งานยิ่งใหญ่ที่มีขึ้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551 คงจะมิอาจไม่เขียนถึงได้นั่นคือการจัดงานพระราชพิธี พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นการจัดงานที่จะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยอีกเช่นเดียวกัน
ส่วนเรื่องของการสร้างพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิงนั้น เดือนตุลาคม พ.ศ.2551 สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีความงดงามวิจิตร เพื่อให้สืบทอดตามคติโบราณราชประเพณี ที่เป็นแบบแผนสืบต่อกันมาโดยใช้คติความเชื่อจากไตรภูมิมาเป็นแนวทางในการจัดพิธีถวายพระเพลิง เพื่อได้ถึงพบแห่งความดีงามอันมีแดนอยู่ที่เขาพระสุเมรุ
สิ่งก่อสร้างในพระราชพิธีถวายพระเพลิง จะจำลองให้ละม้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ เช่น มีรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ ลักษณะพืชพันธุ์ หลากหลาย ลวดลายในพระเมรุครั้งนี้มีไม้ดอกอยู่ชนิดหนึ่งที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงนั่นคือ "ดอกแก้วกัลยา" เป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม เพื่อเป็นดอกไม้แห่งสัญลักษณ์ของคนพิการทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คนพิการ ซึ่งดอกแก้วกัลยาประดิษฐ์ขึ้นเพื่อส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการในศูนย์ส่งเสริมอาชีพของสภาสังคม สงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่มาของดอกแก้วกัลยานั้นเป็นดอกไม้ในจินตนา-การ มาจากพรรณไม้ 2 ชนิดได้แก่ "ดอกแก้ว" และ "ดอกแก้วเจ้าจอม" ที่มีกลีบดอกสีฟ้าครามสดใส ทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นที่แข็งแรง ออกดอกสวยงามเป็นพวง ความหมายของดอกแก้วกัลยานั้นคือดอกไม้จากนางแก้วที่มีน้ำพระหฤทัยสดใส ให้แสงสว่างอบอุ่นกับมวลหมู่คนพิการในแผ่นดินไทย ดั่งน้ำพระหฤทัยจากองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ฉบับนี้ขอกล่าวถึง "แก้วเจ้าจอม" เป็นพันธุ์ไม้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ของไทย ซึ่งสามารถเดาหรือสังเกตได้จากชื่อนั่นเอง โดยเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ทรงนำแก้วเจ้าจอมกลับมาและทรงปลูกในเขตพระราชอุทยานวังสวนสุนันทา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) นั่นทำให้แก้วเจ้าจอม กลายมาเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ต้นแรกดั้งเดิมยังอยู่บริเวณด้านหลังเนินพระนาง (พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5) หน้าอาคาร 1 ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่มีชื่อแก้วนำหน้าส่วนหนึ่งอาจเพราะลักษณะใบเหมือนใบแก้ว แต่กลมและป้อมกว่า ส่วนดอกอาจมองว่าคล้าย ดอกแก้วแต่สีต่างกัน
แก้วเจ้าจอม มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Guaiacum officinale L.
อยู่ในวงศ์ ZYGOPHYLLACEAE
มีชื่อสามัญว่า Lignum Vitae
แก้วเจ้าจอมสามารถปลูกกลางแจ้ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ สามารถตัดแต่งเป็นไม้พุ่มได้ แต่ถ้าปล่อยให้เจริญเติบโตปกติ สามารถสูงได้ถึงประมาณ 15 เมตร เปลือกต้นมีสีเทาเข้ม ที่กิ่งมีข้อพองเห็นเป็นปุ่มๆ ทั่วไป
ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ มีใบย่อย 2-3 คู่ เรียงตรงข้าม ไม่มีก้านใบ รูปไข่กลับ รูปไข่กว้าง หรือรูปรีเบี้ยวเล็กน้อย ปลายมน โคนสอบ ขอบใบเรียบ มีจุดสีส้มที่โคนใบย่อยด้านบน
แก้วเจ้าจอมนั้นออกดอกเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนตุลาคม และช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน
ดอกมีลักษณะเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ยอด 3-4 ดอก ดอกมีสีฟ้าอมม่วงและค่อยๆ ซีดลงจนโรย มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นรูปไข่ มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปรีหรือรูปไข่ เกสรเพศผู้ 10 อัน แยกกัน เกสรเพศเมียปลายแยกเป็น 5 แฉก
ผลของแก้วเจ้าจอมเมื่อสุกจะแห้งแตก ลักษณะเป็นรูปหัวใจกลับ มีครีบ 2 ข้าง มีสีเหลืองหรือสีส้ม มีเมล็ดรูปรี สีน้ำตาลประมาณ 1-2 เมล็ด สามารถนำเมล็ดไปปลูกได้ หรืออาจใช้วิธีตอนกิ่งและปักชำ
ที่น่าสนใจนอกจากดอกที่มีความสวยงามแล้ว เนื้อไม้นั้นแน่นและหนักมาก แก่นไม้สีน้ำตาลถึงดำเป็นมัน ทนต่อแรงอัดและน้ำเค็ม จึงนิยมนำมาใช้ทำกรอบประกับเพลาเรือเดินทะเล ทำรอก ด้ามสิ่ว และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องการความแข็งแรงมากๆ ทำลูกโบวลิ่ง
นอกจากนั้น แก้วเจ้าจอมยังมีสรรพคุณเป็น สมุนไพรอีกด้วย มีกล่าวถึงว่าใช้ยางไม้เป็นยาขับเสมหะ ยาระบาย ขับเหงื่อ แก้ข้ออักเสบ ใช้ร่วมในยาฟอกเลือด ทำเป็นยาอมแก้ต่อมทอนซิลและหลอดลมอักเสบ ละลายในเหล้าและเติมน้ำเล็กน้อยใช้อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ กินแก้ปวดท้อง และใช้ใส่แผล
ใบนำมาคั้นน้ำกินแก้อาการท้องเฟ้อ
เปลือกและดอกมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ดอกทำเป็นยาชงเพื่อบำรุงกำลัง
- อ่าน 21,367 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้