• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเขือเทศราชินี

                                      

ชื่อวิทยาศาสตร์
Solanum lycopersicum L. var. cerasiforme
วงศ์ Solanaceae
ชื่อพ้อง Lycopersicon esculentum var. cerasiforme มะเขือเทศเชอร์รี่

มะเขือเทศเป็นพืชล้มลุกวงศ์มะเขือ เป็นพืชนำเข้าในประเทศไทยจึงได้ชื่อว่ามะเขือเทศ
ลำต้น ตั้งตรง มีลักษณะเป็นพุ่ม มีขนอ่อนๆ ปกคลุมลำต้น
ใบ เป็นใบประกอบแบบสลับ ใบย่อยมีขนาดไม่เท่ากัน บางใบเล็กรียาว บางใบกลมใหญ่ ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักลึกคล้ายฟันเลื่อยมีขนอ่อนคลุม
ดอก เป็นช่อหรือดอกเดี่ยว บริเวณซอกใบ ดอกมีสีเหลือง มีกลีบเลี้ยงสีเขียว
ผล เป็นผลเดี่ยว มีขนาดรูปร่างและสีต่างกัน รูปร่างมีทั้งกลม หรือกลมรี
เปลือกผล บางเป็นมัน ผลดิบมีสีเขียว หรือเขียวอมเทา เมื่อสุกจะมีสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง เนื้อภายในฉ่ำด้วยน้ำมีรสอมเปรี้ยว มีเมล็ดจำนวนมาก

มะเขือเทศมีหลายพันธุ์ กลุ่มมะเขือเทศราชินีมีผลขนาดเล็กมีความใกล้เคียงกับมะเขือเทศที่ขึ้นเองในธรรมชาติ

มะเขือเทศเป็นผลของต้นมะเขือเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาเหนือ ตามจริงมะเขือเทศเป็นผลไม้ แต่ในภาษาอังกฤษจะอยู่ในกลุ่มผักเพราะทั่วโลกมักกินสดในสลัดผัก หรือใช้ประกอบอาหารหลักในมื้อหนึ่งๆ เช่น ปรุงเป็นซอสสปาเก็ตตี้และเป็นซอสราดหน้าพิซซ่าในประเทศอิตาลี มากกว่าการกินเป็นผลไม้
มะเขือเทศเป็นผักที่มีปริมาณการกินสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกา รองมาจากมันฝรั่ง ผัก กาดแก้ว และหอมหัวใหญ่

มะเขือเทศราชินีหรือมะเขือเทศเชอร์รี่จะมีรสหวานมากกว่ามะเขือเทศลูกโตทรงแป้นๆ ที่ไว้ฝานกินกับแฮมเบอร์เกอร์ (ที่สหรัฐอเมริกา มะเขือเทศลูกใหญ่เป็นพันธุ์นักกินเนื้อหรือ Beef eater) มะเขือเทศราชินีมักใช้กินเป็นอาหารว่างหรือใส่ในอาหารจานสลัด

มะเขือเทศที่มีผลรูปไข่และมีขนาดโตขึ้นมาอีกหน่อยก็เป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ของส้มตำอาหารไทยยอดฮิตนั่นเอง

ข้อมูลปี พ.ศ.2544 กล่าวว่า ชาวอเมริกันกินมะเขือเทศสดเฉลี่ยคนละ 9 กิโลกรัมต่อปี และกินผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ ในรูปของซอสมะเขือเทศ ซอสสปาเก็ตตี้ ซอสมะเขือเทศบนพิซซ่า ปีละ 34.5 กิโลกรัม พบว่าเด็กหนุ่มอายุ 12-19 ปีกินซอสมะเขือเทศมากที่สุด ส่วนชายหญิงที่มีอายุมากขึ้นจะนิยมกินมะเขือเทศสดและน้ำมะเขือเทศ

ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศเป็นแหล่งธาตุโพแทสเซียม สารโฟเลต วิตามินเอ ซี และ อี ที่ดีมีปริมาณโพแทสเซียมและโฟเลตในปริมาณใกล้เคียงกับผักยอดนิยมหลายชนิด แต่มีวิตามินซีและอัลฟ่าโทโคฟีรอล มากกว่าผักอื่นๆ



นอกจากประโยชน์ด้านสารอาหารแล้ว มะเขือเทศ ยังมีสารประกอบทุติยภูมิที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือกลุ่มคาโรทีนอยด์และโพลีฟีนอล

สารเด่นในกลุ่มคาโรทีนอยด์คือไลโคพีนและบีตา-แคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ สารไฟโทอีน (phytoene) และไฟโทฟลูอีน (phytofluene)

นอกจากนี้ มะเขือเทศมีสารฟลาโวนอยด์มากในรูปของกลุ่มฟลาโวนอล โดยพบมากที่สุดในผิวมะเขือเทศ เป็นร้อยละ 98 ของฟลาโวนอลทั้งหมดในผลมะเขือเทศ สารที่พบคือเควอร์เซติน (quercetin) และแคมป์ฟีรอล (kaempferol) ส่วนสารไลโคพีนนั้นพบในมะเขือเทศมากกว่าผักผลไม้อื่น มี 288 ไมโครกรัม/กรัม ในมะเขือเทศ 45 ไมโครกรัม/กรัม ในแตงโม และ 14 ไมโครกรัม/กรัม ในส้มโอสีชมพู นักวิจัยเชื่อว่าสารประกอบทุติยภูมิเหล่านี้มีส่วนช่วยลดอุบัติการของโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็งต่อมลูกหมาก

ความลับของมะเขือเทศ
มะเขือเทศเป็นผัก/ผลไม้ที่มีรสชาติถูกปากผู้บริโภค ทั้งนี้เป็นเพราะมะเขือเทศมีกรดอะมิโนกลูตามิกสูง กรดอะมิโนตัวนี้เป็นกรดอะมิโนตัวเดียวกับที่อยู่ในผงชูรส จึงเป็นเหตุให้มะเขือเทศเพิ่มรสชาติให้อาหารทุกชนิด

ประโยชน์ของมะเขือเทศ
- มะเขือเทศมีสารที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ดังนั้นจึงใช้ในโรคที่เกี่ยวกับเชื้อราในช่องปากได้
- มะเขือเทศช่วยบำรุงผิว ลดริ้วรอย รักษาสิว สมานผิว ช่วยให้ผิวเต่งตึง จะใช้น้ำมะเขือเทศทาพอกหน้า หรือใช้มะเขือเทศสุกฝานบางๆ ปะบนใบหน้าแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จะช่วยให้ผิวหน้าอ่อนนุ่ม
- มะเขือเทศมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงสามารถใช้ลดอาการความดันเลือดสูงได้
- มะเขือเทศบำรุงสายตา เนื่องจากมีวิตามินเอสูงนั่นเอง
- การกินมะเขือเทศลดอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคหลอดเลือดหัวใจ

ปัจจุบันมีข้อมูลระบาดวิทยายืนยันว่า เมื่อมีการเพิ่มการกินมะเขือเทศจะลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็งต่อมลูกหมาก

ไลโคพีน
เป็นคาโรทีนอยด์ที่ให้สีแดงแก่ผลมะเขือเทศ แตงโม ส้มโอ ฝรั่งและมะละกอ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการถูกทำลายของสารพันธุกรรมและโปรตีน ไลโคพีนจับกับเส้นใยได้ดี จะออกฤทธิ์ได้ดี ถ้าถูกปลดปล่อยจากเส้นใยโดยใช้ความร้อน

ไลโคพีนละลายในไขมัน ป้องกันผิวหนังจากอันตราย ที่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้ดีกว่าบีตาแคโรทีน พบในปริมาณมากที่ผิวหนัง อัณฑะ ต่อมหมวกไต และต่อมลูกหมาก ป้องกันอวัยวะดังกล่าวจากการเกิดมะเร็ง ลดปริมาณไขมันแอลดีแอลในเลือด

มะเขือเทศลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก
ผลงานรวบรวมงานวิจัยทางคลินิกตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2545-46 พบว่าการเลือกอาหารที่ถูกต้องสามารถทำให้การก่อตัวของมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดช้าลง และสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งดังกล่าวได้ การศึกษาทางคลินิกในวารสารวิจัยมะเร็งปี พ.ศ.2542 พบว่า ไลโคพีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดเดียวที่ความเข้มข้นในเลือดมีความสัมพันธ์ผกผันกับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่ากลุ่มผู้ป่วยมีปริมาณไลโคพีน ในเลือดต่ำเมื่อเทียบกับชายปกติอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลชัดเจนมากในกลุ่มผู้ป่วยชายที่ไม่ได้กินบีตาแคโรทีนเป็นอาหารเสริม

นอกจากนี้ ร้อยละ 83 ของผู้ร่วมวิจัยอายุระหว่าง 40 ถึง 75 ปีมีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง เมื่อมีปริมาณไลโคพีนในเลือดสูงที่ 0.40 ไมโครกรัม/ลิตร อันเป็นปริมาณที่เทียบได้กับการกินผลิตภัณฑ์มะเขือเทศในรูปซอสราดสปาเก็ตตี้ 2 ครั้งหรือมากกว่าต่อสัปดาห์ ผลการศึกษาใช้ได้กับกลุ่มชายวัยกลางคนขึ้นไปที่ไม่มีประวัติมะเร็งต่อมลูกหมากทางกรรมพันธุ์เท่านั้น
การทดลองเมื่อปี พ.ศ.2547 ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากโดยสารเมทิลไนโทรโซยูเรีย (N- methyl-N-nitrosourea) รอดสูงกว่าหนูที่กินอาหารปกติ ส่วนหนูที่ได้รับไลโคพีนบริสุทธิ์ร้อยละ 0.025 พร้อมอาหารมีอัตราการตายไม่ต่างจากกลุ่มควบคุม ทำ ให้นักวิจัยสันนิษฐานว่ามะเขือเทศมีสารทุติยภูมิอื่นนอกจากไลโคพีนที่ช่วยลดการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากได้

มะเขือเทศ ไลโคพีน กับโรคหลอดเลือดหัวใจ
งานวิจัยระบาดวิทยาหลายชิ้นชี้แนะว่าผู้ที่มีปริมาณไลโคพีนในเลือดสูงจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การศึกษาระดับไลโคพีนในซีรั่ม ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ.2544 พบว่ามีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าระดับที่พบในคนทั่วไปในพื้นที่เดียวกัน ปริมาณไลโคพีนในซีรั่มมีความสัมพันธ์ผกผันกับความหนาของหลอดเลือดแดงคาโรติด

งานวิจัยในยุโรปในปี พ.ศ.2540 พบว่าปริมาณไลโคพีนในไขมันอะดิโพสสะสมของผู้เข้าร่วมโครงการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างเป็นอิสระ แต่การศึกษาในกลุ่มเสี่ยงเพศหญิงปี พ.ศ.2546 พบว่าความสามารถในการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจมีความสัมพันธ์กับปริมาณการกินมะเขือเทศมากกว่ากับปริมาณไลโคพีนในซีรั่ม ผู้ที่กินมะเขือเทศสัปดาห์ละ 7 ครั้งขึ้นไปลดความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวได้มากที่สุด

สารเควอร์เซตินและแคมป์ฟีรอล ต้านอนุมูลอิสระและต้านมะเร็ง
สารทั้งสองเป็นสารฟลาโวนอยด์กลุ่มฟลาโวนอล พบมากในหอมหัวใหญ่ ต้นกระเทียม ชาขาว/ชาเขียว มะเขือเทศและแอปเปิ้ล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสียหายของเซลล์ในร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ลดความเสียหายจากไขมันไม่ดี (แอลดีแอล) ต่อระบบหลอดเลือด มีฤทธิ์ต้านอักเสบและต้านมะเร็ง สารทั้งสองทำงานร่วมกันในการลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และลดการต้านยาของเซลล์มะเร็ง เมื่อมีเควอร์เซตินและแคมป์ฟีรอลยาฆ่ามะเร็งจะออกฤทธิ์ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สารทั้งสองมีฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในร่างกาย การกินมะเขือเทศราชินีซึ่งมีสารทั้งสองนี้มากบริเวณเปลือกผลจึงมีผลในด้านการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย

ข้อควรระวัง
มะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อนกลับ จึงควรกินมะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ ในปริมาณจำกัด

ดังนั้นถ้าคุณพ่อบ้านและคุณลูกของคุณร่ำร้องจะกินพิซซ่าสักสัปดาห์ละครั้งก็ตามใจเขาเถิดค่ะ อย่าเพิ่มชีสก็แล้วกันนะคะ

ข้อมูลสื่อ

359-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 359
มีนาคม 2552
บทความพิเศษ
รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