• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โลกร้อนผลกระทบและการปรับตัว

การประชุมวิชาการครบรอบ 15 ปีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ปัญหาและผลกระทบจาก "โลกร้อน" มีการพูดคุยกันมากเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ
ประธานมูลนิธิการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของบรรยากาศโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้น้ำแข็งละลาย กลายเป็นแหล่งน้ำ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ซึ่งไม่เคยพบในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 9,000 ฟุตขึ้นไป โรคหลายโรคกำลังอุบัติขึ้นใหม่และแพร่ระบาดไปบริเวณที่มีอากาศร้อนขึ้น ซึ่งมีทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อปะปนกัน เป็นต้นว่า

ผลจากอากาศแปรปรวน
เช่น คลื่นความร้อนเป็นอันตรายต่อระบบหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เป็นลมหมดสติที่เรียกว่า heat stroke เกิดไฟป่า หมอกควัน ก๊าซพิษสะสม ฝุ่นละอองจากเถ้าถ่าน การฟุ้งกระจายของเกสรดอกไม้ เชื้อราของระบบอวัยวะภายในและโรคผิวหนังแพร่กระจาย โรคหอบหืดกำเริบ

เชื้อโรคและพาหะนำโรคเพิ่มมากขึ้น
เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้ออะมีบาที่มีชีวิตอิสระในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ร้อนก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง ยุงลายนำไวรัสเดงกี่ สาเหตุของไข้เลือดออก ยุงรำคาญก่อโรคสมองอักเสบ ยุงก้นปล่องนำเชื้อมาลาเรีย หนูนำโรคฉี่หนู

โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
เช่น ไข้ไทฟอยด์ รวมถึงเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษหลายสายพันธุ์

น้ำท่วม น้ำขัง
ทำให้เชื้อกระจายจากแหล่งโรคชุกชุมไปสู่แหล่งอื่น เช่น โรคฉี่หนู

แล้วจะป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดได้อย่างไรนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ เสนอแนะให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ดังต่อไปนี้
1. ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ปลอดจากโรค
2. ดูแลสุขภาพตนเองด้วยการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
3. เรียนรู้และทำความเข้าใจผลกระทบจากโลกร้อน (ทั้งการป้องกันและแก้ไข)

ถ้าพวกเราช่วยกันดูแล ถึงแม้จะป้องกันไม่ได้ทั้งหมด แต่สามารถยืดเวลาและบรรเทาความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้

ข้อมูลสื่อ

353-006-2
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
กองบรรณาธิการ