• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บัว สัญลักษณ์ของพุทธศาสนา

บัว ได้ถูกยกย่องให้เป็นราชินีแห่งดอกไม้น้ำ ด้วยความสวยงามที่ปรากฏประจักษ์แก่สายตาผู้พบเห็น เนื่องจากดอกที่ใหญ่ สีสันสะดุดตาที่ชูอยู่พ้นน้ำ ใบมีขนาดใหญ่ ในภาษาสันสกฤต เรียกบัวว่า "บงกช" แปลว่าเกิดแต่ตม นั่นเป็นเพราะเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่มีเหง้าหรือหัวอยู่ในตม ใบและดอกแตกออกมาจากเหง้าหรือหัวนี้ บัวที่เราคุ้นเคยคือบัวหลวง (lotus) และบัวสาย (waterlily)

                                            

บัวหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Nelumbo nucifera Gaertn ดอกตูมมีรูปทรงเหมือนการประนมมือเป็นการสักการะพระรัตนตรัย บัวหลวงสามารถพบในทวีปเอเชียทั่วไป และออสเตรเลีย มีสีขาว และสีชมพู ในเมืองไทยมีมากกว่า 20 สายพันธุ์ ผลแก่ของบัวหลวงที่เรารู้จักกันดีและกินได้คือ เม็ดบัว

บัวสาย
ถูกจัดอยู่ในสกุล Nymphaea ในเมืองไทยมีไม่น้อยกว่า 40 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่มบานกลางคืนได้แก่ บัวกินสาย โดยสายบัวนั้นกินได้ และกลุ่มบานกลางวัน ได้แก่บัวผัน บัวเผื่อน เป็นต้น
บัวนั้นเป็นที่ทราบดีว่าเป็นพืชดอกโบราณ กำเนิดมานานกว่า 100 ล้านปี บัวถูกใช้เป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ ใช้บูชาเทพเจ้าของอียิปต์โบราณ

ทางพุทธศาสนา ถือได้ว่าบัวเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา ใช้เป็นดอกไม้บูชาพระรัตนตรัย เป็นการผูกพันจิตใจให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์สำหรับชาวพุทธ นอกจากนั้นชาวพุทธต้องคุ้นเคยกับคำว่าดอกบัว 4 เหล่าอย่างแน่นอน

พระพุทธเจ้าทรงตรัสเปรียบบุคคล 4 ประเภทที่มีสติปัญญาแตกต่างกันไปกับดอกบัว 4 เหล่า ดังนี้
1. อุคคติตัญญู หมายถึงบุคคลที่มีอุปนิสัย สติปัญญาแก่กล้า พอฟังธรรมก็สามารถรู้แจ้งในธรรมวิเศษ โดยทันที เปรียบเหมือนดอกบัวโผล่พ้นเหนือน้ำ พอได้รับแสงแดดก็จะบานทันที
2. วิปัจจิตัญญู หมายถึงบุคคลที่มีอุปนิสัย สติปัญญามาก ขนาดได้ฟังธรรมคำสั่งสอนอย่างละเอียด แจกแจงให้เข้าใจแล้วสามารถรู้แจ้งเห็นธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่เติบโตขึ้นมาพอดีกับพื้นน้ำ จะบานในวันรุ่งขึ้น
3. เนยยบุคคล หมายถึงบุคคลที่มีอุปนิสัย สติปัญญาขนาดที่ต้องพากเพียรค้นคว้า ไต่ถาม หมั่นศึกษาเล่าเรียน และคบกัลยาณมิตร จึงจะสามารถรู้เห็นแจ้งในธรรมได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่เติบโตอยู่ใต้น้ำ จะผุดขึ้นมาเหนือน้ำและจะบานในวันต่อไป
4. ปทปรมบุคคล หมายถึงบุคคลที่มีอุปนิสัย สติปัญญาไม่สามารถรู้แจ้งในธรรมได้เลย แม้จะอธิบายอย่างละเอียดอย่างไรก็ตาม เปรียบเหมือนดอกบัวที่เติบโตอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถจะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ อยู่เพียงใต้น้ำ เป็นอาหารของปลาและเต่า

ดอกบัวนั้นเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าเวลาประทับนั่ง ยืน  เดิน  มีดอกบัวมารองรับเสมอ และในเรื่องพระมาลัยก็กล่าวว่ามีชายคนหนึ่งฐานะยากจน ได้เก็บดอกบัว 8 ดอก ฝากพระมาลัยขึ้นไปบูชาพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงได้เกิดเป็นเทพบุตร ดังนั้นในสมัยโบราณคนจึงนิยมถวายดอกบัวแด่พระในวันออกพรรษา ถือว่าได้บุญกุศลมาก

ฉะนั้นจึงมีประเพณีรับบัวเกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนและมีชื่อเสียงอยู่ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในวันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านต่างอำเภอจะเดินทางมาที่อำเภอบางพลี ทางชาวบางพลี จะเตรียมหาดอกบัวสำหรับมอบให้แก่ชาวต่างบ้านต่างอำเภอที่ต้องการ และการที่มิตรต่างบ้าน มาเยือนในโอกาสเช่นนี้ ชาวบางพลีจึงแสดงไมตรีตอบตั้งแต่ ตอนค่ำของวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11
พวกที่มารับบัวหากรู้จักกับชาวบางพลีก็จะพาขึ้นไปตามคลองสำโรง  และไปขอรับบัวจากชาวบางพลีทั้ง 2 ฝั่งคลอง การให้ดอกบัวและรับดอกบัวนั้นกระทำกันอย่างสุภาพ มีการส่งและรับมือต่อมือ หรือก่อนให้กันก็ยกมือพนมพร้อมอธิษฐานเสียก่อน ระหว่างชาวบ้าน หากมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ ก็โยนดอกบัวลงไปให้กันโดยไม่มีพิธีรีตอง

เหตุที่มีการโยนบัวให้กันระหว่างผู้คุ้นเคยสนิทสนมนี้เอง เมื่อทำกันนานเข้าจึงกลายเป็นความนิยมกันทั่วไป ในตอนหลังนี้จึงเรียกว่า "โยนบัว" แทนคำว่า "รับบัว" การโยนบัวของชาวต่างบ้านจากชาวบางพลี สิ้นสุดลงเมื่อเวลา 08.00 น. หรือ 09.00 น. หลังจากนั้นจะนำดอกบัวที่ได้ไปบูชาพระในวันเทศกาลออกพรรษาตามวัดในหมู่บ้านของตน แต่ส่วนใหญ่นำไปบูชาพระสมุทรเจดีย์ ที่ปากน้ำเจ้าพระยา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

ข้อมูลสื่อ

351-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 351
กรกฎาคม 2551
ต้นไม้ใบหญ้า
ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์