• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้รูห์มาติคโรคข้ออักเสบในเด็ก

ไข้รูห์มาติคโรคข้ออักเสบในเด็ก

 

                              


ชื่อนี้คงคุ้นหูคุ้นตาคุณผู้อ่านที่ติดตาม “หมอชาวบ้าน” มาตั้งแต่แรก เพราะทุกครั้งที่กล่าวถึงโรคต่อมทอนซิลอักเสบ (ไข้เจ็บคอ) หรือโรคลิ้นหัวใจพิการ เรามักจะพูดถึง ไข้รูห์มาติค ควบคู่ด้วยเสมอ
ทำไมหรือครับ ?
ทั้งนี้ก็เพราะว่า ต่อมทอนซิลอักเสบ อาจทำให้เกิดไข้รูห์มาติคและไข้รูห์มาติคอาจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจพิการทั้ง 3 โรคนี้ เกี่ยวเนื่องกันเหมือนลูกโซ่เชียวแหละครับ

กล่าวคือ คนที่เป็นไข้เจ็บคอต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง (ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า เชื้อเบต้าสเตร็ปโตคอดคคัส กลุ่มเอ) 100 คนถ้าไม่ได้รักษาหรือรักษาไม่เต็มที่ (เช่น กินยาไม่ครบกำหนด) อาจมี 3 คนที่จะกลายเป็นไข้รูห์มาติค ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นในเด็กอายุ 5 ปี ถึง 15 ปี เด็กที่เป็นไข้รูห์มาติค จะมีการอักเสบของข้อต่อกระดูกต่าง ๆ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อมือ ข้อศอก ทำให้มีอาการ ตัวร้อน ปวดข้อ ข้อบวมแดง เมื่อคลำดูข้อที่อักเสบนั้นจะรู้สึกร้อนกว่าปกติ

ลักษณะพิเศษ ที่แตกต่างจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ ก็คือมักจะอักเสบที่ข้อใหญ่ ๆทีละ 1 ถึง 2 ข้อ พอข้อหนึ่งเริ่มหาย ก็เลื่อนไปอักเสบยังอีกขัอหนึ่ง หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ เรียกว่า อาการปวดข้อแบบเลื่อนที่ ชาวบ้านเรามักเข้าใจว่าถูกคุณ จึงเรียนกว่าลมเพลมพัด ถ้าไม่ได้รับการรักษามักจะมีการอักเสบของข้อนานเป็นแรมเดือน จนลุกเดินไม่ได้ และในที่สุด แม้จะไม่ได้รับการรักษาอาการข้ออักเสบนั้นก็จะหายเองได้จนไม่เหลือร่องรอยของความพิการ สามารถเดินเหินทำงานได้เหมือนปกติ

แต่ความสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ข้อ แต่อยู่ที่หัวใจ เพราะในเวลาเดียวกันนั้น อาจจะมีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วยถ้าการอักเสบของหัวใจไม่รุนแรง ก็จะค่อย ๆ หายได้เองแต่ถ้ารุนแรง อาจทำให้หัวใจวาย ทำงานไม่ได้ และอาจตายในเวลาไม่นานในคนบางคนที่โชคร้ายส่วนคนที่หายจากไข้รูห์มาติคครั้งแรก ต่อไปเมื่อมีการอักเสบของต่อมทอนซิลซ้ำ ๆ ซาก ๆก็จะเกิดอาการของไข้รูห์มาติคซ้ำ ๆ ซาก ๆ เมื่อเกิดไข้รูห์มาติคซ้ำ ๆ ซาก ๆ ลิ้นหัวใจก็จะเกิดความพิการ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่วความพิการนี้จะค่อย ๆลุกลามขึ้นเรื่อย ๆ นาน 5 ปี 10 ปี จนในที่สุด กลายเป็น โรคลิ้นหัวใจพิการ (หมอเราเรียกว่า โรคหัวใจรูห์มาติค ) ทำให้ทำงานไม่ไหว เจ็บออด ๆ แอด ๆ กลายเป็นคนกึ่งพิการ ต้องอาศัยยารักษาโรคหัวใจไปเรื่อย ๆ และอายุมักสั้น ถ้าเป็นมาก ๆ อาจถึงกับต้องผ่าตัดถ่างลิ้นหัวใจที่ตีบให้ขยายบางคนถึงกับต้องใส่ลิ้นหัวใจเทียม (ทำจากโลหะ) แทน ซึ่งราคาเป็นหมื่น ๆ บาท

เคล็บลับในการป้องกันไม่ให้เป็นโรคลิ้นหัวใจพิการ ก็คือ เมื่อเริ่มมีอาการตัวร้อนร่วมกับปวดบวมตามข้อ ควรปรึกษาหมอ หมอตรวจแล้วพบว่าเป็นไข้รูห์มาติคจริง หมอจะให้ยาประเภทเพนนิซิลิน (อาจให้ชนิดฉีดเดือนละเข็ม หรือชนิดกินทุกวัน) ป้องกันไม่ให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบซ้ำอีก ยานี้จะให้ติดต่อกันนาน 5 ปี 10 ปี 20 ปี จนกว่าหมอจะเห็นว่าปลอดภัย
ข้อนี้อาจทำได้ยาก แต่ถ้าคิดถึงผลเสียของการเป็นโรคลิ้นหัวใจพิการแล้ว ย่อมคุ้มค่ากว่ากันมากใช่ไหมครับ ?

การป้องกันโรคลิ้นหัวใจพิการที่ดียิ่งไปกว่านั้น ก็คือ เมื่อเป็นไข้เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง ควรกินยาเพนนิซิลลินฆ่าเชื้อหนอง ติดต่อกันอย่างน้อย 10 วัน (ในเด็กหมออาจให้ชนิดฉีดเพียง 1 เข็ม) ก็จะช่วยป้องกันมิให้เป็นไข้รูห์มาติค เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม.
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

38-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 38
มิถุนายน 2525
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