• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเรียนของการใช้สารละลายเกลือแร่

ในปัจจุบัน โลกทั้งโลกได้หมุนไปตามทิศทางแห่ง “สุขภาพดีถ้วนหน้าภายในปี 2543 ” ได้เกิดความตื่นตัวและการเคลื่อนไหวในวงการแพทย์และสาธารณะสุขใหม่ๆ มากมาย ผู้เขียนขอทำหน้าที่คอยนำเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง และยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อเท็จจริงจากผู้อ่าน มีข้อเสนอแนะประการใด โปรดจดหมายมาได้

บนเรียนของการใช้สารละลายเกลือแร่

บทความนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก นายแพทย์ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล โรงพยาบาลสูงเนิน นครราชสีมา ทาง “หมอชาวบ้าน” ขอขอบคุณนายแพทย์ไพบูลย์เป็นอย่างมากที่มีส่วนร่วมในคอลัมน์นี้

กว่า 2 ปีที่มีการใช้สารละลายเกลือแร่ (ORT-Oral Rehydration The rapy) ในทุกระดับของระบบสาธารณะสุขของประเทศ อัตราตายจากโรคอุจจาระร่วงในประเทศไฮติ ได้ลดลงอย่างเด่นชัด และยังเป็นการพิสูจน์ว่า การสาธารณสุขมูลฐานในระดับประเทศสามารถปรากฏเป็นจริงได้ด้วยทรัพยากรอันจำกัด

แม้ว่าระบบรายงานสาธารณสุขของไฮติจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กทารก (อายุตํ่ากว่า 1 ปี) ที่เสียชีวิตมีสาเหตุจากเกิดโรคท้องร่วง และร้อยละ 40 ของเด็กตํ่ากว่า 5 ปี ที่เสียชีวิตในแต่ละปีก็มีโรคนี้เป็นเหตุ และ 1 ใน 3 ของเตียง สำหรับผู้ป่วยเด็กอันมีอยู่จำกัดในโรงพยาบาลต่างๆ ของประเทศนี้ ก็ถูกครอบครองด้วยเด็กที่เป็นโรคท้องร่วง

ก่อนหน้าที่จะมีการนำสารละลายเกลือแร่เข้ามาใช้ เด็กโรคท้องร่วงที่สูญเสียนํ้าจากร่างกายในระดับรุนแรง ได้เสียชีวิตไปจำนวนมาก เพราะมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป แม้ว่าได้มีการนำสารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส (ORS-Oral Rehydration Salts) เข้าไปไฮติตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 แต่สารละลายเกลือแร่ก็ไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย บุคลากรสาธารณสุขและชาวบ้านต่างไม่ยอมเชื่อว่า เจ้าสารละลายที่เตรียมได้อย่างง่ายๆ นี้ จะสามารถแก้ปัญหาโรคอันเป็นเสมือนฆาตกรตัวยงของประเทศนี้ได้

การยอมรับสารละลายเกลือแร่

การจัดตั้งหน่วยแก้ไขภาวะขาดนํ้าขึ้นในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปอตูปรินท์ในปี 1980 และการที่อัตราตายจากโรคท้องร่วงลดลงจากร้อยละ 30 เหลือแค่ ไม่ถึงร้อยละ 1 ได้พิสูจน์อย่างชัดแจ้งว่าสารละลายเกลือแร่มีประสิทธิภาพสูงเพียงไรในการรักษาโรคท้องร่วง ในหน่วยแก้ไขภาวะขาดนํ้านี้ แม่จะได้มีโอกาสช่วยดูแลรักษาดูแลลูกของเธอ และเรียนรู้ความสำคัญของการใช้สารละลายเกลือแร่เพื่อรักษาโรคท้องร่วง ซึ่งจะทำให้เธอนำไปใช้ต่อไปที่บ้านอย่างมั่นใจ

ระหว่างปี 1982 เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลชุมชน 15 แห่ง ในไฮติ ได้รับเชิญเข้ามาปฎิบัติงานในหน่วยพิเศษนี้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ พวกเขาได้มีส่วนดูแลผู้ป่วย และร่วมอภิปรายดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งผลของวิธีรักษาแบบต่างๆ สำหรับโรคท้องร่วง เมื่อกลับไปสู่ชุมชน พวกเขาก็ได้จัดตั้งหน่วยที่คล้ายคลึงกันนี้ขึ้นในโรงพยาบาล และจัดแจงถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสารละลายเกลือแร่ไปสู่บุคลากรระดับล่างต่อไป

ในปีเดียวกันนี้เอง รัฐบาลก็ได้ประกาศให้โรคท้องร่วง เป็นปัญหาหลักอันดับแรกของปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ และบุคลากรทุกระดับต้องดำเนินการใช้สารละลายเกลือแร่อย่างจริงจัง ระหว่างเวลา 1 ปี ได้มีการอบรมฟื้นฟูแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวน 2,500 คน ในรูปแบบของการจัดสัมมนาและปฏิบัติจริงในโรงพยาบาลชุมชน

