• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

 

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดลม ทำให้ต่อมเมือกของหลอดลมโตขึ้นและหลั่งเมือก (เสมหะ) ออกมามากกว่าปกติ เกิดอาการไอมีเสมหะ บางครั้งอาจอุดกั้นให้ช่องทางเดินของหลอดลมแคบลง เกิดอาการหอบเหนื่อยได้

 

 

 

 

หลอดลมอักเสบ แบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน (ซึ่งเกิด จากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่) และชนิดเรื้อรัง (ซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่จัดเป็นส่วนใหญ่ มักมีอาการไอมีเสมหะติดต่อกันทุกวัน นานมากกว่า 3 เดือนใน 1 ปี และเป็นติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี)

ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
♦ ชื่อภาษาไทย หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Acute bronchitis
♦ สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งมักเป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ก่อให้เกิดไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ จึงมักพบหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ บางครั้งอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้เสมหะเปลี่ยนจากสีขาว (จากการติดเชื้อไวรัส) เป็นสีเหลืองหรือสีเขียว

บางรายอาจเกิดจากการถูกสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง สารเคมี เป็นต้น นอกจากนี้ ในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ก็อาจมีน้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนลงมาระคายเคืองต่อหลอดลมได้ เหล่านี้ทำให้ต่อมเมือกของหลอดลมโตขึ้น และมีเสมหะมากขึ้น

♦ อาการ
ที่สำคัญคือ อาการไอบ่อย ระยะแรกอาจไอแห้งๆ 2-3 ชั่วโมง หรือ 2-3 วันต่อมา ไอมีเสมหะเล็กน้อย ต่อมาเสมหะจะมีปริมาณมากขึ้น เสมหะอาจมีลักษณะใสหรือเป็นสีขาว (ถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือการระคายเคือง) หรือเป็นเสมหะข้นสีเหลืองหรือเขียว (ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย)

ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้ บางรายอาจมีไข้ต่ำๆ อยู่ 3-5 วัน
ผู้ป่วยมักมีอาการเป็นไข้หวัด เจ็บคอนำมาก่อนที่จะเกิดอาการไอ บางรายอาจไม่มีอาการเหล่านี้นำมาก่อนก็ได้

 

อาการไอมักเป็นอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจไอนานกว่านี้ อาจไอมากตอนกลางคืน (จนทำให้นอนไม่หลับ) หรือหลังตื่นนอนตอนเช้า

 

บางรายอาจมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ หรือเจ็บหน้าอกเวลาไอ ในเด็กเล็กอาจไอจนอาเจียนบางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือรู้สึกหอบเหนื่อยร่วมด้วย

♦ การแยกโรค
อาการไอมีเสมหะ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

- ปอดอักเสบ ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ สีเหลืองหรือเขียว อาจมีอาการเจ็บแปล๊บที่หน้าอกเวลาหายใจเข้าลึกๆ ถ้ามีรุนแรง มักจะมีอาการหายใจหอบร่วมด้วย

- วัณโรคปอด ผู้ป่วยมักจะมีไข้ต่ำๆ ไอเรื้อรังเป็นสัปดาห์ๆ ถึงเป็นแรมเดือน มีเสมหะเหลืองหรือเขียว ต่อมาจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอออกเป็นเลือด

- มะเร็งปอด ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรังเป็นสัปดาห์ๆ ถึงเป็นเดือนๆ อาจมีอาการเจ็บหน้าอกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หายใจหอบเหนื่อย ผู้ป่วยมักมีประวัติสูบบุหรี่จัดมากนาน แต่บางรายอาจไม่มีประวัติสูบบุหรี่มาก่อนก็ได้

- โรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยมักมีอาการคันจมูก คันคอ น้ำมูกใส จามและไอ เวลาสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ เช่น อากาศเย็น ฝุ่นละออง ขนสัตว์ เป็นต้น มักมีอาการเป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อยๆ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี

- หืด ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรัง และมีอาการหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงดังวี้ดเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ มักมีประวัติว่ามีญาติสายตรงเป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ

♦ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบจากอาการแสดง ได้แก่ อาการไอมีเสมหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โดยที่ผู้ป่วยกินได้ดี น้ำหนักไม่ลด ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ปกติ

ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ ใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม (bronchoscopy)

♦ การดูแลตนเอง
1. เมื่อมีอาการไอมีเสมหะ ให้ปฏิบัติตัวดังนี้
- พักผ่อนนอนหลับให้มากๆ
- ดื่มน้ำอุ่นให้มากๆ เพื่อช่วยระบายเสมหะ
- งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง เช่น ความเย็น น้ำเย็น น้ำแข็ง ของทอด ของมันๆ ฝุ่น ควัน อากาศเสีย ลมจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ

2. ให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ (ถ้ามีไข้) ถ้ารู้สึกระคายคอมากให้อมยาอมมะแว้ง จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว หรือน้ำมะนาวคั้นใส่เกลือและน้ำตาล หลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับการไอ และยาแก้หวัดแก้แพ้ (เช่น คลอร์เฟนิรามีน) อาจทำให้เสมหะเหนียว ขับออกยาก

3. ควรไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- น้ำหนักลด
- หายใจหอบเหนื่อย
- มีเสมหะเหลืองหรือเขียว
- มีไข้นานเกิน 7 วัน
- ไอเป็นเลือด
- เจ็บแปล๊บที่หน้าอกเวลาหายใจเข้าลึกๆ
- อาการไอไม่ทุเลาใน 2 สัปดาห์ หรือมีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

♦ การรักษา
แพทย์จะให้การดูแลรักษาตามลักษณะอาการ และสาเหตุที่ตรวจพบ ดังนี้
1. แนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองดังกล่าว
2. ให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม (ถ้ามีอาการหายใจดังวี้ดหรือหลอดลมตีบ)
3. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (amoxycillin) อีริโทรไมซิน (erythromycin) หรือโคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) เฉพาะในรายที่มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (เช่น หืด หลอดลมพอง) หรือไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียวเกิน 7 วัน
4. ในรายที่ตรวจพบว่ามีสาเหตุจากโรคกรดไกลย้อน แพทย์จะให้ยาลดการสร้างกรด เช่น โอเมพราโซล (omeprazole) ร่วมด้วย

♦ ภาวะแทรกซ้อน
ที่อาจมีอันตรายร้ายแรง ได้แต่ ปอดอักเสบ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะพบในทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดเรื้อรัง (เช่น หืด ถุงลมโป่งพอง)

ในรายที่เป็นซ้ำซาก อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมโป่งพอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่สูบบุหรี่

♦ การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่มักจะหายได้โดยการรักษาตามอาการ ส่วนน้อยที่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ
อาการไอมักเป็นอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ บางรายอาจไอโครกๆ อยู่นาน 7-8 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน โดยมีอาการไอแห้งๆ หรือมีเสมหะสีขาว ทั้งนี้เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมถูกทำลายจากการอักเสบ ทำให้หลอดสมไวต่อสิ่งกระตุ้น (เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ฝุ่น ลม ความเย็น) ผู้ป่วยมักจะไม่มีไข้ น้ำหนักตัวไม่ลด กินอาหารและทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติ แพทย์จะให้การดูแลโดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่างๆ ให้ยาบรรเทาไอแล้วรอเวลาให้หลอดลมค่อยๆ ฟื้นตัวเป็นปกติ

♦ การป้องกัน
หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และหาทางป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ (เช่น อย่าให้ผู้ป่วยไอจามรดหน้า หมั่นล้างมือบ่อยๆ)

♦ ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมทั้งผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

ข้อมูลสื่อ

358-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 358
กุมภาพันธ์ 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