• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน

โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน

แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ The Acupressure Health Book โดย Frank Bahr. M.D.

ความรู้เรื่องการกดจุดเป็นของเก่าแก่และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในยุโรป Dr.Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับนำมาเผยแพร่แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เพราะกดจุดก็คือ ศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี แต่การกดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็ม ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเข็มเหมือนฝังเข็ม และไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษาทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร

วัยใกล้หมดประจำเดือนหรือวัยหมดประจำเดือน เริ่มเมื่ออายุประมาณ 45-50 ปี ผู้หญิงจำนวนมากจะพบกับความรู้สึกที่ไม่สบายต่างๆ นานา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนกระทั่งเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ร่างกายของเขาก็จะปรับตัวเองเข้ากับภาวะที่ระดับของฮอร์โมนเพศลดลงได้ ในกรณีนี้การกดจุดจะช่วยบรรเทาอาการทั้งหลายของหญิงวัยหมดประจำเดือนได้ มีข้อเตือนใจคุณผู้หญิงสักเล็กน้อยว่า โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยก็จริง แต่ก่อนอื่นท่านควรจะให้แพทย์ได้ตรวจอาการให้แน่ใจก่อน ว่าไม่ใช่เป็นโรคทางกายร้ายแรงใดๆ และจากนั้นท่านก็สามารถกดจุดบรรเทาอาการได้

อาการ

ปวดมึนศีรษะหรือวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดบ่อย ใจสั่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย จุกแน่นท้อง ท้องผูก ชาตามมือ ตามเท้า หงุดหงิด โมโหง่าย หรือเหงื่อออกตามมือและมีอาการแปลกๆ เช่น ร้อนในท้อง ซู่ซ่าตามมือและเท้า เจ็บหน้าอก (บ่นเจ็บหน้าอกไม่เป็นเวลา อยู่เฉยๆ หรือเวลานอนก็เจ็บ ออกกำลังกายหรือทำอะไรเพลินๆ ก็หายเจ็บ) อาการที่สำคัญและพบได้ทุกคน คือ นอนไม่หลับ และวิตกกังวล

สาเหตุ

การตกไข่ของผู้หญิงจะเริ่มประมาณช่วงอายุ 12-14 ปี ตามมาด้วยการมีรอบเดือน หรือมีประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ และประจำเดือนจะสิ้นสุดลงเมื่ออายุประมาณ 48-52 ปี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะหมดฮอร์โมนไปด้วย เพียงแต่ฮอร์โมนในระยะหลังหมดประจำเดือนจะมีปริมาณไม่มากเหมือนเมื่อก่อน และสิ่งนี้เองจะนำไปสู่อาการต่างๆ ที่เราเรียกว่า อาการของหญิงวัยหมดประจำเดือน

ในรายที่มีอาการมากจนเป็นเหตุให้ร่างกายทรุดโทรม แพทย์จะสั่งยาฮอร์โมนเพิ่มให้รับประทาน ฉะนั้น ควรจะได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อนกดจุดรักษาอาการ และเมื่อท่านได้กดจุดรักษาร่วมกับการรักษาของแพทย์ จะทำให้อาการดังกล่าวหายเร็วขึ้น

การกดจุดที่ร่างกาย

1. จุด “สั้งเจี้ยว” (Shang Chiao)

วิธีหาจุด :

อยู่บริเวณก้นมองเห็นรอยบุ๋มสองอันทั้ง 2 ข้างของแก้มก้น (บริเวณกระดูก Sacrum)

วิธีนวด :

นวดลงล่าง

 

 

 

2. จุด “มิ่งเหมิน” (ming-men)

วิธีหาจุด :

อยู่ระหว่างกระดูกบั้นเอวอันที่ 2 และ 3 (กระดูก Lumbrae)

วิธีนวด :

นวดขึ้นบน

 

 

 

3. จุด “เส่าจ๋อ” (Shao-cho)

วิธีหาจุด :

ปลายนิ้วก้อยด้านในระดับโคนเล็บ

วิธีนวด :

นวดจากจุดด้านในอ้อมลงล่างมายังด้านตรงข้าม (ขอบนอกของนิ้วก้อย)

 

4. จุด “หลี่” (Tung-li)

วิธีกดจุด :

บริเวณท้องแขนแนวเดียวกับนิ้วก้อย จุดจะอยู่ต่ำกว่าฐานของฝ่ามือ ประมาณ 2 นิ้วมือ

วิธีนวด :

นวดในทิศทางเข้าหานิ้วก้อย

 

การกดจุด

หูขวา

1. จุดเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก

วิธีหาจุด :

อยู่ข้างๆ ร่องของสันหูส่วนที่โผล่ออกมาจากแอ่งหู

วิธีนวด :

นวดขึ้นไปตามแนวสันหู
 

 

 

2. จุดเกี่ยวกับการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Pituitary gland)

วิธีหาจุด :

อยู่ที่ส่วนล่างสุดของแอ่งหูติดกับใบหูส่วนล่างมี 2 จุดใกล้ดูรูปประกอบ

วิธีนวด :

นวดขึ้นบนและเอียงไปด้านหลังเล็กน้อย
 

หูซ้าย

นวดในตำแหน่งเดียวกับหูขวา แต่ทิศทางในการนวดตรงข้าม

 

 

การรักษา

การกดจุดที่ใบหูและร่างกายควรทำสลับวัน นวดวันละ 5-10 นาที เมื่ออาการดีขึ้นอาจจะลดการรักษาด้วยฮอร์โมน แต่แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรจะลดหรือไม่ อาการของหญิงวัยหมดประจำเดือนอาจจะเกิดกับผู้ชายได้ เรียกว่า “Male menopause” ก็ใช้จุดดังกล่าวนี้รักษาเช่นเดียวกัน

ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย มือที่จะกดจุดไม่ควรจะเย็น ถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าห่มมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่าย อาจจะโลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่างทำการกดจุด บางรายอาจมีเหงื่ออกมาก ควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. ในวันที่อากาศหนาวเย็น เมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อย ก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น

ข้อแนะนำก่อนกดจุด

1. การกดจุด หมายถึง การนวดจุดนั้นๆ โดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปทีแสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูแจจะใช้กระจกส่องช่วยหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆ นั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับผิวหนัง และนวดไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้งต่อ10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ, ปากกามนๆ นวดได้ เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดจุดแต่ละครั้งไว้ ดังนี้

  • เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½ -3 นาที
  • เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
  • เด็กโตตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
  • ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ข้างขวาและซ้าย)

8. ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วของผู้กดจุดเอง

ข้อมูลสื่อ

75-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 75
กรกฎาคม 2528
ลลิตา อาชานานุภาพ