• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ราคายาแพง

คำถาม ทำไมค่ายา...แพงจัง
ยิ่งภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงเหมือนทุกวันนี้ ที่ข้าวของต่างๆ พากันพาเหรดขึ้นราคาตามราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู น้ำมันพืช น้ำตาล ฯลฯ ยิ่งทำให้ประชาชนผู้บริโภคจะคำนึงถึงค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น

ราคายาก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ป่วยและญาติให้ความสำคัญ เพราะนับวันยาก็จะมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะยาใหม่ๆ ที่ราคาต่อเม็ดก็เป็นหลักสิบบาท จะหาราคาเม็ดละบาทสองบาทคงยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ยิ่ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาประจำติดต่อกันตลอดยิ่งแล้วต้องคำนึงถึงเรื่องนี้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถ้าเจ็บป่วยเพียงโรคเดียวก็คงเป็นภาระค่ายาน้อยหน่อย แต่ถ้าเป็นหลายโรคและแต่ละโรคก็ลุกลามมีความรุนแรงมากขึ้นก็จะต้องใช้ยาหลายขนานหลายชนิด เพื่อบรรเทา บำบัดรักษา ควบคุมอาการหลายโรคให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของเรา ค่าใช้จ่ายเรื่องยาก็จะมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

มากหมอ มากความ หลายโรค หลายราคา (แพง)
ดังนั้นค่าใช้จ่ายเรื่องยาจะมากจะน้อย หรือเป็นภาระมากน้อยขนาดไหนจะขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น ว่าเป็นโรคชนิดใด เป็นอยู่กี่โรค และในแต่ละโรคมีความรุนแรง ในระดับใด

ถ้าเป็นโรคง่ายๆ รักษาให้หายได้เองและราคายาค่ารักษาไม่แพง ก็จะมีค่าใช้จ่ายค่ายาน้อย เช่น โรคหวัด ที่มีสาเหตุจากโรคไวรัสที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขอให้รักษาตามอาการและพักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำบ่อยๆ มากๆ ไม่เกิน 5-7 วันก็จะหายเป็นปกติ จะมีค่ายาบ้างก็อาจเป็นค่ายาลดไข้แก้ตัวร้อนพวกยาพาราเซตามอล ยาลดน้ำมูกคลอร์เฟนิรา-มีน เล็กๆ น้อยๆ ไม่กี่สตางค์ ก็จะบรรเทาให้หายได้เอง

แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น โรคเหล่านี้รักษาให้หายขาดไม่ได้ ได้แต่บรรเทาอาการ และควบคุมอาการไม่ให้ลุกลามรุนแรงมากขึ้น เพราะถ้าไม่สามารถควบคุมอาการให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ก็จะทำให้เกิดอันตราย ทำความเสียหายให้แก่ร่างกาย เกิดอาการผิดปกติร้ายแรงได้

ตัวอย่างเช่น โรคความดันเลือดสูง ถ้าไม่ปฏิบัติตัวดูแลตนเองและ/หรือไม่กินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจทำให้ระดับความดันเลือดของร่างกายของผู้ป่วยคนนั้นสูงเพิ่มขึ้นจนเกิดอันตรายได้ ทำให้เกิดหลอดเลือดในสมองแตก เกิดเป็นอัมพฤกษ์ และอัมพาตได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงต่อคุณภาพชีวิต หลายคนโชคดี อาการไม่รุนแรงมากและ/หรือรักษาได้ทันกาล ก็กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ แต่ก็เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่โชคดี ต้องเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ใช้ชีวิตทำงานไม่ได้ตามปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เสียทั้งสุขภาพ ค่าใช้จ่าย และคุณภาพชีวิต ซึ่งถ้าระมัดระวังตัว ดูแลรักษาตนเองและใช้ยาตามแพทย์สั่งก็จะป้องกันไม่ให้อาการของโรคลุกลาม และไม่ต้องประสบกับโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงดังตัวอย่างที่กล่าวมานี้

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง จึงต้องใช้ยาเป็นประจำตามแพทย์สั่ง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงและเกิดอันตรายได้ ห้ามหยุดยาเองโดยพลการ ในกรณีนี้ค่าใช้จ่ายเรื่องยาจึงมีราคาสูง ตามจำนวนยาที่ต้องใช้เป็นประจำ

ดังนั้นจึงสมกับพุทธภาษิตที่ว่าอโรคยา ปรมา ลาภา คือความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ผู้อ่านจึง ควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ระมัดระวังตัว รักษาดูแลสุขภาวะ สุขภาพของตนเองให้พอเพียง อย่างทางสายกลาง ไม่หนักหรือเบาเกินไป ด้วยการปฏิบัติตนที่ดี หมั่นสังเกตดูแลตนเอง รักษาสุขอนามัยที่ดี จะได้มีสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรค และประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

