"ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี" แปลว่า "ธรรมย่อมรักษา ผู้ประพฤติธรรม" เป็นพุทธพจน์ อยู่ในพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์
เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงต้นธรรมรักษา หรือเฮลิโคเนีย (Heliconia spp.)
ธรรมรักษานั้นเป็นชื่อที่ "คุณหลวงบุเรศบำรุงการ" ซึ่งถือว่าเป็นนักพฤกษศาสตร์คนหนึ่งของประเทศไทยเป็นผู้ให้ชื่อนี้ ปัจจุบันธรรมรักษากำลังเป็นที่นิยมใช้เป็นไม้ตัดดอกไม้ประดับ ไม้กระถาง และใช้ตกแต่งสถานที่ทั้งในและต่างประเทศ ตามสถานที่โรงแรมใหญ่ หรือสถานที่ต้อนรับมักจะใช้เฮลิโคเนีย หรือดอกธรรมรักษานี้เอง
ธรรมรักษามีชื่อสามัญภาษาอังกฤษเรียกว่า Parrot Beak หรือปากนกแก้ว เป็นไม้ตัดดอกชนิดหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกเป็นไม้ตัดดอกเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นไม้ดอกที่มีสีสันสวยงาม หลายรูปทรง มีอายุปักแจกันได้ยาวนาน ดูแลรักษาง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องโรคและแมลงกัดกิน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น ขยายพันธุ์ได้เร็ว และมีพันธุ์ที่หลากหลายสามารถนำความแปลกใหม่ให้กับตลาด ทำให้ขณะนี้มีเกษตรกรปลูกเฮลิโคเนียเป็นการค้าและมีการส่งออกมากขึ้น
ลักษณะทั่วไปของต้นธรรมรักษา คือ มีลำต้นสูงประมาณ 2 เมตร เป็นไม้อวบน้ำ ยืนต้น มีลำต้นใต้ดินหรือที่เรียกว่า "เหง้า" และมีส่วนของลำต้นเหนือดินที่เรียกว่า "ต้นเทียม" (pseudostem) ประกอบด้วยส่วนของลำต้นและ ใบเมื่อเจริญเต็มที่มักมีช่อดอกแทงออกที่ส่วนกลางของต้นเทียม
ส่วนลำต้นนั้นประกอบด้วยกาบใบ วางซ้อนสลับไปมา มีพันธุ์ที่นิยมปลูกกัน แบ่งง่าย ๆ เป็น 2 แบบคือ แบบช่อตั้ง (upright) ได้แก่ พวกซิตาคอรัม (H. psittacorum) พวกสตริกตา (H. stricta) พวกแองกุสตา (H. angusta) ซึ่งทั้ง สามพันธุ์นี้เป็นเฮลิโคเนียขนาดเล็ก ปัจจุบันทั้ง 3 พันธุ์นี้เป็นที่นิยมตัดดอกขายมากในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีเฮลิโคเนียพวกบอเจียนา (H. bougaeana) พวกบีไฮ (H. bihai) พวกแคริเบีย (H. caribaea) พวกแวกเนอเรียนา (H. wagneriana) พวกอินดิกา (H. indica) เป็นเฮลิโคเนียที่นิยมนำมาจัดสวนเพื่อเพิ่มสีสัน
อีกแบบหนึ่งเรียกว่าแบบดอกห้อย (pendent) ได้แก่ พวกรอสตราต้า (H. rostrata) หรือปากนกแก้ว เป็นเฮลิโคเนียขนาดกลาง ช่อดอกห้อย มีใบประดับมีสีแดง ตอนปลายสีเหลือง ลักษณะคล้ายปากนกแก้ว ออกดอกเป็นฤดู
พวกชาร์เตซี (H. chartacea) เป็นเฮลิโคเนียขนาดกลาง ช่อดอกห้อย เช่นพันธุ์เซ็กซีพิงค์ (Sexy Pink-สีชมพู)
พวกเพนดูลา (H. pendula) เป็นเฮลิโคเนียขนาดกลาง ช่อดอกห้อย เช่น พันธุ์ไบรท์เรด (Bright Red-สีแดงสด ดอกสีขาว) ซึ่งออกดอกได้ตลอดปี
พวกคอลลินเซียนา (H. collinsiana) เป็นเฮลิโคเนียขนาดใหญ่ ความสูง 3.6-4.5 ม. ใบประดับสีแดงเข้ม และมักจะมีนวลสีขาวทั่วไป ซึ่งออกดอกเป็นฤดูกาล
เมื่อหลายสิบปีก่อนคนไทยเราอาจคุ้นเคย กับพรรณไม้ประดับที่มีชื่อว่า "ปักษาสวรรค์" หรือ "Bird of Paradise" ซึ่งมีดอกคล้ายกันกับดอกธรรมรักษามาก จึงมีการเข้าใจผิดนึกว่าเป็นไม้สกุลเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนละสกุล
ปักษาสวรรค์นั้นอยู่ในสกุล "สเตรลิตเซีย" (Streritzia) มีดอกจะมีสีสันคล้ายกับดอกธรรมรักษา แต่ลักษณะของกลีบดอกต่างกัน ปักษาสวรรค์ซึ่งเป็นพืชถิ่นเดิมของแอฟริกา และเรียกดอกปักษาสวรรค์ว่า "Crane Flower" อาจเป็นเพราะว่าลักษณะของดอกคล้ายกับหัวนกกระเรียนที่มีหงอนตั้งขึ้น 4-5 กลีบ
ธรรมรักษาใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับสวยงาม และเพื่อเป็นสิริมงคล เพราะด้วยชื่อ "ธรรมรักษา" มีความหมายไปในทางที่ดี นั่นคือการรักษาในสิ่งที่ดีงาม ดังนั้นจึงหมายถึงการช่วยคุ้มครองรักษาให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง
คนโบราณเชื่อกันว่าหากครอบครัวใดที่ปลูกต้นธรรมรักษาเอาไว้ในบริเวณบ้าน สมาชิกทุกคนภายในบ้านก็จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง แคล้วคลาดจากอันตราย คนในครอบครัวจึงมีแต่ความสงบสุข
นอกเหนือจากนั้นธรรมรักษาอาจใช้เป็นพรรณไม้ที่ใช้เตือนสติของผู้ปลูกให้ระลึกอยู่เสมอว่า "จงประพฤติตนให้อยู่ในศีลในธรรม แล้วธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม" คนรักต้นไม้และปลูกต้นไม้นั้นมีในทุกศาสนา และธรรมก็มีในทุกศาสนา ธรรมของแต่ละศาสนาก็ล้วนสอนให้คนประพฤติดี ปฏิบัติชอบ และมีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นการปลูกธรรมรักษาย่อมจะช่วยเตือนสติให้เราได้รำลึกถึงธรรมในทุกเวลาที่เห็นดอกธรรมรักษาออกดอก
- อ่าน 24,932 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้