• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาต้านจุลชีพ

ยาต้านจุลชีพ

หมอครับ ผมมีไข้และเจ็บคอมากมา 3 วันแล้วครับ”

“มีอาการไอ มีน้ำมูกหรือเปล่า”

“ไม่มีครับ เวลากลืนน้ำลายหรืออาหารนี่ยิ่งเจ็บมาเลย”

“ไหน ขอตรวจหน่อนะครับ...อ้าปากกว้างๆครับ...เอาล่ะครับ เรียบร้อย”

“ผมเป็นอะไรครับ? คุณหมอ”

“คุณเป็นทอนซิลอักเสบ...นี่ครับ ยาเพนิซิลลิน คุณกินตามที่เขียนบนซองยานะครับ อ้อ...ต้องกินให้ครบ 10 วันเลยนะ”

บทสนทนาระหว่างคนไข้กับหมอข้างบนนี้ เป็นตัวอย่างของคนไข้ที่มีทอนซิลอักเสบ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส และยาเพนิซิลลินที่คนไข้ได้ไป ก็เป็นยาสำหรับฆ่าเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทอนซิลอักเสบ

คุณอาจสงสัยว่า ก็ในเมื่อทอนซิลอักเสบ ทำไม่ให้ยาลดการอักเสบ หรือยาแก้อักเสบล่ะ หรือเพนิซิลลิน คือยาแก้อักเสบ?
อ้อ...ไม่ใช่ครับ เพนิซิลลินไม่ใช่ยาแก้อักเสบ เตตร้าซัยคลีน สเตรปโตมัยซิน ออริโอมัยซิน คานามัยซิน และยาอีกหลายตัวที่ลงท้ายด้วยมัยซิน ล้วนไม่ใช่ยาแก้อักเสบ ยาเหล่านี้คือยาต้านจุลชีพ ยาต้านจุลชีพมีไว้เพื่อรักษาโรคติดเชื้อ

โรคติดเชื้อ หมายถึง โรคของคนที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา สัตว์เซลล์เดียว เป็นต้น
ตัวอย่างของโรคติดเชื้อ ได้แก่ หวัด หนองใน ซิฟิลิส หนองฝี เยื่อหุ้มสมองอักเสบไข้เลือดออก เป็นต้น
เพราะฉะนั้นคนไข้ข้างต้นรายนี้เป็นโรคทอนซิลอักเสบซึ่งเป็นโรคติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสที่ต่อมทอนซิล จึงต้องรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ

ยาแก้อักเสบตามความหมายที่ถูกต้อง หมายถึง ยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ มันไม่มีฤทธิ์ทำลายหรือฆ่าจุลชีพ แม้ว่าในคนไข้โรคติดเชื้อจะมีการอักเสบเกิดขึ้น แต่การอักเสบนั้นเป็นผลของการติดเชื้อ การรักษาโรคติดเชื้อต้องฆ่าเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุ จึงจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด เมื่อเชื้อโรคถูกขจัดไปหมด การอักเสบอันเป็นปฏิกิริยาของร่างกาย ก็จะหายไปเองโดยปริยาย

ความหมายของยาต้านจุลชีพคือ ยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลชีพ หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพ ในปัจจุบันมียาต้านจุลชีพมากมาย ตัวอย่างเช่น เพนิซิลลิน เตตร้าซัยคลีน ออริโอมัยซิน คานามัยซิน สเตรปโตมัยซิน ซัลฟาไดอาซีน โคไตรม็อกซาโซล เป็นต้น การเลือกใช้ยาจึงต้องมีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง
โดยทั่วไปมีหลักในการเลือกใช้ยาต้านจุลชีพดังนี้

1. ใช้ยาให้ตรงกับชนิดเชื้อโรค
ยาแต่ละตัวจะมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อโรคแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น
เพนิซิลลิน มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของทางเดินหายใจและผิวหนังได้ดี
คานามัยซิน มีสรรพคุณทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินอาหารและทางเดินปัสสาวะได้ดี
โคไตรม็อกซาโซล ทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
สมมติมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเกิดขึ้น กรณีนี้ก็ควรใช้ยาโคไตรม็อกซาโซล หรือคานามัยซินจึงจะได้ผลทีนี้ถ้าสมมติเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ถ้าใช้คานามัยซินก็จะไม่ได้ผล อาจต้องใช้เพนิซิลลินน่าจะได้ผลกว่า