การสนับสนุนการใช้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส แก่ชุมชน

รัฐได้กำหนดราคาขายที่ตํ่า (15 เซ็นต์/ซอง) เพื่อให้ชุมชนสามารถซื้อได้ และกำหนดให้ร้านค้าประจำหมู่บ้าน, หมอแผนโบราณ, ผู้นำชุมชน, สถานีตำรวจและค่ายทหาร, ครูและอาสาสมัคร เป็นผู้แทนจำหน่ายสารละลายเกลือแร่ ตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้ได้รับสารละลายเกลือแร่มาในราคา 10 เซนต์/ซอง คราวละ 50 ซอง ทั้งนี้ผู้ขายจะได้กำไร 5 เซนต์ เพื่อเป็นค่าตอบแทนภายใน 1 ปี ก็มีตัวแทนจำหน่ายชนิดนี้ถึง 2,000 ราย

การโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ใช้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส

ได้มีการรณรงค์ส่งเสริมการใช้สารละลายเกลือแร่ ในระดับทั่วประเทศโดยอาศัยวิธีการ 2 แบบ คือ ผ่านสื่อมวลชนทุกชนิด และการฝึกอบรมสมาชิกชุมชน

ทางสื่อมวลชน ได้มีการชักชวนให้ธุรกิจเอกชนจัดเตรียมสื่อเพื่อการรณรงค์หลายรูปแบบ เพื่อกระจายข่าวว่า สารละลายเกลือแร่นั้นช่วยชีวิตคนได้จริง

ในเดือนกรกฎาคม 1983 ประธานาธิบดีได้ริเริ่มการรณรงค์ต่อสาธารณชนโดยผ่านสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ ในวันพิเศษที่เรียกว่า “วันแห่งนํ้าดื่มช่วยชีวิต” ได้มีการให้ข่าววิทยุ, โปสเตอร์สี, ใบโฆษณาและใบปลิว เพื่อกระจ่ายข่าวเกี่ยวกับสารละลายเกลือ

บทบาทของชุมชน

การสนับสนุนทางการเมืองอย่างหนักแน่นโดยผู้นำระดับสูง ได้ส่งเสริมให้เกิดการเรียกร้องต่อทุกภาคของชุมชนให้เข้ามาร่วมมือในการรณรงค์ ได้มีการอบรมความรู้ภายใน 1 วัน วันแก่ครูตามโรงเรียนต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ทหาร และหมอแผนโบราณในโอกาสประชุมตามปกติ

ความสำเร็จของการรณรงค์

ภายใน 6 เดือน ของการรณรงค์ ได้เกิดการเพิ่งพูนความรู้แก่ชุมชน จากเดิมที่มีคนรู้เรื่องนี้เพียงร้อยละ 5 ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในเขตชนบท และเกินกว่าร้อยละ 50 ในเขตเมือง การใช้สารละลายเกลือแร่ได้กลายเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคท้องร่วงในโรงพยาบาลของรัฐ, คลินิกเอกชน, และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งของไฮติ เมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทุกระดับ ได้ตระหนักถึงผลกระทบในการลดอัตราตายของโรคท้องร่วง อันเนื่องมาจากความพยายามของพวกเขา ก็ได้ปรับปรุงระบบติดตาม และรายงานการใช้สารละลายเกลือแร่อย่างเต็มที่

เป็นครั้งแรกที่บุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่ ได้ส่งรายงานประจำเดือนของพวกเขาไปให้แก่หน่วยงานระดับอำเภอ และส่งต่อไปยังระดับชาติอีกรายงานประจำทุก 4 เดือน ได้ทำให้ทราบถึงจำนวนการขายสารละลายเกลือแร่จำนวนของบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมและการลดลงของจำนวนผู้เสียชีวิตเพราะโรคท้องร่วง การประเมินผลอย่างเป็นทางการคงจะปรากฏออกมาในปลายปี 1984 เมื่อนั้นแหละ ผลการกระทบต่อการตายโดยเฉพาะของชุมชนชนบทจะเป็นที่ประจักษ์ชัด

สุขภาพดีถ้วนหน้า

หลังจากที่ได้มีการวางแผน, ลงมือปฏิบัติ และเฝ้าติดตามโครงการนี้ในระดับชาติแล้ว กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ขายโครงการอื่นลงสู่การสาธารณสุขมูลฐานต่อไป โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้รับการขยายในปี 1984 และในปี 1985จะได้มีการค้นหาและรักษาผู้ป่วยวัณโรค

การนำเอาสารละลายเกลือแร่มาใช้ ไม่เพียงแต่สามารถควบคุมโรคท้องร่วงอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ได้ให้รูปแบบของกลวิธีสาธารณสุขมูลฐานแก่ไฮติด้วย

ข้อคิด

จะเห็นได้ว่าบนเรียนจากไฮตินี้ คือ ตัวอย่างที่พิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของกลวิธีสาธารณสุขมูลฐาน ในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของชาติ กล่าวคือ ได้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม คือ สารละลายเกลือแร่ที่ใครๆ ก็เตรียมขึ้นใช้เองได้ และราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคท้องร่วง ได้มีการระดมขุมกำลังชุมชนทุกระดับ เช่น ภาคธุรกิจเอกชน, ครู, ทหาร, ตำรวจ, ชาวบ้าน เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหานี้ และที่สำคัญมากก็คือ การที่ผู้นำระดับสูงของประเทศ ได้ให้ความสำคัญถึงขั้นกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ และประธานาธิบดีได้เป็นผู้นำในการปลุกเร้าชุมชน ให้ตื่นตัวมาช่วยกันแก้ปัญหาด้วยตนเอง

ข้อมูลสื่อ

73-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 73
พฤษภาคม 2528
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