• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถั่วลิสง-เนื้อจากพืช

ถั่วลิสง-เนื้อจากพืช

อาหารสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดไม่เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลในการศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

สำหรับแหล่งกำเนิดของถั่วลิสงนั้น มีความเห็นแตกต่างกันอยู่ 2 ฝ่าย คือ

ฝ่ายแรก เชื่อว่าถิ่นของถั่วลิสงคือประเทศบราซิลและเปรู ในราวต้นศตวรรษที่ 16 จึงได้แพร่มายังเอเชียอาคเนย์ และเข้าไปในจีน ดังเช่น จางลู่ได้บันทึกไว้ในหนังสือ เปิ่นเจิงเฟิงเหยียน ในปี พ.ศ. 2238 (ค.ศ.1695) อีกฝ่ายหนึ่ง เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของถั่วลิสง คือ ประเทศจีน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในราวกลางศตวรรษ ที่ 14 และ 15 ได้มีการบันทึกถึงเรื่องราวของถั่วลิสงในหนังสือเภสัชจีน 2 เล่ม คือ อิ่งสือซวีจือและเตียนหนานเปิ่นฉาว ในปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ.1962) นักโบราณคดีได้ค้นพบเมล็ดถั่วลิสง 4 เม็ด ที่ถูกไฟไหม้จนเกรียม ในหมู่บ้านยุคดึกดำบรรพ์ ที่อำเภอซิวสุ่ย มณฑลเจียงซี สันนิษฐานว่ามีอายุอย่างน้อย 4 พันปีล่วงมาแล้ว ปัจจุบันประเทศที่ปลูกถั่วลิสงมากได้แก่ อินเดีย จีน ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา

ถั่วลิสง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Arachis hypogaea L. วงศ์ Leguminosae

ถั่วลิสงได้ถูกขนานนามว่าเนื้อจากพืช เพราะมีโปรตีนมากกว่าพืชอื่นๆ เมล็ดถั่วลิสง (ดิบ) 100 กรัม จะมีน้ำ 8.0 กรัม โปรตีน 26.2 กรัม ไขมัน 39.2 กรัม น้ำตาล 22.1 กรัม เส้นใยหยาบ 2.5 กรัม ash 2.0 กรัม แคลเซียม 67 มิลลิกรัม ฟอสฟรัส 378 มิลลิกรัม เหล็ก 1.9 กรัม carotene 0.04 มก. วิตามินบีหนึ่ง 1.07 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.11 มิลลิกรัม กรดนิโคตินิค 9.5 มิลลิกรัม และให้ความร้อน 546 แคลอรี่

โปรตีนในถั่วลิสงจะมากกว่าในข้าวสาลีถึง 2 เท่า มากกว่าข้าวโพด 2.5 เท่า และมากกว่าข้าวสารถึง 3 เท่า โปรตีนในถั่วลิสงจะถูกย่อยและดูดซึมได้ถึง 90% ถั่วลิสงมีคุณค่าทางอาหารสูงพอๆ กับเนื้อสัตว์ เช่น ไข่ไก่ นมวัว และอาหารจำพวกเนื้อ โดยให้พลังความร้อนสูงกว่าเนื้อ นม และไข่ เช่น สูงกว่านม 2 เท่า สูงกว่าไข่ไก่ 4 เท่า

สรรพคุณ

ถั่วลิสง มีคุณสมบัติเป็นกลาง รสหวาน สรรพคุณ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ บำรุงพลัง แก้ไอ แก้หอบ ขับน้ำนม ลดความดันโลหิต ลดโคเลสเตอรอล

เยื่อหุ้มเมล็ดถั่วลิสง มีสรรพคุณ ห้ามเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำทำให้เกิดจ้ำเลือด (Thrombocytopenic purpura) เลือดออกเนื่องจากไขกระดูกถูกกด (Aplastic anemia) เลือดออกไม่หยุด (Hemophilia) ภาวะทางกรรมพันธุ์ที่มีเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก มีผลให้เลือดออกได้ง่าย (Hereditary hemorrhagic telangiectasis) เลือดออกเนื่องจากประสิทธิภาพของเกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding) อาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากวัณโรค เลือดออกในท่อปัสสาวะ เลือดออกตามเหงือก เลือดกำเดาออก

เหตุที่เยื่อหุ้มเมล็ดถั่วลิสงมีคุณสมบัติห้ามเลือด เพราะเยื่อหุ้มเมล็ดถั่วลิสงมีฤทธิ์ต่อต้านการสลายของ Fibrin ขณะเดียวกันก็ทำให้กระดูกสร้างเกล็ดเลือดมากขึ้น ทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานของเกล็ดเลือดเพิ่มการหดตัวของหลอดเลือดฝอย

ตำรับยา

1. เกล็ดเลือดต่ำ: กินถั่วลิสงคั่ว (ทั้งเยื่อหุ้ม) วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 60 กรัม เป็นเวลา 1 สัปดาห์ (1 ช่วงการรักษา)

2. ความดันโลหิตสูง: เอาเมล็ดถั่วลิสงแช่น้ำส้มสายชู หลังจากนั้น 7 วัน ให้กินครั้งละ10 เมล็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าและค่ำ

3. ท้องผูก: ให้กินถั่วลิสงต้มทุกวัน วันละ 30 กรัม

4. เจ็บคอและไอเด็กไอร้อยวัน: ถั่วลิสงหนัก 30 กรัม ต้นกินน้ำ วันละ 2 ครั้ง เช้าและค่ำ

5. ไอและคอแห้ง: ถั่วลิสง 100-150 กรัม ต้มน้ำแล้วใส่น้ำตาลกรวดให้พอหวาน กินน้ำ

6. เสียงแหบคอแห้ง: ต้มถั่วลิสงจำนวนพอประมาณแล้ว กินน้ำ

7. ท้องผูกก่อนหรือหลังคลอด: ใช้ถั่วลิสง 60-90 กรัม ขาหมู 1 ขา (ขาหน้า) หรือเนื้อแดงติดมัน 250 กรัม ต้มให้เปื่อย กินวันละครั้งติดต่อกัน 5 วัน

สารเคมีที่พบ

น้ำมันถั่วลิสง ประกอบด้วย กรดไขมัน (Fatty acid) ซึ่งได้แก่ Oleic acid 39.2-65.7% Linoleic acid 16.8-38.2% Palmitic acid 7.3-12.9% Stearic acid 2.6-5.6% และ Arachidic acid, Behenic acid, Lignoceric acid, Myristic acid, Cerotic acid, Gadoleic acid, Eicosennoic acid, Hypogaeic acid, Lauric acid เป็นต้น

ใบและกิ่ง (ที่อยู่เหนือพื้นดิน) มีน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด เช่น L-Pentene-3-ol, l-Xexanol, Linalool, Terpineol, Geraniol

หมายเหตุ

ระวังอย่ากินถั่วลิสงที่ขึ้นรา เพราะมีสารอะฟาทอกซิน (aflatoxin) ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังห้ามนำถั่วลิสงขึ้นราไปเลี้ยงสัตว์ เพราะไม่เพียงแต่ทำให้เกิดพิษได้ ยังทำให้เป็นมะเร็งได้อีกด้วย

ถั่วลิสงหรือทอดน้ำมันมีคุณสมบัติร้อน (เป็นหยาง) จะทำให้เจ็บคอ (ทอนซิลอักเสบ) ไอ เป็นแผลในปากและลิ้น อย่ากินมาก

ข้อมูลสื่อ

79-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 79
พฤศจิกายน 2528
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล