• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดันเลือดกับการออกกำลังกาย

ผู้เขียนได้เขียนเรื่องหัวใจกับการออกกำลังกายในหมอชาวบ้านฉบับก่อน ได้อธิบายการทำงานของหัวใจเพียงอย่างเดียว ว่าด้วยเรื่องของระบบหลอดเลือดและความดันในหลอดเลือด

ระบบหัวใจและหลอดเลือดเปรียบได้กับระบบประปาในบ้าน
เครื่องปั๊มน้ำคือหัวใจ ส่วนท่อน้ำประปาก็เปรียบได้กับหลอดเลือดแดง ท่อน้ำทิ้งเปรียบเหมือนหลอดเลือดดำ น้ำประปาก็คือเลือด

ความต่างอยู่ตรงที่ว่าร่างกายนำเลือดดำกลับมาฟอกที่ปอด กลายเป็นเลือดแดงกลับมาใช้ในระบบใหม่ ขณะที่ระบบท่อน้ำทิ้งนั้นจะทิ้งน้ำไป ไม่ได้นำน้ำกลับมาใช้ใหม่

เครื่องปั๊มน้ำเป็นตัวสร้างให้เกิดความดันในระบบประปาของบ้าน ความดันในท่อนั้นต้องพอดี ถ้าน้อยเกินไปน้ำจะไปตามส่วนต่างๆ ของบ้านได้ไม่ครบ ถ้ามากเกินไปท่อก็แตกหรือรั่วได้ง่าย

ระบบหัวใจและหลอดเลือดก็เช่นเดียวกัน ถ้าความดันเลือดน้อยเกินไปจากการที่หัวใจทำงานได้ไม่ดี เช่นกล้ามเนื้อหัวใจตาย เลือดก็จะไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญได้ไม่พอ

ในทางตรงข้ามถ้าความดันเลือดสูงเกินไป จะทำให้หลอดเลือดที่เปราะบางหรือแข็งเกินไปแตกได้ง่าย หรืออาจทำให้ไขมันที่เกาะอยู่ตามหลอดเลือดหลุดออก (จากแรงดันเลือดที่สูง) ไปอุดตามหลอดเลือดสำคัญ เช่นที่หลอดเลือดสมองก็จะเป็นอัมพาต หรือที่หลอดเลือดหัวใจจะเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

การวัดประสิทธิภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด นอกจากจะดูอัตราการเต้นของหัวใจแล้ว การวัดความดันเลือดเป็นตัวบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง การวัดความดันเลือดจะวัดได้
1. ขณะหัวใจบีบตัว เรียกว่าความดันช่วงบน หรือความดันซิสโตลิก
2. ขณะหัวใจคลายตัว เรียกว่าความดันช่วงล่าง หรือความดันไดแอสโตลิก

ค่าปกติของความดันทั้ง 2 มักเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วคือ 120 มม.ปรอท สำหรับความดันช่วงบน และ 80 มม.ปรอท สำหรับความดันช่วงล่าง

ผู้ที่มีความดันช่วงบนเกิน 140 มม.ปรอท และ/หรือความดันช่วงล่างเกิน 90 มม.ปรอท ถือว่ามีความดันเลือดสูงกว่าปกติ ต้องพบแพทย์เพื่อการจัดการที่ดีต่อไป

ความดันช่วงบนเป็นแรงดันเลือดที่เกิดขึ้นในขณะหัวใจบีบตัว คล้ายๆกับทำงานของปั๊มน้ำ เมื่อหัวใจบีบตัวในครั้งหนึ่งจะเกิดแรงดันเลือดในระบบหลอดเลือดแดง ยิ่งถ้าหัวใจบีบแรงเท่าไรแรงดันเลือดจะมากขึ้นเท่านั้น เมื่อหัวใจคลายตัว หลอดเลือดแดงที่ถูกดันให้ขยายออก ในขณะที่หัวใจบีบตัวจะคลายตัวทำให้เกิดแรงดันเลือดจากหลอดเลือดแดงที่เรียกว่าความดันช่วงล่าง ความดันช่วงล่างจะทำให้เลือดยังไหลต่อไปได้แม้หัวใจจะคลายตัว นับว่าเป็นความฉลาดของร่างกายที่สามารถทำให้เลือดไหลในระบบได้ตลอดเวลาโดยไม่มีการหยุด

ความดันเลือดมีค่ามากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยใดบ้าง?

ความดันเลือด = ปริมาณเลือดที่ไหลออกจาก หัวใจ x ความต้านทานของหลอดเลือดแดง

สูตรข้างบนนี้บอกอะไรเราได้บ้าง?
ถ้าปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจมีค่ามากขึ้นความดันช่วงบนจะเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีภาวะไตไม่ทำงาน ถ้ายิ่งให้น้ำเข้าไปในร่างกาย ปริมาณเลือดที่อยู่ในร่างกายจะเพิ่มขึ้นจากเดิม ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจเพิ่มทำให้มีภาวะความดันเลือดสูงได้ หรืออย่างที่รู้กันว่าผู้ที่มีความดันเลือดสูงไม่ควรกินอาหารที่เค็ม

การกินเกลือจะทำให้ค่าออสโมแลลิตี (osmolality) ของเลือดเพิ่มขึ้น มีผล 2 ประการคือ
1. จะมีการดึงน้ำจากเซลล์ในร่างกายเข้ามาในระบบหลอดเลือด
2. ทำให้เรากระหายน้ำและดื่มน้ำเพิ่มขึ้น

ปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น มีผลทำให้ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจเพิ่มขึ้น ความดันเลือดจะสูงขึ้น ผู้ที่มีความดันเลือดสูงมักจะมีการตอบสนองต่อปริมาณเกลือที่ได้รับเข้าไปไวกว่าคนปกติ ดังนั้นปริมาณเกลือเพียงเล็กน้อย อาจทำให้ความดันสูงขึ้นมาก

ส่วนความต้านทานของหลอดเลือดแดง จะขึ้นกับขนาดของหลอดเลือดแดงเป็นหลัก ถ้าหลอดเลือดแดงขยายตัว เลือดจะผ่านไปได้ง่ายหรือมีแรงต้านต่อการไหลน้อย ในทางตรงกันข้าม ถ้าหลอดเลือดแดงหดตัว จะมีแรงต้านทานต่อการไหลสูง ความดันของระบบจะเพิ่มขึ้น เปรียบได้กับระบบประปาในบ้าน ถ้าท่อประปามีขนาดเล็ก แรงดันของระบบจะสูงเมื่อเทียบกับระบบที่มีท่อขนาดใหญ่ ความต้านทานของระบบหลอดเลือดแดงนั้นจะมีความสัมพันธ์กับความดันช่วงล่าง

ขนาดของหลอดเลือดแดงจะถูกควบคุมด้วยระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติกหรือระบบที่ใช้พลังงาน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อเราเครียดระบบซิมพาเทติกจะกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ขณะเดียวกันที่หลอดเลือดแดงจะหดตัว ดังนั้นความดันเลือดทั้งช่วงบน และช่วงล่างจะสูงขึ้นทั้งคู่

ออกกำลังกายแบบแอโรบิกกับความดันเลือด
เมื่อออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น การวิ่ง เดิน หรือเต้นแอโรบิก ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจจะเพิ่มขึ้นจาก การที่หัวใจเต้นเร็วและบีบตัวแรงมากขึ้น ดังนั้นความดันช่วงบนจะสูงขึ้น ถ้าออกกำลังอย่างหนักอาจสูงได้ถึง 200 มม.ปรอท แต่การออกกำลังแบบแอโรบิกจะมีปฏิกิริยา (reflex) ของระบบอัตโนมัติทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ออกกำลังขยายตัว ได้กล่าวมาแล้วว่าการขยายตัวของหลอดเลือดจะสัมพันธ์กับความดันช่วงล่าง

จากสูตร ความดันเลือด = ปริมาณเลือดที่ไหลออกจากหัวใจ X ความต้านทานของหลอดเลือดแดง
เมื่อออกกำลังแบบแอโรบิก แม้ว่าปริมาณเลือดออกจากหัวใจจะเพิ่มมากขึ้น ความดันช่วงบนเพิ่มขึ้น แต่ความต้านทานของหลอดเลือดแดงจะลดลง ดังนั้นความดันโลหิตโดยรวมจะสูงขึ้นไม่มากนัก

ออกกำลังกายแบบมีแรงต้านกับความดันเลือด
เมื่อออกกำลังด้วยการยกน้ำหนัก ความดันเลือดทั้งสองตัวจะเพิ่มขึ้น เพราะปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นบวกกับแรงต้านทานของหลอดเลือดแดงที่เพิ่มขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อที่ออกกำลังจะบีบหลอดเลือดให้เล็กลง

