• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน

คำถาม ยาแก้แพ้ : เม็ดสีเหลือง "คลอร์เฟนิรามีน"Ž

ยาแก้แพ้ (ยาต้านฮิสตามีน หรือ antihistamines)
ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน เป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอัตราการใช้สูงมากในประเทศไทย จะเป็นรองก็แต่ "เพื่อนที่แสนดี" หรือ "ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล"¹ โดยยาแก้แพ้ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือคลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine) หรือที่เรียกว่ายาแก้แพ้เม็ดสีเหลือง ซึ่งบางครั้งอาจเรียกย่อๆ ว่า CPM (ออกเสียงว่า ซีพีเอ็ม) หรือออกเสียงสั้นๆ ว่าคลอร์เฟนก็ได้

ยาแก้แพ้เหมาะสำหรับโรคภูมิแพ้
ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูก หรือโรคแพ้อากาศ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเป็นประจำ ได้แก่ จาม คัดจมูก คันจมูก และน้ำมูกไหล ซึ่งจะเป็นมากขึ้นหรือบ่อยขึ้น เมื่อพบเจอกับสารที่เราแพ้ เช่น ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา เป็นต้น

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว หรือฝนตก เป็นต้น อุณหภูมิในอากาศจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูกเริ่มต้นและรุนแรงมากขึ้น อาการเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น จาม คัดจมูก คันจมูก และน้ำมูกไหล จะสามารถยับยั้งหรือทุเลาได้ด้วยยาแก้แพ้ โดยเฉพาะยาแก้แพ้เม็ดสีเหลือง จะเป็นที่รู้จัก ได้รับการไว้วางใจ และมีอัตราการใช้สูงที่สุดในบรรดายาแก้แพ้ด้วยกันทั้งหมด

ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองได้ผลดีในโรคภูมิแพ้
ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองเป็นยาที่ได้ผลดีในการบรรเทาอาการของภูมิแพ้หลายชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นในโพรงจมูก (อาจเรียกว่าโรคแพ้อากาศ ซึ่งมักมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล) โรคภูมิแพ้ที่ตา (allergic conjunctivitis ซึ่งมักมีอาการคันตา เคืองตา และตาแดงจากการแพ้ฝุ่นหรือสารอื่นๆ ไม่ได้ติดต่อมาจากผู้อื่น และไม่มีขี้ตาเหลืองเขียวข้น) โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง โรคผื่นแพ้ลมพิษ เป็นต้น

นอกจากนี้ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองนี้ยังได้ผลดีในการบรรเทาอาการน้ำมูกไหลในผู้ป่วยโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่อีกด้วย จึงพบตัวยาของยาเม็ดสีเหลืองนี้ (คลอร์เฟนิรามีน) เป็นส่วนประกอบหนึ่งของยาแก้ไข้หวัด เช่น ทิฟฟี่ ดีคอลเจน นูตา เป็นต้น

ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองมีราคาย่อมเยา
เหตุผลหนึ่งที่ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมให้มีอัตราการใช้ยาชนิดนี้มากเป็นอันดับ 2 ที่เป็นยาสามัญประจำบ้านรองจากยาพาราเซตามอล ก็คือราคาย่อมเยา (ราคาถูก) โดยมีราคาขายปลีกเม็ดละ 50 สตางค์ ถึง 1 บาท และถ้าบรรจุในกระปุกจำนวน 100 เม็ด จะมีราคากระปุกละ 15-20 บาท หรือตกประมาณเม็ดละ 0.15-0.20 บาท หรือคิดเป็นเม็ดละ 15-20 สตางค์เท่านั้น

ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองเป็นยาที่ปลอดภัย
อีกประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณาร่วมกับฤทธิ์ในการรักษาคือความปลอดภัย ซึ่งในเรื่องนี้ ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองก็เป็นยาชนิดหนึ่งที่มีประวัติการใช้ยานี้มาเป็นระยะเวลานานกว่า 50 ปี หรือครึ่งศตวรรษว่าเป็นยาที่ปลอดภัย โดยจัดเป็นยาที่มีผลต่อทารกในครรภ์ชนิดบี (pregnancy category²B) ซึ่งจัดเป็นกลุ่มยาที่ค่อนข้างปลอดภัย และยังไม่มีรายงานอันตรายที่รุนแรงจากการใช้ยานี้ แม้จะมีการใช้ติดต่อกันนานๆ

ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองทำให้ "ง่วงนอน"
อาการหนึ่งที่เป็นข้อเสียของยานี้ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือง่วงนอน รวมตั้งแต่มีอาการเล็กๆ น้อยๆ ด้วยมีอาการซึมๆ ไม่สดชื่น อยากนอน ซึ่งจะเป็นสักพักหนึ่ง แล้วก็กลับมาเป็นปกติและทำงานหรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติต่อไป แต่บางคนอาจจะมีอาการง่วงนอนมากจนขนาดลุกไม่ไหว อยากนอนมาก ต้องนอนจริงๆ เรียกว่า โงหัวไม่ขึ้น ไม่สามารถทำงานหรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ดังนั้น การใช้ยานี้จึงต้องเตือนให้ผู้ใช้ยาควรระวังถึงผลเสียเรื่องง่วงนอนนี้ เพราะผู้ที่ใช้ยาบางคนอาจเกิดผลเสียอย่างรุนแรงได้ ถ้าเกิดอาการง่วงนอนขึ้น เช่น ผู้ที่ขับรถ หรือทำงานเครื่องจักรกล ซึ่งถ้าเกิดง่วงนอนขึ้น แม้จะเล็กน้อย ก็จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่ใช้ยานี้ได้

รู้จักใช้....ได้ประโยชน์
อนึ่ง เรื่องง่วงนอนของยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองนี้ ในอีกมุมหนึ่งก็มีประโยชน์กับผู้ป่วย ถ้านำผลทำให้ง่วงนอนนี้มาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการนำยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองนี้มาใช้ในผู้ป่วยที่ต้องการพักผ่อน

ทั้งนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นโรคหวัด โรคแพ้อากาศ หรือโรคไข้หวัด ถ้าผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ก็จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ร่างกายจะแข็งแรงยิ่งขึ้น โรคเหล่านี้ก็จะหายได้เร็วยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น บางรายที่มีปัญหาเรื่องนอนยาก หรือนอนไม่ค่อยหลับ ยังสามารถใช้ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองเพื่อช่วยให้ง่วงนอนและหลับพักผ่อนได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการของหวัด คัดจมูก หรือน้ำมูกไหลก็ตาม

ถ้าใช้ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองติดต่อกันนานๆ อาจได้ผลน้อยลง
ผู้ป่วยโรคหวัดจากการแพ้อากาศ หรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ บางรายอาจมีอาการของโรคเหล่านี้ต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาแก้แพ้เพื่อควบคุมหรือรักษาอาการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งเมื่อใช้ติดต่อกันไปสักระยะหนึ่ง เช่น 3-6 เดือน ผู้ใช้ยาจะเริ่มสังเกตว่ายาที่เคยใช้ในขนาดเดิมกลับได้ผลลดน้อยลง จนทำให้ต้องเพิ่มขนาดยาจาก 1 เม็ด เป็น 2 เม็ด จึงจะได้ผลดีดังเดิม แต่เมื่อใช้ครั้งละ 2 เม็ด ไปอีกสักระยะหนึ่งก็จะเกิดผลเช่นเดิม คือได้ผลลดน้อยลง และจะต้องเพิ่มเม็ดที่ 3 ในแต่ละวัน และมีแนวโน้มจะต้องใช้ยาชนิดนี้มากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนอาจจะมากเกินไป

เรื่องนี้สามารถจัดการหรือแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนชนิดของยาแก้แพ้จากชนิดเดิมไปเป็นชนิดใหม่ สัก 1-2 เดือน แล้วกลับมาใช้ยาเดิมได้ดีเหมือนตอนเริ่มต้น

ตัวอย่างเช่น ถ้านาย ก. ใช้ยาคลอร์เฟน (อีกชื่อหนึ่งของยาแก้แพ้เม็ดสีเหลือง) ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน 2 ปี และกำลังจะเริ่มต้องเพิ่มเม็ดที่ 3 และอาจจะต้องเพิ่มขนาดไปเรื่อยๆ กรณีนี้จะแนะนำให้เปลี่ยนกลุ่มยาแก้แพ้ ซึ่งอาจจะแนะนำให้ใช้ยาไฮดร็อกซีซีน (hydroxyzine) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้เม็ดสีขาวเล็กที่ได้ผลดีเช่นกัน โดยแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้ยานี้สัก 1-2 เดือน แล้วจึงกลับไปใช้ยาเดิม คือยาคลอร์เฟนิรามีน หรือยาแก้แพ้เม็ดสีเหลือง ก็จะได้ผลดีเหมือนเริ่มต้นใช้ยา

ยาแก้แพ้รุ่นใหม่...ทางเลือกที่ไม่ง่วงนอน

ปัจจุบันมียาแก้แพ้ชนิดใหม่ที่ไม่มีฤทธิ์ง่วงนอน (non-sedate antihistamines) ซึ่งยากลุ่มนี้มีโอกาสทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้น้อยมากหรือไม่มีเลย ตัวอย่างเช่น เซทิริซีน (cetirizine) เฟกโซเฟนาดรีน (fexofenadrine) ลอราทาดีน (loratadine) เลโวเซทิริซีน (levocetirizine) เดสลอราทาดีน (desloratadine) เป็นต้น ซึ่งยาแก้แพ้กลุ่มนี้เป็นยาแก้แพ้กลุ่มใหม่ที่ได้ถูกคิดค้นและพัฒนามาเพื่อให้ปราศจากอาการง่วงนอน ทำให้ไม่รบกวนวิถีชีวิตตามปกติของผู้ใช้ยา จึงสะดวกในการใช้ยา จะใช้ตอนกลางวัน หรือตอนกลางคืน หรือเวลาใดก็ได้ แล้วแต่ต้องการ

