ทุกคนคงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเจ็บการปวดมาแล้ว เวลารู้สึกไม่สบาย เป็นไข้หวัด เวลามีการอักเสบติดเชื้อ เวลามีการปวดเกร็งกล้ามเนื้อจากการทำงาน หรือมีอาการปวดไมเกรน ปวดประจำเดือน ปวดหลัง ปวดเอว ปวดจากมะเร็ง ความรุนแรงของการปวดวัดได้ยาก เป็นความรู้สึกที่ผู้ป่วยบอกให้เราทราบ อาการปวดมีนัยสำคัญของการบ่งบอกความผิดปกติบางสิ่งบางอย่างของร่างกาย ซึ่งต้องค้นหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อการรักษาต้นเหตุที่แท้จริง
อาการปวดในทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน
อาการปวดเป็นอาการที่พบบ่อยทางคลินิกที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ เป็นความรู้สึกที่ผู้ป่วยบอกกับแพทย์ สาเหตุโดยสรุปเกิดจากการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อของร่างกาย ทำให้เกิดการหลั่งสารชีวเคมีชนิดต่างๆ ที่ไปกระตุ้นปมประสาทรับความรู้สึกก่อให้เกิดอาการปวดในรูปแบบต่างๆ
การกระตุ้นเริ่มต้นที่ระบบประสาทส่วนปลายที่รับความเจ็บปวด นำกระแสประสาทไปยังตัวเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่ไขสันหลังบริเวณด้านหลัง แล้วส่งต่อไปยังก้านสมอง (brain stem) แล้วต่อไปยังทาลามัส (thalamus) และไปแปลผลที่สมองใหญ่ ส่วนผิว (cortex) บริเวณที่เกี่ยวข้องการรับความรู้สึกทำให้ร่างกายแปลผล และบอกตำแหน่งการเจ็บปวดของร่างกายได้แน่นอน
เมื่อมีการบาดเจ็บ เนื้อเยื่อร่างกายจะหลั่งสารที่เป็นตัวกระตุ้นออกมามากมาย ไปกระตุ้นให้ปมประสาทรับความรู้สึกส่วนปลาย สารต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่ อะเซทิลโคลิน (acetylcholine) เซอราโทนิน (seratonin) ฮิสทามีน (histamine) แบรดดี้ไคนิน (bradykinin) โดพามีน (dopamin) ประจุโพแทสเซียม (K+), ประจุไฮโดรเจน (H+) เป็นต้น
การรักษาหรือบรรเทาการเจ็บปวดในทัศนะแพทย์แผนปัจจุบันมีหลักการสำคัญคือ
1. ใช้ยาเคมีที่มีฤทธิ์ต้านหรือรบกวนการหลั่งสารที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น พาราเซตามอล ยาแอสไพริน ยาแก้ปวดกลุ่ม N-SAID
2. สกัดกั้นการนำสัญญาณความเจ็บปวด เช่น ยาชาเฉพาะที่
3. เปลี่ยนแปลงการแปลผลของสมองเพื่อลดความรู้สึกการเจ็บปวด เช่น มอร์ฟีน
4. ลดความเครียดความกังวล กล่อมประสาทเพื่อลดความรู้สึกต่อการเจ็บปวด
อาการปวดในทัศนะแพทย์แผนจีน
แพทย์แผนจีนอธิบายสาเหตุของอาการปวดเกิดจากการไหลเวียนของเลือดและพลังลมปราณในเส้นลมปราณ (Meridian) ติดขัด ไม่คล่อง : ความคล่อง-ไม่ติดขัด (ของเลือดและพลัง) ทำให้ไม่เจ็บปวด
การปวดก็เพราะการติดขัด-ไม่คล่อง (ของเลือดและพลัง)
ลักษณะการปวดแบบแพทย์แผนจีน
1. การปวดแบบเคลื่อนที่ เช่นการปวดตามข้อ และเปลี่ยนตำแหน่ง เป็นๆ หายๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เหมือนลม เรียกว่า ปวดแบบลม
2. การปวดแบบลึกๆ หนักๆ เหมือนผ้าชุบน้ำ เรียกว่า ปวดแบบความชื้น