2. ใช้ยาให้เหมาะสมกับตำแหน่ง หรือส่วนของร่างกายที่มีการติดเชื้อ
ถึงแม้จะมียาต้านจุลชีพที่มีอำนาจการทำลายเชื้อสูงมาก แต่ถ้ายานั้นไม่สามารถเข้าถึงตำแหน่งที่มีเชื้อโรคอาศัยอยู่ ก็ไร้ประโยชน์
ตัวอย่างเช่น เจนตาไมซิน เป็นยาที่มีฤทธิ์ทำลายทำลายเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ผลดี แต่ยานี้ไม่สามารถซึมผ่านเข้าไปในน้ำหล่อสมอง และไขสันหลังได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้รักษาโรคติดเชื้อของสมองหรือไขสันหลัง (เชื้อโรคอาศัยอยู่ในน้ำหล่อสมองหรือน้ำหล่อไขสันหลัง)


3. ใช้ยาให้เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของโรค
คนที่เป็นสิวและมีหัวหนองที่สิว แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่หัวสิว
กรณีนี้การติดเชื้อจำกัดบริเวณอยู่เฉพาะที่ผิวหนังรอบหัวสิวนั้น การรักษาให้ใช้ยาต้านจุลชีพชนิดที่กินทางปากก็เพียงพอ แต่ถ้าสมมติว่าคนไข้รายเดียวกันนี้เกิดไปบีบสิวเข้า ทำให้เชื้อเล็ดลอดเข้าไปในระบบหลอดเลือดดำที่ติดต่อไปสู่สมองได้ การติดเชื้อก็ลุกลามเข้าไปสู่สมอง กรณีนี้คนไข้จะอาการหนักมาก และถ้ารักษาช้าเกินไปก็จะถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แทนที่จะกินยา ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ยาชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด เพื่อที่ยาจะได้ไปถึงสมองส่วนที่มีการติดเชื้อเร็วขึ้น


4. ใช้ยาเหมาะกับภาวะภูมิต้านทานของผู้ป่วย
คนที่กินยาสเตียรอยด์ (เช่นเพร็ดนิโซโลน) เป็นประจำติดต่อกันนานๆ คนที่มีภาวะทุพโภชนาการ คนที่ใช้ยากดภูมิต้านทานเพื่อรักษาโรคบางอย่าง (เช่น โรคมะเร็ง โรคเอสแอลอี เป็นต้น) คนพวกนี้จะมีภูมิต้านทานต่ำกว่าคนปกติทั่วไป เมื่อเกิดโรคติดเชื้อขึ้นโรคก็มักจะลุกลามรวดเร็วและรุนแรง
โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตมีสูงมาก ดังนั้นในกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องใช้ยาต้านจุลชีพที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโดยตรง ไม่ใช่ชนิดที่มีฤทธิ์เพียงยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ และต้องให้ยาเข้าทางหลอดเลือด หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ มากกว่าที่จะให้ยาทางปากซึ่งออกฤทธิ์ช้ากว่า



5. ระยะเวลาที่จำเป็น
ธรรมชาติและลักษณะการดำเนินโรคของโรคติดเชื้อแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการตอบสนองต่อยาจึงแตกต่างกัน เช่นวัณโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป เชื้อวัณโรคมีลักษณะผลุบๆโผล่ๆ บางช่วงเชื้อแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเร็ว บางช่วงมันอยู่อย่างสงบนิ่งเหมือนจำศีล ลักษณะเช่นนี้ทำให้ยาต้านจุลชีพไม่สามารถออกฤทธิ์ทำลายมันได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เชื้อจึงอาศัยอยู่ในร่างกายได้นาน ดังนั้นการให้ยาจึงต้องให้กินเป็นเวลานาน 1-2 ปี จึงจะกำจัดเชื้อได้หมด

โรคหนองใน(ในผู้ชาย)เป็นโรคที่แสดงอาการฉับพลันทันที กล่าวคือภายหลังที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ โดยการร่วมเพศสัก 1-5 วัน (ส่วนมาก 2-3 วัน) ก็จะมีอาการหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ และปัสสาวะแสบขัดอย่างมาก เชื้อแบ่งตัวอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ลักษณะนี้เป็นเงื่อนไขดีที่ยาต้านจุลชีพจะออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ การรักษาจึงให้ยากินหรือฉีดเพียงครั้งเดียวก็ได้ผล (ยกเว้นกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน ต้องให้ยามากกว่า 1 ครั้ง) หรืออย่างกรณีของผู้ป่วยทอนซิลอักเสบรายที่ยกตัวอย่างในตอนต้นเรื่อง แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยกินยาเพนิซิลลินให้ครบ 10 วัน ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้กำจัดเชื้อโรคได้หมดสิ้นนั่นเอง



6. ผลข้างเคียงของยา
ยาทุกชนิดเปรียบเสมือนดาบ 2 คม คือมีทั้งคุณและโทษยาต้านจุลชีพก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่น
เตตร้าซัยคลีน ทำให้กระดูกและฟันผุกร่อน และเป็นสีหมองคล้ำ ถ้าใช้ในเด็กอายุอ่อนกว่า 7 ปี
อีรอโทรมัยซิน ทำให้มวนท้อง คลื่นไส้ และบางคนอาจอาเจียน
สเตรปโตมัยซินทำให้หูหนวกและทำให้เสียการทรงตัว ถ้าใช้เกินขนาด เป็นต้น
การรู้เท่าทันผลดีผลเสียของยาแต่ละชนิด จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้มากที่สุด โดยบังเกิดผลเสียน้อยที่สุด



7. การแพ้ยา

คนแต่ละคนมีพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ผิวพรรณ รูปร่างหน้าตาจึงแตกต่างกัน การตอบสนองต่อยาหรือสารเคมีที่ร่างกายได้รับก็แตกต่างกัน
เรื่องแพ้ยา-ไม่แพ้ยา จึงเกิดขึ้น คงเคยได้ยินเรื่องทำนองว่า “คนไข้ตายคาเข็ม” “คนไข้ช็อกตายหลังฉีดยา” เป็นต้น นี่คือร่างกายมีปฏิกิริยารุนแรงมากต่อยาที่ได้รับเข้ามาคนที่มีภูมิต้านทานไวต่อยาบางอย่าง เช่น เพนิซิลลิน เมื่อได้รับยานั้นเข้าไปอาจจะเกิดการบวมของกล่องเสียง หลอดลม ผิวหนัง มีหลอดลมหดเกร็ง หลอดเลือดขยายตัว และความดันเลือดลดลงฮวบฮาบจนช็อกในที่สุด หรือบางคนกินยาแล้วเป็นลมพิษเห่อขึ้นมา บางคนกินยาพวกซัลฟาแล้วมีรอยคล้ำดำเป็นดวงที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศ เป็นต้น
เมื่อทราบว่าใครเคยมีอาการแพ้ยาชนิดใดมาก่อน ก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่ไปใช้ยานั้นเข้า



8. ราคา
ยาแพงไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป และยาดีก็ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง
ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์กำลังเป็นปัญหาที่นับวันจะหนักหน่วงขึ้นทุกวัน เพราะมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีผู้เชี่ยวชาญประมาณว่า ในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท (ครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล) ส่วนสำคัญที่อยู่ในกรณีนี้ก็คือค่ายาต่างๆ และส่วนใหญ่ของยาเหล่านี้ เราสั่งเข้ามาจากต่างประเทศดังนั้น เรื่องความสมดุลระหว่างค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไป และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นข้อที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่ง


กล่าวโดยสรุป ณ ที่นี้ก็คือ
ยาต้านจุลชีพ คือยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อ
ยาต้านจุลชีพ ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ
การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพ ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กล่าวมา 8 ข้อข้างต้น
บทต่อไปเราจะได้นำรายละเอียดของยาต้านจุลชีพ แต่ละตัวที่ใช้กันบ่อยๆ มาเล่าสู่กันฟัง...

 


 

ข้อมูลสื่อ

88-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 88
สิงหาคม 2529
108 ปัญหายา