หลังจากพาเที่ยวไปไกล ขอกลับมาที่คำถาม ทำไม?..ราคายา..ถึง..แพงจัง
เรื่องราคายาถูกหรือแพงนี้ที่สำคัญขึ้นอยู่กับสถานที่จ่ายยา ขอเข้าใจเอาเองว่า ผู้ถามคำถามนี้คงได้ ยาจากโรงพยาบาลเอกชน เพราะเป็นสถานที่รักษาที่มีการตระเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้พร้อมให้บริการ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง และแสวงหากำไร ทำให้ราคายาสูงกว่าราคาทั่วไป จากความเห็นของผู้เขียนขอเรียงลำดับราคายา (สำหรับยาชนิดเดียวกันจากราคาสูงไปต่ำ) ดังนี้

"โรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าคลินิกเอกชน สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐบาล และร้านยา"Ž

ดังปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ (กรณีนี้ ได้จากเวบไซต์ของหนังสือพิมพ์ดังกรอบในหน้าถัดไป) ซึ่งพบว่า ราคายาจากโรงพยาบาลเอกชนแพงมาก บวกเพิ่มกำไรถึงร้อยละ 200 และเข้าใจว่า ราคาสูงกว่าป้ายราคาที่ติดมากับกล่องยาอีก (ซึ่งบวกกำไรมาแล้ว) ทำให้เกิดการโวยวายของผู้ป่วยและเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

"ก.พาณิชย์" เต้น รพ.เอกชนขูด ค่าบริการโหด! สั่งติดป้ายราคา

"พาณิชย์" เต้น หลังพบโรงพยาบาลเอกชนโหด โขกกำไรค่าบริการ บวกค่ายาทะลุ 200% วางกรอบดูแลยาจำเป็นต่อการครองชีพ หลังพบราคาแพงมหาโหด ร่อนหนังสือขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชนปิดป้ายแสดงราคาค่าบริการ ให้ผู้ป่วยก่อนตัดสินใจเข้ามาใช้บริการ ระบุฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1.4แสน หรือจำคุก 7 ปี

(สืบค้นวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2551 จากเวบไซต์ http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=12998...)

ไม่ใช่ว่าราคายาจะเป็นปัญหาเฉพาะกับคนเท่านั้น มีเวบไซต์หนึ่งที่เจ้าของบ่นเรื่องราคายาของคลินิกรักษาสัตว์ (ดังกรอบด้านล่าง) ที่ระบุว่า พาสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์และได้ยาน้ำอะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) ราคาขวดละ 60-90 บาท แต่ถ้าซื้อจากร้านขายยา ขวดละ 18-21 บาท จะเห็นได้ว่า เรื่องราคายาแพง ไม่ได้ทำความเดือดร้อนเฉพาะกับคนเท่านั้น แต่ลุกลามไปถึงสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของมนุษย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็น หมา แมว ล้วนเดือดร้อนไปหมด

"อยากเรียนถามท่านสัตวแพทย์ทั้งหลายครับ ว่าทำไมยาที่จ่ายให้แก่สัตว์ที่มารักษาจึงแพงมาก เพราะโดยรวมแล้วจะทำให้การรักษานั้นแพงเกินความเป็นจริง เช่น ยาน้ำอะม็อกซี ขวดละ 18-21 บาท (ซื้อจากร้านขายยา) แต่ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ ขายขวดละ 60-90 บาท"Ž

(สืบค้นวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2551 จากเวบไซต์ http://www.bbznet.com/scripts/view.php?user=ittidej&board= 1&id=79&c=1&order=numview)

กรณีนี้ จึงขอเสนอแนวทางง่ายๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายเรื่องยาและให้เกิด...การใช้ยาพอเพียง ด้วย 3 คำถามง่ายๆ ดังนี้
1. จำเป็นไหม?
2. วิธีใช้เมื่อใด?
3. ที่ไหนราคาถูก?

