• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นอนไม่หลับ (2)

นอนไม่หลับ (2)

แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ The Acupressure Health Book โดย Frank.M.D.

ความรู้เรื่องการกดจุดเป็นของเก่าแก่และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในยุโรป Dr.Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับนำมาเผยแพร่แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เพราะกดจุดก็คือ ศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี แต่การกดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็ม ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเข็มเหมือนฝังเข็ม และไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษาทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร

ครั้งที่แล้วกล่าวว่า การนอนไม่หลับประเภทที่หนึ่งไปแล้ว คือ นอนไม่หลับ เมื่อเวลาเข้านอนจะหลับยาก ในครั้งนี้จะกล่าวถึงนอนไม่หลับประเภทที่สอง คือ เมื่อเข้านอนจะหลับได้ แต่มักไปตื่นตอนดึกๆ ผู้ที่กำลังประสบปัญหานี้ให้ลองกดจุดก่อนเข้านอนและตอนที่ตื่นมากลางดึกดู

ประเภทที่ 2 "เมื่อเข้านอนหลับได้ แต่มักตื่นกลางดึก”

อาการ

โดยปกติทั่วไป เมื่อคุณนอนหลับ จะตื่นนอนก็คือ เวลาเช้า แต่เมื่ออายุมากขึ้น คุณต้องการเวลาในการนอนหลับน้อยลง ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ก็สามารถตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นได้แล้ว แต่ถ้าคุณกำลังประสบกับปัญหาการนอนตื่นกลางดึก เช่น ตื่นตี 1, ตี 2 แม้จะพยายามข่มตาให้หลับต่อก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ในรายที่เป็นอยู่นานๆ สุขภาพจะทรุดโทรม จนต้องหันไปพึ่งยานอนหลับ

สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ ท่านควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการของท่านร่วมด้วย และท่านสามารถกดจุดรักษาร่วมกับการรักษาของแพทย์ จะช่วยให้การรักษาได้ผลเร็วขึ้น

ตำแหน่งที่กดจุด

จุดที่อยู่บนร่างกาย

1. จุด “ตั่นหนังเตี่ยน” (dang-nang-dian)

วิธีหาจุด:

จุดจะอยู่ต่ำกว่าส่วนล่างของหัวเข่าประมาณ 3 นิ้วมือไปทางด้านข้างของขา (ใต้ยอดกระดูกทิเบียประมาณ 3 นิ้วมือ)

วิธีนวด:

นวดลงล่าง

 

 

2. จุด “จู๋ซานหลี่” (Tsu-san-li)

วิธีหาจุด:

วางฝ่ามือบนหัวเข่า กางนิ้วออกเล็กน้อย ที่ปลายของนิ้วนาง คือ ที่ตั้งของจุด

วิธีนวด:

นวดลงล่าง

 

 

3. จุด “จงตู” (Tchong-tu)

วิธีหาจุด:

จุดกึ่งกลางระหว่างหัวเข่าและข้อเท้าด้านใน ห่างจากหน้าแข้งไปด้านหลัง 1 นิ้วมือ

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน (นวดแรงๆ)

 

 

4. จุด “ซานจง” (tan-chung)

วิธีหาจุด:

อยู่ตรงกลางลิ้นปี่ ในระดับเดียวกับหัวนมผู้ชาย

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน

 

 

จุดที่ใบหู

หูขวา:

 

1. จุดสำหรับการนอนหลับ

วิธีหาจุด:

อยู่ที่ขอบใบหู ด้านหลังหูส่วนล่าง

วิธีนวด:

นวดลงล่าง

2. จุดสำหรับกระตุ้นการทำงานของตับและถุงน้ำดี มี 2 แห่ง

วิธีหาจุด:

อยู่กึ่งกลางของแอ่งหูใหญ่และช่องเล็กๆ เหนือแอ่งหูใหญ่

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน

หูซ้าย:

 

ไม่มีการกดจุด จะกดเฉพาะหูขวาเท่านั้น

การรักษา

กดจุดที่ใบหูและร่างกาย ทำสลับวัน นวดนานครั้งละ 5-10 นาทีก่อนเข้านอน ในรายที่แพทย์สั่งการรักษา ท่านต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายไม่ทำให้ท้องอืด

ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย มือที่จะกดจุดไม่ควรจะเย็น ถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าห่มมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่าย อาจจะโลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่างทำการกดจุด บางรายอาจมีเหงื่ออกมาก ควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. ในวันที่อากาศหนาวเย็น เมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อย ก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น

ข้อแนะนำก่อนกดจุด

1. การกดจุด หมายถึง การนวดจุดนั้นๆ โดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปทีแสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูอาจจะใช้กระจกส่องช่วยหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆ นั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับผิวหนัง และนวดไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้งต่อ10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ, ปากกามนๆ นวดได้ เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดจุดแต่ละครั้งไว้ ดังนี้

  • เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½ -3 นาที
  • เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
  • เด็กโตตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
  • ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ข้างขวาและซ้าย)

8. ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วของผู้กดจุดเอง

ข้อมูลสื่อ

79-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 79
พฤศจิกายน 2528
ลลิตา อาชานานุภาพ