• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นมปนเปื้อนสารเมลามีน

กรณีที่ข่าวหนังสือพิมพ์ Southern Metropolis Daily สาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานว่า เกิดปัญหาการปนเปื้อน ของสารเมลามีนในนมผง ทำให้มีทารกคนจีนจำนวน 59 ราย เกิดโรคนิ่วไต บริษัทผลิตนมผงใช้เลี้ยงทารกของจีนจึงได้เรียกคืนผลิตภัณฑ์นมผงใช้เลี้ยงทารกที่ผลิตก่อนวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2551 กลับคืนจากท้องตลาด จำนวน 700 ตัน (ประมาณ 700,000 กระป๋อง)

เวบไซต์ของหนังสือพิมพ์เมืองเซี่ยงไฮ้ (Shanghaidaily.com) รายงานเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2551 ว่ามีทารกจีนอย่างน้อย 4 รายเสียชีวิต และอีกประมาณ 53,000 รายกำลังป่วยเนื่องจากการดื่มนมที่ปนเปื้อนสารเมลามีน

สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขกำลังตรวจสอบและวัดหาปริมาณสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์นมและอาหารแปรรูป ที่สงสัยว่าอาจมีการปนเปื้อนสารเมลามีนอย่างเข้มงวดเช่นกัน ผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดถูกบังคับให้ถอนออกจากตลาดชั่วคราวจนกว่าทาง อย. จะทำการตรวจสอบเสร็จสิ้น

สารเมลามีนคืออะไร
สารเมลามีนเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก หรือใช้ทำกาว แต่เมลามีนไม่ได้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหาร

สารเมลามีนทำให้เกิดโรคนิ่วไตได้อย่างไร
เมื่อมีสารเมลามีนปนเปื้อนในอาหาร เมลามีนจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้ง่าย เนื่องจากเมลามีนเป็นสารโมเลกุลเล็ก ร่างกายขับเมลามีนออกทางปัสสาวะ ถ้าหากปัสสาวะมีความเข้มข้นมาก หรือร่างกายได้รับเมลามีนจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการตกผลึกของสารเมลามีนในเนื้อไต หากการตกผลึกนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องจะได้ผลึกสารเมลามีนที่มีขนาดใหญ่

ผลึกเมลามีนนี้อาจทำปฏิกิริยากับสารก่อนิ่วอื่นๆ ที่มีในปัสสาวะของคนทั่วไปอยู่ก่อนแล้ว เช่น แคลเซียม ออกซาเลต กรดยูริก หรือฟอสเฟต เป็นต้น ทำให้เกิดผลึกเชิงซ้อนที่มีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็วได้

ทำไมเด็กทารกได้รับอันตรายจากสารเมลามีนมากกว่าผู้ใหญ่
เข้าใจว่าอาจเป็นเพราะเด็กทารกยังไม่สามารถกินอาหารอื่นๆ เหมือนผู้ใหญ่ได้ ต้องกินนมอย่างเดียว ดังนั้น หากมีสารเมลามีนจำนวนมากปนเปื้อนในนมผง เด็กก็จะมีโอกาสได้รับสารเมลามีนเข้าสู่ร่างกายทุกมื้อและทุกวันไปตลอดช่วงที่ดื่มนมผงสำเร็จรูป ผู้ใหญ่เองไม่ได้กินนมผงเป็นอาหารหลักหากจะดื่มนมก็มักดื่มนมโคสด ซึ่งมีความบริสุทธิ์และปลอดภัยไม่มีการปนเปื้อนสารเมลามีน

เหตุผลอีกประการหนึ่งคือแม้ว่าเด็กตัวเล็ก แต่เด็กต้องการพลังงานจากอาหารในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ใหญ่
พูดง่ายๆ คือ ถ้าคิดต่อน้ำหนักตัวที่เท่ากันเด็กย่อม ต้องการอาหารมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น เด็กทารกจึงได้รับสารเมลามีนเข้าไปในร่างกายอย่างเต็มๆ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ยังสามารถขับสารเมลามีนออกทางปัสสาวะได้ดีกว่าเด็กทารกและเด็กทั่วไป

มีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจทำให้เกิดโรคนิ่วไตจากเมลามีนได้ง่ายขึ้น?
ปัจจัยเสี่ยงที่ช่วยให้เมลามีนเกิดพิษต่อไตง่ายขึ้น ได้แก่
1. ปริมาณสารเมลามีนที่ร่างกายได้รับ
2. ความเข้มข้นของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง เช่น เวลาร่างกายขาดน้ำ เป็นต้น เมลามีนซึ่งมีโมเลกุลเล็ก อาจตกตะกอนได้ง่ายขึ้นในปัสสาวะ ในทางตรงข้าม การดื่มน้ำมากเพื่อให้ปัสสาวะใสและเจือจาง อาจช่วยชะลอการตกผลึกของสารเมลามีนในปัสสาวะ
3. ถ้าปัสสาวะมีปริมาณสารก่อนิ่วอื่นๆ เช่น แคลเซียม ออกซาเลต เป็นต้น อยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ก็อาจช่วยเร่งให้เกิดผลึกเชิงซ้อนและกลายเป็นโรคนิ่วไตเร็วขึ้น
4. ปัจจัยเรื่องความต่อเนื่องที่สารเมลามีนเข้าสู่ร่างกายก็มีความสำคัญ

ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ต้องดื่มนมทุกมื้อ ร่างกายจะได้รับสารเมลามีนต่อเนื่องทุกวัน ย่อมมีโอกาสเกิดนิ่วไตได้ง่ายกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ดื่มนมผงแต่ดื่มนมโคสดซึ่งไม่มีสารเมลามีนปนเปื้อน หรือหากจะกินขนมหรือของขบเคี้ยวที่มีผลิตภัณฑ์ทำจากนมเนยที่มีสารเมลามีนปนเปื้อนบ้าง แต่ก็กินเป็นครั้งคราวไม่ใช่ทุกวันและทุกมื้อ

ต้องได้รับสารเมลามีนปริมาณเท่าใดจึงจะเกิดโรคนิ่วไต?
การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า เมื่อให้หนูกินอาหารที่ผสมสารเมลามีนไปด้วยในปริมาณตั้งแต่ 2-18 กรัมต่ออาหาร 1กิโลกรัม (คิดง่ายๆ คือ เท่ากับใส่น้ำ 1-2 ช้อนชาหนักประมาณ 5-15 กรัมลงในน้ำ 1 ลิตร) เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ก็พบว่าหนูทดลองนั้นเกิดนิ่วที่กระเพาะปัสสาวะ และระยะยาวสามารถเกิดนิ่วที่ไต เกิดโรคไตวาย และมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะได้

ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในคนว่าต้องได้รับสารเมลามีน มากน้อยเพียงใดจึงจะเกิดโรคนิ่วไต โดยเฉพาะปัญหานี้ เกิดในเด็กที่ดื่มนมผงที่ปนเปื้อน จึงจำเป็นต้องนำปัจจัยเรื่องขนาดตัวเด็กมาพิจารณา ถ้าเด็กเล็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า ได้รับสารเมลามีนเท่าเด็กโต เด็กเล็กย่อมมีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่าเด็กโต
 

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อสงสัยว่ากินอาหารที่อาจปนเปื้อนสารเมลามีน
ระหว่างนี้ต้องหลีกเลี่ยงการใช้นมผงหรือผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตจากนมผงที่มาจากประเทศจีน มาใช้เลี้ยงทารก หรือนำมาใช้ประกอบอาหาร หรือใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารสำเร็จรูป จนกว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารเรียบร้อยแล้ว

หากสงสัยว่าตัวเองอาจจะกินนมผงหรือผลิตภัณฑ์ จากนมผงที่อาจปนเปื้อนด้วยสารเมลามีน ต้องปฏิบัติดังนี้
1. ดื่มน้ำให้มาก เป็นน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ก็ได้ ถ้าไม่มีข้อห้ามอื่นทางการแพทย์
2. ถ้าไม่มีข้อห้ามอื่นทางการแพทย์จะต้องกินผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวให้มาก เช่น ส้ม สับปะรด เป็นต้น เพราะสารซิเทรตในผลไม้จะช่วยยับยั้งผลึกนิ่วไม่ให้มีขนาดโตขึ้น
3. สังเกตอาการที่อาจเกี่ยวเนื่องกับโรคนิ่วไต หรือนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่
- อาการปวดเอวหรือปวดหลังด้านข้างโดยไม่ มีเหตุอันควรอธิบาย โดยเฉพาะกรณีที่มีอาการปวดบิดหรือปวดร้าวเริ่มจากเอวลงล่าง
- พบมีปัสสาวะขุ่นหรือมีสีแดง ตรวจปัสสาวะ แล้วมีเม็ดเลือดแดงปนโดยไม่มีเหตุผลอธิบาย

ขอเน้นว่า ผู้ป่วยโรคนิ่วไตระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ จึงไม่อาจใช้ไม่มีอาการผิดปกติดังกล่าวนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันว่าไม่ได้เป็นโรคนิ่วไต และในทางกลับกันอาการดังที่กล่าวมาก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดจากโรคนิ่วไตเพียงโรคเดียว อาจเกิดจากโรคอื่นๆ ได้อีกหลายโรค หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว จะต้องรีบไปพบแพทย์
 
เอกสารอ้างอิง
1. Toxicology Science 2008 August 9 (E-publication).
2. American Journal of Clinical Nutrition. 1967; 20; 1320-8.
3. British Journal of Urology. 1992; 69: 240-4.
4. Nephron. 1991; 59: 591-6.
5. เวชสาร พ.ศ.2501, 7: 423-76.
6. Toxicology and Applied Pharmacology. 1984; 72 (2): 292-303.

ข้อมูลสื่อ

355-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 355
ตุลาคม 2551