หลอดเลือดอัณฑะขอด หมายถึง กลุ่มหลอดเลือดดำของอัณฑะ (ไหลจากอัณฑะไปตามสายรั้งอัณฑะเข้าสู่ช่องท้อง) เกิดการพองตัวหรือขอด ทำให้สังเกตเห็นว่าถุงอัณฑะข้างหนึ่งโต หรือมีอาการปวดหน่วงๆ ที่อัณฑะข้างหนึ่งเป็นครั้งคราว เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่อาจทำให้มีบุตรยากได้
♦ ชื่อภาษาไทย หลอดเลือดอัณฑะขอด
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Varicocele
♦ สาเหตุ
หลอดเลือดอัณฑะขอด เป็นผลมาจากลิ้นปิดเปิดในหลอดเลือดดำบกพร่องหรือเสื่อมสมรรถภาพ ทำให้เลือดไหลย้อนกลับ (จากบนลงล่าง แทนจากล่างขึ้นบน) แบบเดียวกับหลอดเลือดขอดที่ขา (varicose vein) และหลอดเลือดขอดที่ทวาร (ริดสีดวงทวาร) ส่วนมากเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยจะเป็นที่ถุงอัณฑะข้างซ้าย เนื่องเพราะลักษณะทางกายวิภาคของระบบหลอดเลือดดำของอัณฑะข้างซ้ายมีลักษณะแตกต่างจากข้างขวา กล่าวคือ หลอดเลือดดำของอัณฑะข้างซ้ายจะไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำของไต (renal vein) ในขณะที่หลอดเลือดดำข้างขวาจะไหลเข้าสู่ท่อเลือดดำใหญ่ (inferior vena cava) โดยตรง ดังนั้นจึงเอื้อให้หลอดเลือดดำของอัณฑะข้างซ้ายเกิดการขอดตัวได้มากกว่าข้างขวา
โรคนี้มักพบในผู้ชายอายุ 15-25 ปี ในผู้ชายอายุเกิน 40 ปี พบได้น้อย หากพบในผู้ชายที่อายุเกิน 40 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่ถุงอัณฑะข้างขวาเพียงข้างเดียว อาจเกิดจากมีก้อนเนื้องอกในช่องท้องกดทับหลอดเลือดดำในช่องท้อง ทำให้เกิดแรงดันลงมาที่หลอดเลือดดำของอัณฑะ เป็นเหตุให้เกิดการขอดตัวได้
♦ อาการ
ส่วนมากจะไม่มีอาการแสดง อาจตรวจพบขณะไปปรึกษาแพทย์เรื่องมีบุตรยาก
บางรายอาจมีอาการปวดหน่วงๆที่อัณฑะ หลังออกกำลังกายหรือหลังจากทำงานมาตลอดวัน (จึงมักมี อาการในช่วงบ่ายๆ เย็นๆ) และอาการปวดมักทุเลาเมื่อนอนราบ
ในรายที่เป็นมาก อาจสังเกตเห็นถุงอัณฑะโตข้างหนึ่ง คลำดูตรงสายรั้งอัณฑะ (อยู่ด้านหลังของถุงอัณฑะ) จะมีลักษณะเป็นลำ หยุ่นๆ นุ่มๆ
♦ การแยกโรค
อาการปวดอัณฑะหรือถุงอัณฑะโตกว่าปกติ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- อัณฑะบิดตัว จะมีอาการปวดอัณฑะอย่างรุนแรงและเกิดขึ้นฉับพลัน อัณฑะบวมและแตะถูกเจ็บ ถือว่าเป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
- อัณฑะอักเสบ อัณฑะมีลักษณะปวดบวมแดงร้อน และอาจมีไข้ร่วมด้วย
- ไส้เลื่อน มักมีอาการมีก้อนบวมที่อัณฑะเวลายืน นั่ง หรือไอ และยุบหายเวลานอนราบ โดยไม่มีอาการเจ็บปวด ก้อนคลำดูมีลักษณะนุ่ม ไม่เจ็บ
- กล่อนน้ำ (hydrocele) หมายถึงการเกิดเป็นถุงน้ำภายในถุงอัณฑะ มีลักษณะเป็นก้อนนุ่มที่ถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง โดยไม่ยุบหายไม่ว่าจะอยู่ในท่าใด โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด
- มะเร็งอัณฑะ มีอาการเป็นก้อนแข็งที่อัณฑะข้างหนึ่ง ไม่เจ็บ แต่โตเร็ว
♦ การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยโดยตรวจพบหลอดเลือดดำของอัณฑะพองโต (ขอด) คือ คลำได้ที่บริเวณด้านหลังของถุงอัณฑะ (สายรั้งอัณฑะ) มีลักษณะเป็นลำหยุ่นๆ นุ่มๆ ซึ่งจะพบได้ชัดเจนในท่ายืน หรือขณะที่ให้ผู้ป่วยทำท่าเบ่งแบบถ่ายอุจจาระ
การวินิจฉัยที่แน่ชัด อาจทำโดยการถ่ายภาพถุงอัณฑะด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวนด์) ซึ่งจะพบว่าหลอดเลือดดำของอัณฑะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง มากกว่า 2 มม.
♦ การดูแลตนเอง
ถ้าพบว่ามีอาการปวดอัณฑะหรือถุงอัณฑะโตกว่าปกติ หรือมีบุตรยาก ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
ในกรณีที่มีอาการปวดที่อัณฑะรุงแรงฉับพลัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
♦ การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค
ถ้าไม่มีอาการแสดง ก็ไม่ต้องให้การ รักษาแต่อย่างใด บางรายอาจหายได้เองเมื่ออายุมากขึ้น
ถ้ามีอาการปวดหน่วงๆ บ่อยๆ อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใส่กางเกงในรัดๆ หรือใช้เครื่องพยุงอัณฑะ (scrotal support)
ในรายที่มีบุตรยาก (เป็นหมัน) หรือตรวจพบว่าอัณฑะฝ่อ แพทย์อาจทำการผ่าตัดแก้ไข หลังผ่าตัด อาจช่วยให้มีบุตรได้
ในรายที่ตรวจพบหลังอายุ 40 ปี หรือเป็นที่อัณฑะข้างขวาข้างเดียว อาจต้องตรวจหาสาเหตุ (เช่น เนื้องอกในช่องท้อง) แล้วให้การแก้ไข้ตามสาเหตุ
♦ ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข และปล่อยทิ้งนานๆ อาจทำให้อัณฑะฝ่อ และมีบุตรยาก
♦ การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายใดๆ ไปจนตลอดชีวิต (ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้การรักษาแต่อย่างใด)
ในรายที่อัณฑะฝ่อหรือเป็นหมัน หลังผ่าตัดจะช่วยให้มีบุตรได้
♦ ความชุก
พบได้ประมาณร้อยละ 15-20 ของผู้ชายทุกอายุ พบบ่อยในช่วงอายุ 15-25 ปี พบน้อยในช่วงอายุมากกว่า 40 ปี
ส่วนผู้ชายที่มีบุตรยาก พบโรคนี้ได้กว่าร้อยละ 40
- อ่าน 251,057 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้