3. การปวดแบบอักเสบ บวม แดง ร้อน เรียกว่า ปวดแบบร้อน
4. ปวดแบบรุนแรงมาก โดยเฉพาะเวลากระทบความเย็น เรียกว่า ปวดแบบเย็น
5. ปวดแบบเข็มแทง เฉพาะที่ เป็นมากตอนกลางคืน เรียกว่า ปวดแบบเลือดคั่ง
6. ปวดแบบเรื่อยๆ ไม่รุนแรง เป็นมากเวลาอ่อนเพลีย เรียกว่า ปวดแบบร่างกายพร่องอ่อนแอ
ตำแหน่งการปวด บอกถึงการกระทบกระเทือน เส้นลมปราณอะไร เช่น
1. ปวดบริเวณหน้าผาก - ปวดเส้นลมปราณหยางหมิง
2. ปวดศีรษะด้านข้าง - ปวดเส้นลมปราณซ่าวหยาง
3. ปวดท้ายทอย - ปวดเส้นลมปราณไท่หยาง
4. ปวดกลางกระหม่อม - ปวดเส้นลมปราณเจี๊ยะยิน
5. ปวดศีรษะไปถึงฟัน - ปวดเส้นลมปราณซ่าว- ยิน
6. ปวดศีรษะร่วมกับเวียนศีรษะ ท้องเสีย - ปวดเส้นลมปราณไท่ยิน
7. ปวดเอว เอ็นร้อยหวาย - ปวดเส้นลมปราณเกี่ยวข้องกับไต
8. ปวดชายโครง - ปวดเส้นลมปราณเกี่ยวข้องกับตับ-ถุงน้ำดี
การวิเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับเลือดและพลังอุดกั้นกับอาการปวด
1. การไหลเวียนเลือดสู่เนื้อเยื่อผิดปกติ
1.1 การขาดเลือดของเนื้อเยื่อจากเลือดอุดกั้นไหลเวียนไม่ดี อาการปวดจะเป็นแบบปวดเหมือนเข็มแทงเฉพาะที่ปวดร้าว เช่น การปวดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ปวดท้องประจำเดือน ปวดบริเวณที่เคยปวดถูกกระทบกระแทกฟกช้ำมาก่อน
1.2 การปวดจากเลือดน้อยหรือพลังชี่น้อย หรือภาวะพร่องทำให้เลือดไหลเวียนช้ากว่าปกติ อาการปวดจะเนิบๆ คลุมเครือไม่ชัดเจน ถ้าขาดเลือดและพลังมากจนภายในร่างกายมีความเย็นมาก ขาดพลังหยาง อาการปวดจะรุนแรง การปวดแบบนี้เมื่อใช้มือกดหรือใช้ความร้อนประคบจะรู้สึกสบายขึ้น
1.3 การปวดจากเลือดมาคั่งค้าง เกิดจากการอักเสบ อาจเนื่องจากการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ที่มีอาการปวดบวมแดงร้อน ซึ่งถือเป็นการอุดกั้นชนิดหนึ่ง การรักษาต้องใช้หลักการระบายภาวะความร้อนและอุดกั้น อาการปวดแบบนี้ไม่ถูกกับความร้อน จะถูกกับการประคบความเย็น
2. การไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองผิดปกติ
การปวดแบบนี้มีลักษณะตึงๆ แน่นๆ ซึ่งตรงมักเกี่ยวข้องกับการบวมน้ำ เช่นขาบวม ท้องมาน (มีน้ำในช่องท้อง) ในแพทย์แผนจีนคือการปวดจากภาวะความชื้นหรือเสมหะตกค้าง
เนื่องจากระบบน้ำเหลืองกับระบบเลือดมักสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในทางคลินิกเวลารักษาการปวดจากเลือดอุดกั้นหรือความชื้นเสมหะอุดกั้นต้องพิจารณาการให้ยารักษาร่วมกัน
3. การปวดจากการอุดกั้นในอวัยวะกลวง
ร่างกายคนมีอวัยวะภายในที่ตัน เรียกว่า อวัยวะจั้ง มีหน้าที่ในการเก็บ
อวัยวะภายในที่กลวงเรียกว่า อวัยวะฝู่ มีหน้าที่ลำเลียงส่งผ่านอาหารหรือสารคัดหลั่งหรือของเสียของระบบต่างๆ
การระบายของสิ่งต่างๆ ที่ไม่คล่อง-ติดขัดทำให้ เกิดอาการปวด เช่น ปวดนิ่วถุงน้ำดี การปวดแน่นอกเนื่องจากเสมหะไม่ออก การปวดท้องเนื่องจากท้องผูก การปวดตับอ่อนเนื่องจากการกดทับ การปวดร้าวเนื่องจากนิ่วอุดตันท่อไต
การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน
ใช้หลักการคือทะลวงการอุดกั้นร่วมกับการบำรุงส่วนที่พร่อง
ทะลวงการอุดกั้น
1. เลือดอุดกั้น
2. พลังอุดกั้น
3. ความชื้น-เสมหะ (ของเหลว) อุดกั้น
4. ความเย็นอุดกั้น
5. ทะลวงการอุดกั้นของอวัยวะกลวง
6. ขับเหงื่อ ขับลมที่มากระทบผิว
บำรุงส่วนที่พร่อง - ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดภาวะอุดกั้น (โดยเฉพาะกรณีปวดเรื้อรัง)
- ภาวะเลือดพร่อง หรือพลังพร่อง หรือหยางพร่องหรือยินพร่อง
- ระบบอวัยวะภายใน เช่น ม้าม ไต ตับ ที่อ่อนแอ
- รวมถึงพิจารณาเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมักเป็นตัวแสดงอาการปวดที่สะท้อนให้เห็นออกสู่ภายนอก
ตัวอย่างการรักษาอาการปวด
- ปวดชายโครง
ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากการกระทบกระเทือนชายโครง แม้ว่าจะมีกระดูกซี่โครงหักหรือไม่ก็ตาม เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณชายโครงย่อมได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดแน่นๆ หายใจไม่สะดวก (ทั้งนี้รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัด) ตามแนวชายโครง
แพทย์แผนปัจจุบัน : มักให้การรักษาด้วยยาระงับปวด ยากล่อมประสาท หรือฉีดยาชาเฉพาะที่ที่มีการกดเจ็บ
แพทย์แผนจีน : มองว่าเส้นลมปราณ ถุงน้ำดี และตับ ซึ่งเป็นเส้นลมปราณบริเวณด้านข้างลำตัวถูกกระทบกระเทือนทำให้เลือดและพลังติดขัด การรักษาจึงต้องทะลวงการอุดกั้นของเส้นลมปราณให้คล่องตัว อาการปวดจึงจะทุเลา ในทางคลินิกจะพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะทางอารมณ์หงุดหงิดร่วมด้วย (เพราะการไหลเวียนติดขัดของถุงน้ำดี จะสัมพันธ์กับพลังของตับ)
- ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ
แพทย์แผนปัจจุบัน : มักให้การรักษาด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งหรือถุงน้ำดีทิ้ง
แพทย์แผนจีน : มองว่าการอักเสบเป็นผลจาก อุดกั้นของของเสียในลำไส้ใหญ่ จนเกิดความร้อน ความชื้นตกค้าง การระบายความร้อนความชื้นของอวัยวะกลวง ลำไส้ใหญ่ และถุงน้ำดี จะทำให้ลดอาการอักเสบ การปวดได้ บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดตามความเชื่อของการแพทย์แผนปัจจุบันทั้งหมด
- คออักเสบ
แพทย์แผนปัจจุบัน : มักให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อกับยาแก้ปวดลดไข้
แพทย์แผนจีน : นอกจากจะใช้ยาสมุนไพรขับพิษขับร้อนแล้ว คออักเสบมีความเกี่ยวกับเส้นลมปราณปอด การขับความร้อนบนเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ (สัมพันธ์กับปอด)ออกโดยการถ่ายอุจจาระหรือระบายความร้อนบนจุดฝังเข็มปลายทางของเส้นลมปราณปอด (จุดซ่าวซาง) ทำให้อาการเจ็บคอและการอักเสบจะทุเลาได้เร็วขึ้น
- ปวดประจำเดือน