ยาแก้แพ้รุ่นใหม่....ใช้เพียงวันละครั้ง หรือ 2 ครั้งก็เพียงพอ
ยากลุ่มใหม่นี้นอกจากไม่ทำให้ง่วงนอนแล้ว ยากลุ่มนี้ยังมีระยะเวลาแสดงฤทธิ์ในร่างกายได้นานกว่ายารุ่นเดิม จึงไม่จำเป็นต้องกินหลายๆ ครั้งต่อวัน ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะใช้เพียงวันละ 1 ครั้ง เวลาเช้า กลางวัน เย็น หรือเวลาใดก็ได้ ยกเว้นแต่เพียงยาเฟกโซเฟนาดรีน ชนิดเดียวเท่านั้นที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ 12 ชั่วโมง จึงต้องใช้วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

ความปลอดภัยและราคา....ยาแก้แพ้รุ่นใหม่
อีก 2 ประเด็นที่ควรคำนึงในการใช้ยาแก้แพ้รุ่นใหม่ก็คือ ความปลอดภัยและราคา ซึ่งก็ถือว่ายาแก้แพ้รุ่นใหม่ดังที่ได้ยกตัวอย่างมามีความปลอดภัยระดับหนึ่ง และราคาไม่แพงมาก โดยเฉพาะยาที่ผลิตภายในประเทศ มีมากมายหลายบริษัท หลายยี่ห้อ ซึ่งได้ผลดีใกล้เคียงกับยาต้นตำรับ หรือยาที่ผลิตจากต่างประเทศ แต่ราคาย่อมเยากว่า จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาแก้แพ้

นอกจากนี้ แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้รุ่นใหม่นี้เป็นตัวเลือกแรก สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ต้องการใช้ยาแก้แพ้ ทั้งนี้เพราะผลการรักษาเท่าเทียมกับยารุ่นเก่า ราคาก็ไม่สูงนัก แต่ใช้ได้สะดวกกว่าและไม่ง่วงนอนด้วย

ข้อจำกัดของยาแก้แพ้รุ่นใหม่

อนึ่งยาแก้แพ้รุ่นใหม่ก็มีข้อจำกัดของการใช้ในโรคไข้หวัด ซึ่งพบว่า ยาแก้แพ้รุ่นใหม่จะลดน้ำมูกและคัดจมูก ได้ไม่ดีเท่ากับยารุ่นเก่า

นอกจากนี้ ยารุ่นใหม่ชนิดหนึ่ง คือลอราทาดีน จะมีระยะเวลาเริ่มแสดงฤทธิ์ช้า หรืออาการจะเริ่มดีขึ้นหลังจากใช้ยาไปแล้ว 3-6 ชั่วโมง

ถึงตอนนี้คงได้คำตอบในการเลือกใช้ยาแก้แพ้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และอย่างพอเพียง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับการใช้ยาแก้แพ้ ตามสภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคภูมิแพ้หรือโรคหวัดของแต่ละคน และอย่าลืมปัจจัยสำคัญที่สุด เรื่องภูมิคุ้มและความแข็งแรงของร่างกาย ที่สำคัญกว่าเรื่องยาอีกนะครับ

¹ ผู้ใช้ยาบางส่วนจะเรียกยาพาราเซตามอลว่า "เพื่อนที่แสนดี" เพราะเวลาปวดหัวหรือมีไข้ ตัวร้อน ถ้าได้ใช้ยานี้ 2 เม็ด อาการก็จะทุเลาลงได้ เปรียบเสมือนเพื่อนที่แสนดีคอยช่วยลดเรื่องปวดหัวลงได

² Pregnancy category หมายถึง กลุ่มของยาที่แบ่งตามโอกาสที่จะเกิดอันตรายหรืออาการอันไม่พึงประสงค์กับตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์ โดยแบ่งตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ เป็น A, B, C, D และ X
Pregnancy category A เป็นกลุ่มยาที่ปลอดภัยที่สุด เพราะมีการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่าปลอดภัยกับทารกในครรภ์ของหญิง

ขณะที่ Pregnancy category B เป็นกลุ่มยาที่ได้พิสูจน์แล้วในสัตว์ทดลองว่าปลอดภัย (แต่ยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ ซึ่งยาที่ปลอดภัยส่วนใหญ่จะถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้ เพราะว่าเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์จะไม่อนุญาตให้ศึกษาความปลอดภัยกับทารกในครรภ์ของมนุษย์ เพราะไม่ต้องการให้เกิดอันตรายกับทารกของมนุษย์)

ส่วน Pregnancy category อื่นๆ จะไม่ค่อยปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้วิจารณาญาณของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเป็นรายๆไป โดยเฉพาะ Pregnancy category X ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะมีรายงานถึงอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้)

ข้อมูลสื่อ

357-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 357
มกราคม 2552
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด