• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นอนไม่หลับ

นอนไม่หลับ

แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ The Acupressure Health Bookโดย Frank Bahr. M. D

ความรู้เรื่องการกดจุดเป็นของเก่าแก่และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในยุโรป Dr. Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับนำมาเผยแพร่แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เพราะกดจุดก็คือศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี แต่การกดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็มทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเหมือนฝังเข็ม และไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษา ทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร

โรคนอนไม่หลับเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก ประชาชนจำนวนไม่น้อย ต้องหันมาใช้ยานอนหลับเป็นประจำ เงินที่ใช้ซื้อยานอนหลับในปีหนึ่งๆ นับเป็นสิบๆ ล้านบาท

ปัญหายุ่งยากในการนอนไม่หลับมีอยู่ 2 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 อาการนอนไม่หลับ เมื่อเข้านอนจะหลับยากแต่เมื่อหลับได้แล้วจะนอนหลับจนถึงเช้าและตื่นนอนตามปกติ ประเภทที่ 2 เมื่อเข้านอนจะหลับได้ แต่ไปตื่นตอนดึก เช่น ตี 1 ตี 2 ต่อจากนั้นไม่หลับอีกเลย หรืออาจหลับได้แต่หลับยาก

  • ประเภทที่ 1 เมื่อเข้านอนจะหลับยาก

อาการ

จะพบว่า เขาเหล่านั้นมีอาการกระสับกระส่าย พลิกตัวไปมาบนเตียงเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ไม่ว่าจะใช้วิธีนับหนึ่งถึงร้อยอะไรก็แล้ว ก็ยังไม่สามารถทำให้เขาหลับได้ กว่าจะหลับได้ก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยงคืน อาการเช่นนี้ ผู้ที่กำลังประสบอยู่จะรู้สึกทรมานมากสุขภาพจะทรุดโทรม และในที่สุดจำเป็นต้องพึ่งยานอนหลับ บางคนต้องกลายเป็นคนติดยานอนหลับ

สาเหตุ

เนื่องจากศูนย์ควบคุมเกี่ยวกับการนอนหลับในสมองถูกรบกวนจากการทำงานของสมองส่วนอื่น เป็นเหตุให้เกิดจากการนอนไม่หลับ ท่านควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุการนอนไม่หลับ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคร้ายใดๆ

สาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ ได้แก่ การับประทานอาหารที่อิ่มจนเกินไปก่อนเข้านอน จนเกิดอาการท้องอืด หรือพวกที่มีปัญหาทางจิตใจ ไม่กล้าระบายความรู้สึก เก็บกดไว้แต่เพียงผู้เดียว หรือมีจิตสรีรแปรปรวน (Psychosomatic disturbance) คือ ผู้ป่วยจะมีอาการทางกาย เช่น มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีความเครียดเป็นเวลานาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านจิตใจสังคม เศรษฐกิจของครอบครัว สิ่งแวดล้อมและกรรมพันธุ์ มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเส้นประสาท และสารเคมีในร่างกาย

ดังนั้นท่านควรพบแพทย์และรักษาอาการที่เป็นอยู่ และใช้วิธีกดจุดด้วยการรักษาของแพทย์ได้ เพราะการกดจุดจะช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้ได้ผลเร็วขึ้น และยังป้องกันการกลับเป็นซ้ำ อีก

ตำแหน่งที่กดจุด:

จุดที่อยู่บนร่างกาย

1. จุด “อิ้งถัง” (inn-trang) จุดนี้เป็นจุดนอนหลับโดยเฉพาะ

วิธีหาจุด:

อยู่กึ่งกลางระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง จุดนี้ชาวจีนใช้มาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว สามารถปิดตาของท่านได้

วิธีนวด:

นวดลงล่าง

 

 

2. จุด “อันเหมียน 2” (au-mienll)

วิธีหาจุด:

เป็นแอ่งเล็กๆ อยู่หลังหู เหนือไรผมเล็กน้อย

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน (กดให้หนักบนหูซ้าย)

 

 

3. จุด “จ้าวไห่” (chao-hai) สำหรับสุภาพสตรี

วิธีหาจุด:

แอ่งเล็กๆ อยู่ใต้ตาตุ่ม (ด้านใน) ประมาณ 1 นิ้วมือ

วิธีนวด:

นวดขึ้นบนและเอียงไปด้านหลังเล็กน้อย

 

4. จุด “เชนมอ” (shen-mo) สำหรับสุภาพบุรุษได้ผลมาก

วิธีหาจุด:

อยู่ใต้ตาตุ่ม (ด้านนอก) ประมาณ ½ นิ้วมือ

วิธีนวด:

นวดเข้าหาข้อเท้า

 

 

จุดที่ใบหู

ความสำคัญของการกดจุดอยู่ที่ว่าคุณต้องทำในเวลานอน จะช่วยให้หลับได้เร็วขึ้น

หูขวา:

จุดที่ 1 อยู่บริเวณหน้าหู

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน

จุดที่ 2 อยู่ส่วนปลายของใบหูที่ม้วนเข้า (ค่อนมาตอนล่าง)

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน

 

 

หูซ้าย:

นวดเช่นเดียวกับหูขวา แต่ทิศทางข้าม

 

 

การรักษา

กดจุดที่ใบหูและร่างกายทำสลับวัน ครั้งแรก เย็นก่อนนอน นวดนาน 5-10 นาที ทุกวันจนกว่าอาการดีขึ้น ต่อไปนวดสัปดาห์ละครั้งเพื่อป้องกันการกลับเป็นอีก ท่านที่รักษากับแพทย์ประจำ ก่อนที่จะลดขนาดของยาลงท่านควรปรึกษาแพทย์ก่อน

 

ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย มือที่จะกดจุดไม่ควรจะเย็น ถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าห่มมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่าย อาจจะโลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่างทำการกดจุด บางรายอาจมีเหงื่ออกมาก ควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. ในวันที่อากาศหนาวเย็น เมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อย ก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น

ข้อแนะนำก่อนกดจุด

1. การกดจุด หมายถึง การนวดจุดนั้นๆ โดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปทีแสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูแจจะใช้กระจกส่องช่วยหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆ นั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับผิวหนัง และนวดไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้งต่อ10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ, ปากกามนๆ นวดได้ เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดจุดแต่ละครั้งไว้ ดังนี้

  • เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½ -3 นาที
  • เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
  • เด็กโตตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
  • ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ข้างคือข้างขวาและซ้าย)

8. ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วของผู้กดจุดเอง

ข้อมูลสื่อ

78-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 78
ตุลาคม 2528
ลลิตา อาชานานุภาพ