• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษาโรคนอนไม่หลับโดยการนอนให้น้อย

การรักษาโรคนอนไม่หลับโดยการนอนให้น้อย

วิธีที่ไม่ต้องใช้ยาและทำได้ด้วยตนเอง

อ่านดูแล้วก็ประหลาดดี นอนไม่หลับแล้วกลับจะให้นอนน้อยลง จะไม่ยิ่งแย่ลงไปอีกหรือ แต่เขาก็ทดลองกัน (แล้วพบว่าได้ผลดี) ณ ศูนย์การวิจัยเรื่องความผิดปกติเกี่ยวกับการหลับและตื่น ซึ่งตั้งอยู่เมืองนิวยอร์ค ในอเมริกา มีการทดลองรักษาโรคนอนไม่หลับ

คนที่นอนไม่หลับ จะเสียเวลานอนกระสับกระส่ายบนเตียงอยู่นานหลายชั่วโมงกว่าจะหลับได้ (หรือไม่หลับเอาเลย) ดังนั้นเมื่อบวกลบเวลานอนกันแล้ว ก็มักจะพยายามเข้านอนไห้เพียงพอ ผลก็คือ ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับทั้งหลาย ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานอนบนเตียงนานถึง 10-11 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่นอนหลับจริงๆ เพียง 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น

ที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ จิตแพทย์จึงได้ทดลองรักษาคนที่เป็นโรคนอนไม่หลับ จำนวน 35 คน ใช้เวลาทดลองนาน 2 เดือน เริ่มต้นให้คนไข้จดบันทึกว่าเข้านอนและตื่นนอนเวลาเท่าไหร่ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วคำนวณออกมาว่าโดยเฉลี่ยๆ แล้ว คนๆ นั้นควรจะมีเวลานอนหลับนานกี่ชั่วโมงต่อหนึ่งคืน

ต่อจากนั้นเขาก็เริ่มทดลองกับคนไข้ เช่น คนไข้คนหนึ่งจดบันทึกออกมาได้ว่า เขาต้องใช้เวลานอนบนเตียงนานถึง 9 ชั่วโมง คือ เขาจะเข้านอนเวลาประมาณโมงเช้า แต่ประมาณว่าหลับได้จริงๆ นานเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น จิตแพทย์ก็จะทดลองโดยกำหนดว่า คนไข้รายนั้นควรมีเวลานอนหลับ 5 ชั่วโมงก็พอ เพราะฉะนั้นให้เข้านอนตี 2 แทนที่จะเป็น 4 ทุ่มอย่างเดิม แต่มีข้อแม้ 2 อย่าง คือ จะต้องตื่นนอนตรงเวลาเดิม คือ ประมาณโมงเช้า ไม่ใช่เวลานอนจนตื่นสายขึ้นไปอีก และห้ามแอบงีบหรือนอนกลางวันเด็ดขาด

ทุกๆ 5 วัน เขาจะประเมินผลการทดลองนี้ ว่าประสิทธิภาพการนอนหลับของคนไข้เป็นอย่างไร โดยคำนวณอย่างนี้

ประสิทธิภาพการนอนหลับ = เวลาที่เป็นชั่วโมงที่ตัวเองนอน/เวลาเป็นชั่วโมงที่ใช้นอนทั้งหมด x 100

เช่น ถ้าเข้านอนสองยาม และหลับจริงๆ ประมาณตีสอง ตื่น 7 โมงเช้า

ประสิทธิภาพการนอนหลับของคนๆ นี้จะ = 5/7 x100

= ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์

ถ้าประสิทธิภาพนี้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ให้คนไข้รายนั้นเข้านอนได้เร็วขึ้น 15 นาที แต่ถ้าประสิทธิภาพอันนี้น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ให้ลดเวลา นอนบนเตียงลง 15 นาที (เช่น เข้านอนดึกขึ้นกว่าเดิม 15 นาที) ทำอย่างนี้ทุกๆ 5 วัน

ผลการทดลองเมื่อครบ 2 เดือนปรากฏว่าร้อยละ 86 ของคนไข้ 35 คน ซึ่งมีตัวอย่างอยู่ 2 ราย รายหนึ่งนอนไม่หลับมานาน 15 ปี กับอีกคนเป็นโรคนอนไม่หลับมานานถึง 40 ปี สามารถนอนหลับได้นานขึ้น และหลับสนิทดีมากขึ้น หลังจากนั้นอีก 6 เดือน เขาติดตามดูก็พบว่ายังดีเหมือนเดิม บางคนนอนหลับดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วยช้ำ

จิตแพทย์คนที่วิจัยเรื่องนี้ เขาบอกว่า วิธีรักษาแบบนี้ น่าจะเป็นวิธีรักษาโรคนอนไม่หลับที่ไม่ต้องใช้ยาและทำด้วยตัวเอง เขาเน้นว่า สูตรสำคัญที่สุดของวิธีรักษาชนิดนี้ คือ ต้องลดเวลานอนบนเตียงลง พูดง่ายๆ คือ นอนให้น้อยลงจะหลับได้นานขึ้น

เขาบอกว่า 2 สัปดาห์แรกจะลำบากนิดหน่อย คือ กลางวันจะง่วงมาก ต้องพยายามอดทนไว้อย่ายอมแพ้ไป หรืองีบหรือนอนกลางวันเข้า แต่หลังนี้ไปจะดีขึ้น หายง่วงกลางวัน และจะพบว่านอนหลับได้ดีขึ้น และนานขึ้น

จาก ‘Asian Medical News’March,1985

ข้อมูลสื่อ

76-001-01
นิตยสารหมอชาวบ้าน 76
สิงหาคม 2528
ผศ.นพ.สาธิต วรรณแสง