ดังนั้น ความดันเลือดในขณะที่ออกกำลังแบบมีแรงต้านจะสูงขี้นอย่างมาก ยิ่งถ้าออกแรงยกน้ำหนักที่มากๆ แรงดันเลือดทั้งสองตัวจะสูงขึ้น เพราะการเบ่ง (Valsava Maneuver)

มีการทดลองออกกำลังแบบมีแรงต้านแบบสูงสุดของกล้ามเนื้อขา พบว่าความดันเลือดช่วงบนอาจสูงถึง 480 มม.ปรอท ขณะที่ความดันช่วงล่างมีค่า 350 มม.ปรอท ค่าความดันระดับนี้ถือว่าสูงมาก แต่ผู้ที่ออกกำลังเป็นประจำจะไม่มีอันตรายเพราะความดันจะสูงช่วงเวลาสั้นๆ ขณะทำการออกแรงเท่านั้น

การออกกำลังกายของผู้ที่มีภาวะความดันเลือดสูง
ผู้ที่มีภาวะความดันเลือดสูง และไม่ได้ควบคุมความดันให้ต่ำลงด้วยวิธีการใดๆก็ตาม (เช่น การกินยา) ไม่ควรออกกำลังแบบมีแรงต้านเพราะมีความดันขณะพักที่สูงอยู่แล้ว เมื่อออกกำลังแบบมีแรงต้านจะทำให้ความดันทั้ง 2 ตัวสูงมาก ควรเลือกออกกำลังแบบแอโรบิกจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า

ขอยกตัวอย่างจริงของตัวผู้เขียนเองที่มีภาวะความดันเลือดสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Primary Hypertension) ต้องพบแพทย์เพื่อกินยาควบคุมความดันให้อยู่ระดับไม่เกิน 130/85 มม.ปรอท

ปรากฏว่าช่วงแรกของการกินยาความดันจะขึ้น-ลง ไม่แน่นอน ต้องมีการปรับยาจากแพทย์ให้เหมาะสม ผู้เขียนเลือกที่จะออกกำลังแบบแอโรบิกด้วยการวิ่งที่ความเหนื่อยปานกลาง หลังจากที่ความดันถูกควบคุมให้ค่อนข้างคงที่แล้ว จึงเริ่มออกกำลังแบบมีแรงต้านด้วย แต่จะไม่เกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้นานเกินไป และไม่ยกน้ำหนักที่หนักมากจนต้องเบ่ง

สิ่งที่อยากจะเตือนสำหรับผู้ที่มีความดันเลือดสูงก็คือ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการจัดการที่เหมาะสม บางคนอาจไม่จำเป็นต้องกินยา การลดน้ำหนักจะช่วยลดความดันเลือดได้วิธีหนึ่ง เพราะหัวใจไม่จำเป็นต้องบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนที่เกินของน้ำหนักตัว

มีรายงานว่าการออกกำลังแบบแอโรบิกเป็นประจำ จะช่วยลดความดันเลือดทั้ง 2 ตัวได้ 6-8 มม.ปรอท ชึ่งน่าจะเป็นเพราะ
1. การเพิ่มแขนงของหลอดเลือดแดงในกล้ามเนื้อที่ออกกำลัง จึงลดความต้านทานของหลอดเลือดแดงได้ระดับหนึ่ง
2. น้ำหนักตัวที่ลดลงจากการออกกำลัง

สำหรับผู้ที่มีความดันเลือดสูงมากคงต้องรักษาด้วยการกินยา เพราะการที่ปล่อยให้ความดันเลือดสูงอยู่นานๆ มีผลร้ายต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เช่น ตา ไต สมองและหัวใจ เมื่อกินยาควบคุมความดันให้อยู่ระดับที่เหมาะสมแล้ว ก็สามารถออกกำลังแบบแอโรบิกได้เหมือนผู้ที่มีความดันปกติ การออกกำลังแบบมีแรงต้านก็ทำได้แต่ไม่ควรเบ่ง ไม่ควรเกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้นาน ไม่ยกน้ำหนักที่มากเกินกำลัง
 
แม้มีโรคประจำตัว เช่น ความดันเลือดสูงก็ออกกำลังได้ แต่ต้องทำให้เหมาะกับสภาวะของตัวเอง และค่อยเป็นค่อยไป ผลที่ได้คือการมีสุขภาพที่ดี ปราศจากโรคแทรกซ้อน (เช่น อัมพาต) ที่อาจตามมาได้

ข้อมูลสื่อ

356-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 356
ธันวาคม 2551
คนกับงาน
ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