การรักษาโรคอุจจาระร่วง ด้วยสารน้ำทางปาก
อุจจาระร่วงเป็นอาการแสดงความผิดปกติในระบบการย่อย การดูดซึมที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ สารพิษ และการแพ้อาหาร
เมื่อเกิดอุจจาระร่วงทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและขาดอาหาร ทั้งนี้เพราะเมื่อเกิดอุจจาระร่วงแล้วจะทำให้
ก. เกิดการสูญเสียโดยตรง คือ มีการเสียของเหลวจากร่างกายออกไปทางอุจจาระ
ข. กินอาหารไม่พอกับความต้องการของร่างกาย ในช่วงท้องร่วงนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร หรือบางคนตั้งใจอดอาหาร เพราะคิดว่าลำไส้ทำงานไม่ปกติก็งดอาหาร เพราะเชื่อว่าอดอาหารแล้วลำไส้จะได้พัก
ค. การย่อยและการดูดซึมลดลง อาหารที่กินเข้าไปจะย่อยได้น้อย จะเคลื่อนย้ายจากกระเพาะผ่านลำไส้เล็กไปสู่ลำไส้ใหญ่เร็วกว่าปกติมาก ลำไส้มีโอกาสดูดซึมอาหารได้ลดลง
ง. พลังงานในร่างกายถูกใช้เพิ่มขึ้น การเจ็บป่วย มีไข้ ร่างกายนำอาหารที่สะสมไว้ในร่างกายมาใช้เพิ่มขึ้น
เมื่อกลไกทั้งสี่เกิดขึ้นกับใครก็ตามและมิได้รักษาให้ถูกต้อง จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และอาจเป็นมากถึงช็อก และถ้าเป็นหลายวันหรือเรื้อรังจะเกิดการขาดอาหาร ภาวะขาดน้ำและช็อกทำให้เสียชีวิตได้ ภาวะขาดอาหารถ้ามีโรคติดเชื้อเข้าแทรกทำให้เสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน
ผู้ป่วยที่เป็นโรคอุจจาระร่วงและเกิดภาวะขาดอาหารรุนแรงเสียชีวิตได้หนึ่งรายในสามราย
จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2523 มีผู้ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงทั้งหมด 224,477 ราย ตาย 422 ราย แสดงให้เห็นว่าโรคอุจจาระร่วงเป็นปัญหาและเป็นสาเหตุของการตายที่สำคัญ ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โรคอุจจาระร่วงเป็นสาเหตุของการตายเป็นอันดับที่ 2 และโรคขาดอาหารก็เป็นหนึ่งใน 10 โรคแรก ที่เป็นสาเหตุของการตายในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
ในด้านอุบัติการของโรคอุจจาระร่วงนั้น ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะเป็นโรคอุจจาระร่วงกันเฉลี่ย 1.87* หรือประมาณ 2 ครั้งต่อปี ถ้าคิดประชากรเด็กจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2522 เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มีประมาณ 6 ล้านคน เด็กกลุ่มนี้จะเกิดโรคอุจจาระร่วงกันประมาณ 12 ล้านครั้งต่อปี
อุบัติการของโรคและอัตราตายจากโรคอุจจาระร่วงยังสูงอยู่ นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมาย**ในการควบคุมอุจจาระร่วงไว้โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. ลดอัตราตายในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยการให้สารน้ำทางปาก
2. ลดอัตราเกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก เน้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้อาหารเสริมที่เหมาะสมและเตรียมขึ้นอย่างถูกสุขลักษณะ
การให้สารน้ำทางปาก
สารน้ำที่มีสูตรครบสมบูรณ์และได้ทดลองใช้เป็นที่ยอมรับกันว่าได้ผลดีในการแก้ไขภาวะขาดน้ำที่เกิดจากโรคอุจจาระร่วง จากสาเหตุใดก็ตาม คือ ผงน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟได้สนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้ในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
สำหรับประสิทธิภาพของการรักษาภาวะขาดน้ำด้วยสารน้ำทางปากในผู้ป่วยเด็กนั้น ได้มีการศึกษาประเทศไทยหลายแห่งและรายงานว่าได้ผลดีเท่ากับการให้น้ำเกลือเข้าหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำปานกลาง ส่วนผู้ป่วยที่ขาดน้ำมากและช็อกนั้น การให้น้ำเกลือเข้าหลอดเลือดยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ในรายที่ไม่ช็อก การให้สารน้ำทางปากสามารถทดแทนการให้น้ำเกลือเข้าหลอดเลือดได้ร้อยละ 94-97 ที่ต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด มีร้อยละ 3-6 เท่านั้น
วิธีการให้สารน้ำทางปากจึงเป็นวิธีที่ประหยัดและปลอดภัย
การให้สารน้ำทางปากนี้ได้ใช้กันแพร่หลายมาก จึงทำให้ความต้องการของผงน้ำตาลเกลือแร่มีมากกว่าที่รัฐจะผลิตตอบสนองความต้องการได้ทัน เป้าหมายของการใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่จึงควรเป็นกลุ่มที่ขาดน้ำ และต้องการทดแทนด้วยเกลือแร่ที่มีสูตรสมบูรณ์และการรักษาเช่นนี้ควรจะอยู่ที่สถานบริการสาธารณสุขในชุมชน เป็นส่วนของการรักษาบำบัดเฉพาะราย
การลดอัตราการป่วยหนักด้วยโรคนี้ ควรมุ่งอยู่ที่การรักษาอาการอุจจาระร่วงตั้งแต่ระยะแรกๆ ที่บ้านซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพของประชาชนในระบบสาธารณสุขมูลฐาน ในข้อที่ว่าด้วยการที่ชาวบ้านสามารถดูแลรักษาการเจ็บป่วยง่ายๆ ด้วยตนเองได้
วิธีทำสารน้ำเตรียมเองที่บ้าน
โรคอุจจาระร่วงนั้นเป็นโรคที่หายเองได้ การให้สารน้ำทางปากจะช่วยป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดน้ำ และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้ย่อยและดูดซึมอาหารได้ตามปกติเร็วขึ้น
สารน้ำพวกนี้ควรประกอบด้วย เกลือ น้ำตาล และน้ำ
ชาวบ้านสามารถเตรียมขึ้นเองง่ายๆ ได้แก่ น้ำข้าวใส่เกลือ น้ำชาใส่น้ำตาล น้ำมะตูม หรือน้ำต้มเปลือกฝรั่งใส่น้ำตาล และน้ำเกลือผสมแบบชาวบ้าน
ที่สำคัญก็คือ สารน้ำที่ผสมขึ้นนั้นต้องมีเกลือและน้ำตาลในสัดส่วนที่พอเหมาะ
สำหรับการตวงวัดสัดส่วนของเกลือและน้ำตาล สำหรับใช้ในบ้านเรานั้น คือ ช้อนแกง (ที่มีทั่วไปเป็นช้อนสังกะสี) และขวดน้ำปลากลม (ขนาด 750 มิลลิลิตร)
นำช้อนสังกะสีมาเจาะรูให้ห่างจากปลายสุดของด้านช้อนลึกเข้ามาเท่าข้อสุดท้ายของนิ้วก้อยผู้ใหญ่ (ปลายก้อย) ปลายช้อนนี้ไว้ตวงเกลือเมื่อใช้เกลือป่น
ให้ใช้ปลายช้อนตักเกลือให้เต็มจนถึงรูที่เจาะไว้ 2 ปลายช้อน (เท่ากับ 2 ปลายก้อย) เกลือที่เกินรูจะร่วงทางรู ป้องกันการตวงเกลือมากเกินต้องการ
ถ้าท่านมีช้อนและขวดน้ำปลาล้างสะอาดก็สามารถเตรียมสารน้ำต่างๆ ได้ดังนี้
1. น้ำข้าวใส่เกลือ
น้ำข้าว 1 ขวด (น้ำปลา) ใส่เกลือ 2 ปลายช้อน น้ำข้าวใส่เกลือนี้ได้มีผู้พิสูจน์แล้วว่าทำให้หยุดถ่ายได้เร็ว และป้องกันการขาดอาหารได้ดี (ดูรูป)
2. น้ำต้มสุก น้ำชาจางๆ น้ำมะตูม หรือน้ำต้มเปลือกต้นฝรั่ง ใส่เกลือใส่น้ำตาล
เกลือ 2 ปลายช้อน (2 ปลายก้อย) น้ำตาล 2 ช้อนแกง ใส่ขวด(น้ำปลา) เติมน้ำร้อนเขย่าให้ละลาย เติมน้ำสะอาดจนถึงคอขวด
จะเริ่มกินสารน้ำกันเมื่อไร
เมื่อเกิดอาการอุจจาระร่วงนั้น คือ
1. ถ่ายเหลว 3 ครั้งใน 1 วัน
2. ถ่ายเหลวมีมูก หรือเลือดปน 1 ครั้ง
3. ถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้ง
ควรดื่มสารน้ำเท่าไร
ในช่วงแรกให้ดื่มตามต้องการประมาณ หนึ่งส่วนสี่ถึงครึ่งขวด (1/4-1/2 ขวด) ในทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนครึ่ง-1 ขวด ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปี ผู้ใหญ่ 1-3 ขวด หรือให้ดูว่าเมื่ออาการกระหายน้ำหายไปแล้ว ถ้าเป็นเด็กจะนอนหลับไปแสดงว่า ดื่มสารน้ำพอกับความต้องการ
กินอาหารปกติได้เมื่อไร
กินสารน้ำ 4 ชั่วโมง แล้วเริ่มอาหารที่ย่อยง่ายๆ รสไม่จัดได้ เด็กที่กินนมแม่ ให้กินนมแม่ได้หลังดื่มสารน้ำ 2 ชั่วโมง เด็กกินนมผสมให้กินผสมปกติได้ครั้งน้อยๆ ในช่วงวันแรกนี้ ยังมีถ่ายอุจจาระเหลวอยู่บ้าง ให้กินสารน้ำระหว่างมืออาหารด้วย
ต้องกินยาแก้ท้องเสียหรือไม่
จากการศึกษาการรักษาอาการอุจจาระร่วงด้วยสารน้ำต่างๆ ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยการวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุขโดยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลกได้แสดงให้เห็นว่า
ถ้าชาวบ้านเกิดโรคอุจจาระร่วงและดื่มสารน้ำที่เตรียมขึ้นเองที่บ้านแล้ว อาการท้องร่วงจะหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา
มีรายที่เป็นไข้ ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือปวดท้อง จึงต้องใช้ยารักษาจำเพาะ
จากการศึกษานั้นได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาด้วยสารน้ำทางปากตั้งแต่ระยะแรกๆ เมื่อเกิดโรคอุจจาระร่วง แล้วอาการจะดีขึ้นและหายได้โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
การรักษาโรคอุจจาระร่วงด้วยการดื่มสารน้ำต่างๆ ที่เตรียมขึ้นที่บ้าน เป็นการรักษาโรคที่ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตนเอง อันเป็นส่วนเสริมการดูแลสุขภาพของระบบสาธารณสุขมูลฐานที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นนั้น
- อ่าน 5,653 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้