ผู้หญิงที่ปวดประจำเดือนที่ไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับมดลูกหรือรังไข่ หรือที่อาจถือว่าเป็นธรรมดาของผู้หญิงส่วนใหญ่ แผนปัจจุบันเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการแปรปรวนของฮอร์โมนระหว่างที่มีประจำเดือนและมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) มากผิดปกติ ทำให้มดลูกหดเกร็งตัว เกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย
แพทย์แผนปัจจุบัน : การบรรเทาอาการจะเน้นไปที่ให้ยาแก้ปวด ยาลดการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อมดลูก ถ้าเป็นมากอาจต้องใช้ยาฉีดลดการเกร็งตัว บางรายอาจต้องกินยาคุมกำเนิดระยะหนึ่ง ประมาณ 3-4 เดือน แล้วลองหยุดยาดูว่าร่างกายสามารถปรับสภาพสมดุลของฮอร์โมนต่อได้หรือไม่ แต่รายที่อายุมากกว่า 25 ปี หรือรายที่สงสัยจะมีพยาธิสภาพ เกี่ยวกับมดลูก รังไข่ ก็ต้องทำการตรวจค้นหาสาเหตุกันต่อไป
แพทย์แผนจีน : รักษาทั้งอาการและพื้นฐานความไม่สมดุล เพื่อให้เลือดและพลังในเส้นลมปราณบริเวณชงม่ายไหลเวียนได้ดี อาการปวดจึงจะหายไปได้และจะป้องกันการเกิดโรคเกี่ยวกับมดลูกและรังไข่ที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลังได้
สรุป
การรักษาหรือบรรเทาอาการปวดของแพทย์แผนปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่รักษาแต่อาการปวด โดยใช้ยายับยั้ง หรือรบกวนการหลั่งสารที่เนื้อเยื่อสร้างขึ้นมา ทำให้ตัดตัวที่กระตุ้นปมประสาทหรือตัดกระแสนำประสาทหรือดัดแปลงการแปลผลการเจ็บปวดร่วมกับการรักษาสาเหตุ ซึ่งถ้าเป็นสาเหตุที่ชัดเจน เช่น การอักเสบติดเชื้อ ก้อนเนื้อมีการกดทับ การรักษาที่ต้นเหตุร่วมกับการระงับอาการก็จะได้ผลที่ดีชัดเจน
การรักษาหรือบรรเทาอาการปวดแบบแพทย์แผนจีน เน้นกระตุ้นให้การไหลเวียนเลือดและพลังเดินได้คล่อง ไม่ติดขัด ซึ่งสาเหตุการติดขัด ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป อาจเกิดจากลม ความเย็น ความชื้น เลือด หรือพลังอุดกั้น และพิจารณาภาวะพร่องของร่างกายว่ามีจุดอ่อนที่ส่วนไหน เลือด พลัง ยิน หยาง หรืออวัยวะภายในอะไร เพื่อทำให้เกิดสมดุล รวมทั้งการฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นลมปราณต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย
กรณีเกิดการเจ็บปวดที่หาพยาธิสภาพไม่ชัดเจน ที่มีปัจจัยร่วมที่ประกอบเป็นเหตุมากมาย ไม่ใช่การติดเชื้อ หรือก้อนเนื้อ หรือการกดทับทางโครงสร้าง การรักษาจะได้ผลดีมาก ดังนี้ การรักษาอาการปวดของแพทย์แผนจีน จะแฝงด้วยการปรับสมดุลและแก้ต้นเหตุไปด้วย
กรณีมีพยาธิสภาพที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่นการฆ่าเชื้อโรค การผ่าตัดก้อนเนื้อออก การผ่าตัดแก้การกดทับที่รุนแรงซึ่งต้องใช้การรักษาแบบตะวันตก ถ้าได้ใช้หลักการรักษาแบบแผนจีนร่วมด้วย จะทำให้โรคหายเร็วขึ้นป้องกันการเกิดซ้ำ แต่สำหรับกรณีที่เป็นน้อยอาจหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่เกินความจำเป็นลงได้
- อ่าน 14,767 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้