• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บัว สมุนไพรมีคุณค่า

บัว สมุนไพรมีคุณค่า

 

เมื่อกล่าวถึงบัวใครๆก็รู้จักดี ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในทางพุทธศาสนา ดอกบัวถูกนำไปใช้ในพิธีการต่างๆ ทางศาสนกิจ พระพุทธเจ้าได้เปรียบมนุษย์เหมือนดอกบัว 4 ประเภท
บัวนอกจากมีความสำคัญในทางศาสนาพุทธแล้ว นักกวีหรือจิตรกรมักนำเอาบัวไปเป็นวัตถุดิบในการประพันธ์หรือวาดภาพ และที่สำคัญคือ ทุกส่วนของบัวตั้งแต่เหง้า ใย ใบ ดอก รังบัว ล้วนแล้วแต่สามารถนำไปใช้เป็นยาสมุนไพรและนำไปปรุงอาหารได้


⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Nelumbo nucifera Gaerth วงศ์ Nymphaeaceae


⇒สรรพคุณ
ใบบัว มีคุณสมบัติเป็นกลาง รสฝาดขม แก้ร้อนใน แก้ปวดหัว เลือดกำเดาออก
สายบัว มีสรรพคุณ แก้ร้อนใน ท้องเสีย ขับนิ่ว แก้ระดูขาว
ขั้วใบ คุณสมบัติเป็นกลาง รสขม แก้บิด ท้องเสีย
เมล็ดบัว คุณสมบัติเป็นกลาง รสฝาด แก้อาการท้องเสีย หรือมักนอนฝันเวลาหลับ ระดูขาวและประจำเดือนมากเกินปกติ
เยื่อหุ้มเมล็ด รสฝาด สรรพคุณห้ามเลือด
ดอก มีคุณสมบัติร้อน รสขมหวาน แก้ช้ำใน อาการผื่นคัน ห้ามเลือด
เหง้าบัว มีคุณสมบัติเย็น รสหวาน แก้ร้อนในกระหายน้ำ อาเจียน โลหิต เลือดกำเดาออก
รังบัว มีคุณสมบัติร้อน รสขมฝาด แก้ประจำเดือนมากผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ริดสีดวงมีเลือดออก คันตามผิวหนัง
เกสรบัว คุณสมบัติเป็นกลาง รสฝาดหวาน แก้ฝันเปียก เลือดกำเดาออก ประจำเดือนมากกว่าปกติ ระดูขาว ท้องเสีย
* ดีบัว คุณสมบัติเย็น รสขม แก้ร้อนในกระหายน้ำ อาเจียนเป็นเลือด ตาอักเสบ


⇒ตำรับยา
1. บิดเป็นมูกเลือด ใช้ขั้วใบบัวต้มน้ำดื่ม
2. ท้องเสีย ใช้เมล็ดบัว (เอาดีออก) บดเป็นผงผสมน้ำข้าว กินครั้งละ 1 ช้อนชา
3. ผื่นคัน ใช้กลีบดอกบัวพอกบริเวณที่คัน
4. ความดันโลหิตสูง ใช้ดีบัว 2 กรัม ชงดื่มต่างน้ำชา
5. แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ใบบัวสด หั่นเป็นฝอยๆ ชงดื่มต่างน้ำชา หรือต้มดื่มน้ำ
6. ร้อนในกระหายน้ำ ใช้เหง้าบัวสดคั้นน้ำ ผสมน้ำผึ้งดื่ม จะทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ

มีรายงานทางการแพทย์ว่า ใช้ใบบัวต้มน้ำให้ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง 47 ราย กินติดต่อกัน 20 วัน ทำให้โคเลสเตอรอลลดลงได้ผลถึง 91.3% โรงงานผลิตยาในจีนได้สกัดอัลคาลอยด์ (Alkaloid) และ Flavon ในใบบัว แล้วผลิตเป็นยาเม็ด เมื่อนำไปใช้ในทางคลินิกสามารถลดโคเลสเตอรอลและลดความอ้วนได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ


⇒ผลทางเภสัชวิทยา
ขั้วใบ พิษของ Roemerine ต่อกบ หนูถีบจักร กระต่ายและสุนัข ทำให้เกิดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง (convulsion) เมื่อฉีดเข้าไปในสุนัขที่ดมยาสลบในปริมาณ 5-7 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะทำให้ความดันโลหิตลดลง 30-50 มิลลิเมตรปรอท เป็นเวลา 20-30 นาที ถ้าใช้ในปริมาณที่มากกว่านี้จะทำให้มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นระยะๆ แต่ความดันโลหิตไม่ลดลง ถ้าใช้ในปริมาณน้อยจะทำให้หายใจเร็วขึ้น

ดีบัว  :  มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ผลึก Liensinine ที่สกัดจากดีบัว มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตชั่วคราว

* ไส้สีเขียวที่อยู่กลางเมล็ดบัว

 

ข้อมูลสื่อ

88-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 88
สิงหาคม 2529
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล