังนี้
1. มีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดและมากเพียงพอ
2. มีส้วมที่ทุกคนยอมรับและใช้อย่างจริงจัง พร้อมทั้งรักษาความสะอาดของส้วมให้น่าใช้ตลอดไป
3. ดูแลรักษาความสะอาดของมือและเครื่องใช้ภาชนะต่างๆ ตลอดจนบ้านเรือนโดยทั่วไป โดยเฉพาะเด็กๆทั้งหลายต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษในเรื่องนี้


แปลและเรียบเรียงจาก Diarrhoea Dialogue ฉบับ ก.พ.1981 หน้า 4-5

 

ข้อมูลสื่อ

88-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 88
สิงหาคม 2529