• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไอและหลอดลมอักเสบ

ไอและหลอดลมอักเสบ

แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ The Acupressure Health Book โดย Frank Bahr.M.D.

ความรู้เรื่องการกดจุดเป็นของเก่าแก่และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในยุโรป Dr.Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับนำมาเผยแพร่แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เพราะกดจุดก็คือศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี แต่การกดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็ม ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเข็มเหมือนฝังเข็ม และไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษาทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร

หลอดลมอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยมากและมักเป็นตามหลังไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือเป็นในพวกที่สูบบุหรี่มากๆ โดยเฉพาะในรายที่สูบุหรี่ ถ้าต้องการรักษาอาการไอ ท่านควรจะเลิกสูบบุหรี่ อาการไอก็จะหายไปได้

อาการ

มีอาการไอ ซึ่งมักจะเป็นมากตอนกลางคืนหรือเช้ามืด ระยะแรกจะไอแห้งๆ อาจมีเสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเพราะไอมาก 4-5 วันต่อมาจะมีเสมหะเป็นสีขาว (เชื้อไวรัส) หรือขุ่นข้นเป็นสีเหลือง สีเขียว (เชื้อแบคทีเรีย)

ในรายที่เสมหะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว ท่านต้องพบแพทย์เพื่อแพทย์จะได้สั่งยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (เสมหะสีขาวไม่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ จะรักษาตามอาการเท่านั้น)

สาเหตุ

1. เกิดจากเชื้อไวรัส (เสมหะสีขาว) หรือเชื้อแบคทีเรีย (เสมหะสีเหลือง) ติดต่อโดยการหายใจ ไอ หรือจามรดกัน

2. เกิดจากถูกสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ฯลฯ มักจะเป็นเรื้อรัง

ถ้าอาการไอเป็นอยู่นานมาก อาจจะเป็นอาการของโรคมะเร็งปอด ฉะนั้นท่านควรจะไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียดก่อนทำการกดจุด และควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนกดจุดรักษาอาการไอ

ตำแหน่งกดจุด

จุดที่อยู่บนร่างกาย

1. จุด “จูฟู” (shu-fu)

วิธีหาจุด :

จุดอยู่บริเวณขอบล่างของกระดูกไหปลาร้า อยู่ใกล้บริเวณหน้าอก

วิธีนวด :

นวดขึ้นบน

 

2. จุด “จินอุย” (chin-wei)

วิธีหาจุด :

จุดจะอยู่กึ่งกลางของลำตัวแนวฐานกระดูกหน้าอก

วิธีนวด :

นวดขึ้นบน

 

3. จุด “ซานจง” (tan-chung)

วิธีหาจุด :

อยู่เหนือจุด “ซินอุย” (chin-wei) ระดับเดียวกับหัวนม

วิธีนวด :

นวดขึ้นบน

 

4. จุด “หวีจี้” (Lich-ch’uih)

วิธีหาจุด :

อยู่บริเวณด้านข้างของข้อมือ (ห่างจากฝ่ามือ 2 นิ้วมือ)

วิธีนวด :

นวดเข้าหาฝ่ามือ

 

5. จุด “ต้าฉุย” (ta-chui) จุดนี้สำหรับหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

วิธีหาจุด :

จุดนี้อยู่บริเวณต้นคอ เมื่อก้มศีรษะลงจะมองเห็นปุ่มกระดูกนูนๆ หรือประมาณกระดูกคออันที่ 7

วิธีนวด :

นวดขึ้นบน

6. จุด “เฟิงหลง” (feng-lung)

วิธีหาจุด :

จุดอยู่กึ่งกลางหน้าแข้ง จุดจะอยู่ในแนวกึ่งกลางของหัวเข่า

วิธีนวด :

นวดลง

 

 

จุดที่ใบหู

หูขวา :

 

1.จุดจะอยู่ที่รอยต่อระหว่างหูและศีรษะ

วิธีนวด :

นวดขึ้นบน

2. อยู่ที่ส่วนล่างของแอ่งหู

วิธีนวด :

นวดขึ้นบน

หูซ้าย :

 

เป็นจุดสำหรับหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และนวดในตำแหน่งเดียวกับหูขวา มี 2 จุด เช่นเดียวกัน แต่ทิศทางในการนวดตรงข้าม

การรักษา

การจะรักษาอาการไอได้ผล โดยเฉพาะในรายที่สูบบุหรี่ คุณต้องเลิกการสูบบุหรี่ก่อน และลงมือทำการกดจุดที่ร่างกาย สลับวันกับที่หู ใช้เวลากดจุดแต่ละครั้งนาน 5-10 นาที ในไม่ช้าคุณจะรู้สึกว่าหายใจดีขึ้น และอาการไอจะน้อยลง

ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย มือที่จะกดจุดไม่ควรจะเย็น ถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าห่มมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่าย อาจจะโลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่างทำการกดจุด บางรายอาจมีเหงื่ออกมาก ควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. ในวันที่อากาศหนาวเย็น เมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อย ก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น

ข้อแนะนำก่อนกดจุด

1. การกดจุด หมายถึง การนวดจุดนั้นๆ โดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปทีแสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูแจจะใช้กระจกส่องช่วยหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆ นั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับผิวหนัง และนวดไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้งต่อ10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ, ปากกามนๆ นวดได้ เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดจุดแต่ละครั้งไว้ ดังนี้

  • เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½ -3 นาที
  • เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
  • เด็กโตตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
  • ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ข้างขวาและซ้าย)

8. ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วของผู้กดจุดเอง

ข้อมูลสื่อ

76-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 76
สิงหาคม 2528
ลลิตา อาชานานุภาพ