แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเอง หากได้ทำความรู้จัก “ภาษาหมอ” ก็จะทำให้เราสื่อสารกับหมอได้ดียิ่งขึ้น คอลัมน์นี้จึงขอแนะนำ “ภาษาหมอ” เดือนละคำสองคำ
ทีบี / เอกซเรย์
“คุณป้าเป็นไข้ ไอออกเป็นเลือดและซูบผอมลงแบบนี้ สงสัยว่าจะเป็น ทีบี หมอจึงส่งไป เอกซเรย์ ดูให้แน่ใจ”
ภาษาหมอในประโยคนี้ มีอยู่ 2 คำที่อาจคุ้นหูคุ้นตาผู้อ่านมาบ้างแล้ว นั่นคือ ทีบี กับ เอกซเรย์
- ทีบี (TB)
เป็นคำย่อของ Tuberculosis (อ่านว่า ทูเบอร์คูโลซิส) แปลว่า วัณโรค (อ่านว่า วัน-นะ-โรค ไม่ใช่ วัน-ละ-โรค) โรคนี้เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง มักเกิดกับปอดเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านจึงอาจเรียกว่า โรคปอด
สมัยก่อนไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เป็นแล้วถ้าร่างกายแข็งแรงก็จะค่อยๆ หายไปได้เอง แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอก็จะซูบผอมลงเรื่อยๆ จนตายไป และมักมีอาการไอออกเป็นเลือด คนสมัยก่อนเข้าใจว่าเกิดจากมีฝีอยู่ในท้อง จึงเรียกว่า โรคฝีในท้อง ดังนั้น ทีบี วัณโรค โรคปอด และฝีในท้อง จึงหมายถึงโรคเดียวกัน
โรคนี้สามารถติดต่อกันอย่างง่ายดาย โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน แล้วรับเชื้อจากละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ หรือหายใจรดใส่ ในปัจจุบันมียารักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องกินยาติดต่อกันนาน 18-24 เดือน และมีวัคซีนฉีดป้องกัน ซึ่งจะฉีดให้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด วัคซีนนี้มีชื่อว่า บีซีจี ถ้าสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ หมอจะส่งไปตรวจเอกซเรย์ปอด และตรวจเสมหะดูว่ามีเชื้อวัณโรคหรือไม่
- เอกซเรย์
(เขียนตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ.2525 อ่านออกเสียงว่า เอ๊ก-ซะ-เร) เป็นวิธีการตรวจโรควิธีหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เห็นรอยโรคภายในร่างกาย เช่น รอยฝีหรือรอยอักเสบในปอด, รอยกระดูกหัก, ก้อนนิ่วต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะถ่ายออกมาเป็นภาพเหมือนการถ่ายรูป เรียกว่า ภาพรังสี (ภาพเอกซเรย์)
การถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์) อาจถ่ายแบบธรรมดาๆ หรือมีกรรมวิธีเพิ่มเติม เช่น การถ่ายดูแผลหรือมะเร็งในกระเพาะลำไส้ หมอมักจะให้กลืนแป้งแบเรียม (Barium Sulfate) ซึ่งเป็นสารทึบแสง ช่วยให้เห็นรอยโรคได้ชัดขึ้น หรือการตรวจดูการทำงานของไต หมออาจฉีดยาซึ่งเป็นสารทึบแสงเข้าไปก่อนที่จะถ่ายภาพรังสี เป็นต้น และที่ทันสมัยที่สุด ก็คือ การใช้คอมพิวเตอร์มาช่วย เรียกว่า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การค้นพบวิธีตรวจโรคเอกซเรย์ ทำให้การแพทย์ก้าวกระโดดไปไกลและเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างใหญ่หลวง แต่อย่างไรก็ตาม เอกซเรย์ก็มีประโยชน์และข้อบ่งใช้อันจำกัด เช่นเดียวกับเครื่องมือแพทย์ และวิธีตรวจอื่นๆ (อ่านเรื่อง “ตรวจเลือด” และ “สเต๊ท” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 73 และ 74 ตามลำดับ) ไม่ใช่ว่าจะบอกโรคได้หมดทุกอย่าง หมอจะเลือกใช้เมื่อจำเป็นเฉพาะโรคบางอย่างเท่านั้น มิใช่ ปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง ท้องเดิน ก็ขอเอกซเรย์เรื่อยไป
ที่หนักยิ่งกว่านั้น ชาวบ้านบางคนมีความเข้าใจผิดๆ ว่า เอกซเรย์เป็นวิธีการรักษาโรคได้สารพัด เวลาหาหมอจะขอเอกซเรย์ ถ้าไม่เอกซเรย์แล้วโรคไม่หายเสียที พอหมอเอกซเรย์ให้ตามใจหวัง ก็หายดังปลิดทิ้ง นี่เรียกว่า โรคเอกซเรย์ขึ้นสมอง คงได้กระมัง
- อ่าน 2,261 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้