ยาเหล่านี้....จำเป็นไหม?
เมื่อได้รับยาจากแพทย์หรือเภสัชกร ควรสอบถาม กับผู้จ่ายยาทุกครั้งว่า ชื่อผู้ป่วยถูกต้องหรือไม่ และยาแต่ละชนิดใช้รักษาหรือบรรเทาอาการอะไร เพื่อที่จะตรวจความถูกต้องของยาและความจำเป็นในการใช้ยาของเรา ให้ได้ยาที่ถูกต้องและจำเป็นในการรักษาโรคของเราเท่านั้น

ถ้าพบยาที่ไม่จำเป็นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อปรับลดให้เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และลดอันตรายที่อาจเกิดจากโรคยาทำได้อีกด้วย

ยาเหล่านี้...ควรใช้เมื่อใด?
อีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยและทำให้สิ้นเปลืองหรือเกิดอันตรายได้ คือ ยาแต่ละชนิดนั้น ควรใช้เมื่อใด เพราะยาบางชนิดต้องใช้ติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอห้ามหยุดยาเองแม้จะไม่มีอาการของโรคแล้วก็ตาม แต่ยาบางชนิดใช้เมื่อมีอาการเท่านั้นเพราะเป็นยารักษาตามอาการ นอกจากนี้ยังมียาอีกกลุ่มหนึ่งคือยาปฏิชีวนะที่ต้องกินจนครบตามแพทย์สั่ง เมื่อครบแล้วก็ไม่ต้องใช้เพิ่มเติมอีก ดังนั้นถ้าพบว่าเป็นยา 2 กลุ่มหลังทั้งที่เป็นยารักษาตามอาการหรือเป็นยาปฏิชีวนะ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ต่อเนื่องกันตลอดให้เกิดการสิ้นเปลืองและอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยาได้

จะหาซื้อยาที่ไหน...ให้ได้ราคาถูก?
จากที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า "โรงพยาบาลเอกชน สูงกว่าคลินิกเอกชนสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐบาลและ ร้านยา" เป็นหลักกว้างๆ ที่พบว่า ราคายาจากร้านยาและโรงพยาบาลของรัฐจะถูกกว่าที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในระหว่างโรงพยาบาลของรัฐกับร้านยา พบว่า ราคายาบางชนิดที่โรงพยาบาลรัฐก็ถูกกว่า และในบางชนิดซื้อที่ร้านยาก็จะถูกกว่า

นอกจากนี้ยังสามารถแยกแยะลักษณะการซื้อที่ร้านยาได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ ซื้อจำนวนน้อยกับซื้อจำนวนมาก ที่เรียกกันติดปากว่า "ยกโหล...ถูกกว่า" ถ้าซื้อครั้งละ 5 เม็ด 10 เม็ด ก็อาจจะสูงกว่าซื้อครั้ง 100 เม็ด

"หาข้อมูลราคายาจากหลายแหล่ง..มาเปรียบเทียบกัน"Ž

แต่ข้อสังเกตคำแนะนำเหล่านี้เป็นหลักกว้างๆ ซึ่งทางที่ดีควรหมั่นสังเกตหรือบันทึกราคาต่อหน่วยไว้ และซักถาม "หาข้อมูลจากหลายแหล่ง และนำมาเปรียบเทียบกัน" ถ้าที่ใดถูกกว่าก็เลือกซื้อจากแหล่งนั้น ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้

เรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องยานี้สามารถปรึกษากับแพทย์ที่ให้การรักษาได้ แพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน จำนวนมากที่ช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการให้ผู้ป่วยชำระเฉพาะค่ารักษา และให้ใบสั่งยากับผู้ป่วยมาซื้อเองก็ได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้เป็นจำนวนมาก

ขอยกตัวอย่างญาติผมคนหนึ่งป่วยหลายโรครักษาโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมาหลายปี แต่ละครั้งต้องจ่ายค่ายากว่าหมื่นบาท ญาติผู้ป่วยคนนี้มาปรึกษาที่ร้านยา เนื่องจากเป็นญาติพี่น้องกันเลยคิดราคาทุนให้ พบว่า ค่าใช้จ่ายค่ายาที่ทางกระผมช่วยเหลือดูแลให้คิดเป็นเพียง "1 ใน 3" ของที่เคยจ่ายให้กับโรงพยาบาล ญาติของกระผมคนนี้แฮปปี้มากและสั่งซื้อยาผ่านทางกระผมเป็นประจำทุกเดือนเลย แถมบางครั้งจะลดยอดจำนวนเงิน โดยขอซื้อทีละครึ่งหนึ่งก็ยังได้ นับว่าช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้เป็นอย่างดี


ฉบับนี้ขอคุยกันเรื่องราคายาเท่านี้ก่อน ถ้าผู้อ่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยา ขอเชิญส่งความคิดเห็นมาที่กองบรรณาธิการทั้งทางไปรษณีย์ และทางอีเมล์ ได้ที่ [email protected]

ข้อมูลสื่อ

350-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 350
มิถุนายน 2551
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด