• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผัวขี้เมากับยาอดเหล้า

คำถาม "ยาอดเหล้า" ให้ "สามีขี้เมา" กินได้ไหม?

"พ่อบ้าน...ขี้เหล้า"  "สามี... ขี้เมา" หรือ "ผัว...ขี้เมา"
เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าเบื่อ น่าระอา สำหรับแม่บ้าน ภรรยา หรือเมีย ตลอดจนลูกหลาน ที่ต้องอดทน อดกลั้น ทนความรำคาญ และทนทุกข์ทรมานต่ออารมณ์และความรุนแรงของพ่อบ้าน รวมถึงการสูญเสียเรื่องเงินทองของครอบครัว

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญแต่ขาดหายไปเมื่อหัวหน้าครอบครัวติดเหล้า ก็คือต้นแบบที่ดีของผู้นำครอบครัวที่มีต่อหน้าลูกหลานและความผาสุกของชีวิตครอบครัว

ด้วยเหตุนี้ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งครอบครัวตัวจริงเสียงจริง คือ "แม่บ้านจึงทนไม่ได้" ที่จะอดทน อดกลั้น เมินเฉยต่อปัญหาขี้เมาของพ่อบ้าน หรือผัวขี้เมา ที่เมื่อใดเหล้าเข้าปากแล้ว จะต้องเมามาย พูดจาไม่รู้เรื่อง หาเรื่อง เอะอะ โวยวาย ทะเลาะเบาะแว้ง ชกต่อย ทุบตี เป็นที่ระอาของสมาชิกทุกคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านใกล้เคียง

ดังนั้นแม่บ้านจึงคิดค้น เสาะแสวงหาหนทางต่างๆ นานา ที่จะช่วยแก้ปัญหาสำคัญของครอบครัวอันเป็นที่รัก ให้กลับมามีความสุขสงบ รักใคร่ และน่ารักเหมือน เดิม หนึ่งในวิธีที่เป็นที่นิยมและใช้กันอยู่ทั่วไป ก็คือ "ยาอดเหล้า" หรือ "ยาเบื่อเหล้า" โดยทางฝ่ายแม่บ้าน จะไปหาซื้อยาอดเหล้านี้ไปแอบใส่ในอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้พ่อบ้านกิน (โดยปิดบัง...กลัวโดน...การใช้กำลัง) ด้วยมีความหวังว่า พ่อบ้านขี้เหล้า..จะได้เบื่อเหล้า และเลิกเหล้าในที่สุด

สุรา...พอเพียง
เหล้า (สุรา) เบียร์ ไวน์ อุ ข้าวแช่ วอดก้า วิสกี้ บรั่นดี ฯลฯ ล้วนเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือน้ำเมาทั้งสิ้น เป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งของมนุษย์มีมาแต่ครั้งโบราณกาล ในประวัติศาสตร์จึงกล่าวถึงอยู่เสมอ ทุกชาติ ทุกภาษาล้วนมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้เป็นของตน

จริงๆ แล้ว จะโทษแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเหล้ามันอยู่ของมันดีๆ คนเราไปดื่มมันเอง ถ้าดื่มเล็กๆ น้อยๆ สักกรึ๊บสองกรึ๊บ หรือเป๊กสองเป๊ก ก็จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด คลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้สบายตัวได้ ช่วยเจริญอาหาร และนอนหลับได้ง่าย จึงนับได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดน้อยๆ จะเป็น "ยาคลายเครียด" หรือ "ยากล่อมประสาท" สำหรับชาวบ้านขนานแท้ดั้งเดิม แต่ต้อง...พอเพียง..นะครับ

สุรา...ที่ไม่..พอเพียง
แต่ไม่ใช่แค่นั้น ถึงแม้จะมีรสขม และเมื่อดื่มเพียวๆ จะรู้สึกบาดคอ จึงมีการปรุงรส ปรุงกลิ่น และเมื่อจะดื่มจะต้องมีส่วนผสมองค์ประกอบต่างๆ ทั้งน้ำเปล่า หรือน้ำโซดา หรือน้ำดำ พ่วงน้ำแข็ง จนรสชาตินุ่ม หอมหวล ยั่วยวนใจ ให้ใฝ่หา และเมื่อเริ่มดื่มก็มักจะไม่ดื่มเพียงเล็กๆ น้อยๆ แล้วพอ แต่จะติดลม ไม่พอ ยิ่งดื่มแล้วดี ก็ยิ่งดื่มอีกมากขึ้นๆ มากจนขนาดทำให้มึนเมา ครองสติไม่อยู่ ขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดเหตุขาดผล กลายไปเป็นคนใหญ่คนโตที่ไม่กลัวใคร ก่อเสียงดัง เอะอะโวยวาย หาเรื่องทะเลาะวิวาท ดั่งคำพูดที่ว่า "พอเหล้าเข้าปาก นิสัยก็เปลี่ยน" จึงมีชื่อเรียกเหล้าว่า "น้ำเปลี่ยนนิสัย"Ž

ข้อเสียของสุรา
ผลระยะสั้นที่เกิดขึ้นทันทีที่ดื่มมากเกินไป ก็คือ มึนเมา ครองสติไม่ได้ เอะอะโวยวาย ทะเลาะวิวาท และเมื่อไปขับรถหรือทำงานเครื่องจักรกลก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และคนใกล้ชิด

ในประเทศไทยมีรายงานว่าประมาณร้อยละ 40 ของอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากผู้ขับขี่ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ เป็นต้น จนมีการรณรงค์ว่า "เมาไม่ขับ"Ž

นักดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดื่มเป็นประจำมักจะดื่มมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จน "ติดเหล้า" คือมีความรู้สึกอยากดื่มอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ได้ดื่มก็จะทำงานไม่ได้ หรือเกิดอาการลงแดง เช่น ตัวสั่น มือสั่น เหงื่อออก หงุดหงิด โมโหง่าย เป็นต้น

นอกจากจะเกิดผลเสียต่อทรัพย์สินเงินทองของครอบครัวที่มีอยู่อย่างจำกัด จะต้องถูกแบ่งมาเป็นค่าเหล้า ค่าเบียร์แล้ว ยังส่งผลต่อความสงบสุขของครอบครัวอันเป็นที่รักและหวงแหนอีกด้วย

สิ่งหนึ่งที่เป็นผลกระทบกับผู้เสพหลังจากที่ดื่มเหล้า ติดต่อกันเป็นประจำ ก็คือ เรื่องสุขภาพ ซึ่งมีรายงานทางการแพทย์ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดผลเสีย ต่อสุขภาพทำให้เกิดโรคมากกว่า 60 ชนิด ตัวอย่างโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคตับแข็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคจิต เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่จะมีอันตราย ถึงชีวิตได้ทั้งสิ้น

สุรามีแต่เสีย "เสียเงิน เสียสติ เสียสุขภาพ เสียชีวิต และเสียใจ"Ž
นับว่า "เหล้า" ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เรียกว่า "เสียเงิน เสียสติ เสียสุขภาพ เสียชีวิต และเสียใจ" เพราะเริ่มต้นดื่มก็ต้องใช้เงินมาซื้อเหล้าที่นับวันจะมีราคาแพงขึ้นๆ เป็นลำดับ เมื่อดื่มเข้าไปตอนต้นๆ ก็รื่นเริงบันเทิงใจ แต่ถ้าดื่มมากขึ้นๆ ก็จะเริ่มมึน ต่อมาก็เมา เวียนหัว จนถึงกับอ้วก อาเจียน และหมดสติได้ เมื่อเมาแล้วไปขับรถก็จะเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย บางคนก็ตาย และเกิดความสูญเสีย ทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ทางหน่วยงานของภาครัฐจึงรณรงค์โฆษณาเรื่องเหล้า เพื่อลด ละ เลิก เมื่อปีก่อนก็โฆษณาว่า "จน เครียด กินเหล้า" เป็นที่ฮือฮา และจำติดตาประชาชน ให้ตระหนักถึงปัญหาข้อเสียของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาถึงปีใหม่ปีนี้ก็จัดรณรงค์โฆษณาว่า "ให้เหล้า = แช่ง" หมายความว่า "ถ้าใครให้ของขวัญปีใหม่..ด้วยเหล้า เท่ากับแช่งผู้รับ" แทนที่จะเสียเงินซื้อของขวัญปีใหม่ไปอวยพรผู้หลักผู้ใหญ่ กลับเป็นการไปสาปแช่งท่านให้เกิดผลร้ายต่อท่าน ดั่งเช่นผลเสียของน้ำเมา คาดว่าคงจะช่วยสร้างความตระหนัก ค่านิยม และลดการดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นอย่างดี

ศีลข้อที่ ห้า "ห้ามดื่มเหล้า"Ž
"สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ"Ž

ซึ่งแปลได้ความว่า "การเว้นจากการดื่มสุราและของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท"
เพราะสุรา ยาเมา เหล้า เบียร์ ตลอดจนเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ หรือสิ่งของอื่นๆ ที่เสพแล้วทำให้มึนเมา ขาดสติ ล้วนเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นศีลหรือข้อห้ามสำคัญที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเป็นแนวทาง แก่พุทธศาสนิกชนเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว

จริงๆ แล้วในความเห็นของผู้เขียนเข้าใจว่า ศีลข้อ 5 นี้ ไม่ได้หมายความครอบคลุมแค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมา หรือสิ่งเสพติดต่างๆ ที่ทำให้มึนเมา และขาดสติเท่านั้น แต่มีวัตถุประสงค์และเจตจำนงสำคัญของศีลข้อนี้คือ "ความไม่ประมาท" เพราะ "ความประมาทเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายร้ายแรง" ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและคนรอบข้าง ถึงจะไม่ได้ดื่มของมึนเมาก็ตาม ถ้าตั้งอยู่บนความประมาทเลินเล่อ (ทั้งๆ ที่ไม่ได้เมาเหล้า ก็เหมือนได้กินเหล้าเมามาย) ก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้นชาวไทยทุกคนจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท เพราะจะเกิดผลเสียได้ดั่งกับความมึนเมาของการดื่มสุรายาดองที่มากเกินไปได้

เมียซื้อยาอดเหล้าให้ผัวขี้เมา
วิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมของเมียเพื่อลดการกินเหล้าของผัว ก็คือ ยาอดเหล้า หรือ ยาเบื่อเหล้า ที่มีจำหน่ายในร้านยาได้แก่ ยาไดซัลฟิแรม (disulfiram)

ยาไดซัลฟิแรม คือยาอดเหล้าจริงหรือ?
ยาไดซัลฟิแรม ชนิดนี้เป็นชนิดเม็ดสีขาว ขนาดใกล้เคียงกับยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาชนิดนี้ไม่ได้ไปออกฤทธิ์ให้ผู้ที่ใช้ยามีความรู้สึกเบื่อหน่ายเหล้า หรืออยากเลิก หยุด หรืออดเหล้า เหมือนดังกับชื่อที่เรียกกันติดปาก
 
แต่ยาชนิดนี้จะไปออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยนแปลง แอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าในร่างกาย ซึ่งตามปกติแล้วแอลกอฮอล์ที่เข้าไปด้วยการดื่มนี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และกระจายตัวไปสู่อวัยวะต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเข้าสู่สมอง ทำให้เกิดอาการผ่อนคลายในขนาดน้อยๆ และเริ่มมึนเมาเมื่อขนาดมากขึ้นๆ

ธรรมชาติของร่างกายของเราจะเปลี่ยนแปลงแอลกอฮอล์ไปเป็นสารแอลดีไฮด์ก่อน แล้วจึงเปลี่ยนสารแอลดีไฮด์ไปเป็นกรดน้ำส้ม (acetic acid) อีกเป็นขั้นตอนสุดท้าย และนำกรดน้ำส้มนี้ไปใช้ประโยชน์ในร่างกายของเรา แต่ยาชนิดนี้จะไปยับยั้งขั้นตอนสุดท้ายในขั้นตอนการเปลี่ยนสารแอลดีไฮด์ไปเป็นกรดน้ำส้ม

ดังนั้น เมื่อผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และมีตัวยาไดซัลฟิแรมในร่างกาย ยานี้จะไปยับยั้งในขั้นตอนการเปลี่ยนสารแอลดีไฮด์ไปเป็นกรดน้ำส้ม ทำให้เกิดการสะสมของสารแอลดีไฮด์เพิ่มขึ้นมากกว่าในภาวะปกติที่ไม่ได้มียาชนิดนี้ถึง 5-10 เท่า เมื่อมีสารแอลดีไฮด์นี้สูงขึ้นก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ตัวแดง ความดันโลหิตสูง ตัวสั่น ใจสั่น หายใจเต้นเร็วๆ เหงื่อออกง่าย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว มึนงง ตาพร่า เป็นลม เป็นต้น

อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 15-30 นาที หลังจากที่ดื่มแอลกอฮอล์ และอาจจะมีอาการนานสูงสุดใน 8 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อหมดฤทธิ์ของแอลกอฮอล์แล้ว เกือบทั้งหมดของผู้ที่ได้รับยานี้ร่วมกับแอลกอฮอล์ก็จะกลับมาเป็นปกติ ยกเว้นในบางรายที่มีการดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากๆ หรือได้กินยาไดซัลฟิแรมจำนวนมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการช็อก และเสียชีวิตได้

ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงไม่แนะนำให้แอบใส่ยาชนิดนี้ให้กับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์โดยปิดบัง เพราะอาจเป็นอันตรายกับพ่อบ้านนักดื่มได้ และทำให้เกิดปัญหาจนหลายรายต้องนำผู้ป่วยส่งแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน จากอาการที่ผู้ป่วยได้รับยาและเหล้าพร้อมกัน เช่น ตัวแดงมาก ความดันโลหิตสูง ตัวสั่น ใจสั่น หายใจเต้นเร็วๆ เหงื่อออกง่าย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว มึนงง ตาพร่า เป็นลม เป็นต้น

เลิกเหล้าได้...ด้วยความร่วมมือของแพทย์ผู้ดื่ม และความรักของครอบครัว
แนวทางที่ดีในการรักษาการติดเหล้า จึงควรปรึกษาหารือกับแพทย์ และได้รับความยินยอมจากผู้ดื่มเสียก่อน เพราะการรักษาอาการติดเหล้า ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ และมีวิธีการทางการแพทย์ ตลอดจนสิ่งสนับสนุนที่สำคัญที่สุด คือ กำลังใจและความรักของครอบครัว จะได้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย และเกิดความผาสุกกับครอบครัวในที่สุด

สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านมีความสุข มีสติ และสงบ ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท แคล้วคลาดภยันอันตรายต่างๆ ตลอดปี 2552

ข้อมูลสื่อ

359-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 359
มีนาคม 2552
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด