• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตาบอด ตาใส รู้ไว้ใช่ว่า

ตาบอด ตาใส รู้ไว้ใช่ว่า

 

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินโรค “ตาบอด ตาใส” มาบ้างแล้วใช่ไหมครับ ? มันคือโรคอะไรกัน ตาบอด ตาใส”  อันว่าโรคนี้ หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยเป็นโรคหนึ่งโรคใดจนกระทั่งไม่สามารถมองอะไรเห็น หรือเห็นไม่ชัด แต่ทว่าดูภายนอกลูกตาแบบ “ตาจ้องตา” เห็นใสแจ๋วแหววดีนั่นเอง
ทีแรกก็คิดว่า คนไข้หรือผู้ที่เรามองเห็นหน้าอยู่นี้ ลูกตาก็ปกติดีตาดำใสสะอาดกลอกกลิ้งไปมาได้เหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ แต่ทำไมจึงมีลักษณะของคนเหม่อ “ตาลอย”

ตาลอยที่ปรากฏคือ ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มองไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย ไม่มีการ “เพ่ง” มองถ้าผู้นั้นบอดสองตา ถ้าบอดตาเดียว ปิดตาข้างดี มองอะไรจะไม่เห็น กลอกตาหาวัตถุที่ต้องการมองอย่างหมดหวัง
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเขาหรือเธอ มองไปข้างหน้าไม่ชัดหรือไม่เห็นภาพวัตถุอะไรนะซี !

โรคอะไรบ้างที่เข้าข่ายของการเป็นคนที่จะได้ชื่อว่า “ตาบอด ตาใส” จะนำเอาสาเหตุหรือโรคที่พบเสมอๆ มาเขียนไว้ให้ผู้อ่านรู้ไว้ พอเป็นสังเขป ดังนี้
1.โรคตาเข (Strabismus)

2.สายตาผิดปกติ (Refractive error)

3.ต้อหินชนิดเรื้อรัง (Chronic Simple Glaucoma)

4.ประสาทจอรับภาพเสื่อมชนิดเกิดกับเซลล์มีสี ที่เรียกว่า (Pigment)โรคเรทติไนติส ปิคเม้นท์โตซ่า (Retinitis Pigmentosa)

5.โรคประสาทตาเสื่อมหรือฝ่อ (Optic atrophy)

6.โรคจอรับภาพมีการเปลี่ยนแปลงจากโรคความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงหรือโรคเบาหวานระยะท้าย (Retinopathy)

7.จอรับภาพหลุดลอก (Retinaldetachment)

อย่างน้อยท่านผู้อ่านจะได้ทราบว่าแต่ละโรคมีอาการและการป้องกันรักษาอย่างไร หรือถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการตาเหม่อลอย ควรคิดว่าเขาอาจมีโรคหนึ่งโรคใดดังกล่าวได้
 

1.โรคตาเข (Strabismus)
คืออาการที่ตา 2 ข้างไม่อยู่ในแนวตรง ตาดำข้างใดข้างหนึ่งเฉียงเข้าด้านในหัวตา หรือเฉียงออกด้านนอกหางตา ชาวบ้านเรียกคน “ตาเอก” หรือคน “ตาเข” ชาวเหนือเรียก “คนตาเล่อ” หรือ “ตาแก๊ก” ฯลฯ ผิดกับความหมายที่บางคนกล่าว่า “ตาเอียง” คนละโรคกัน...

ตาเอียงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสายตาผิดปกติในการหักแหแสงเข้าตา ลูกตายังตรงแนวดีทั้งสอง
ส่วนตาเขนั้น ตาเฉียงเข้าใน,เฉียงออกนอก หรือขึ้นบน, ลงล่างได้ทั้งนั้น คนที่มีตาเข อาจจะสายตาดีเท่ากันทั้งสองข้างก็ได้ หรืออาจจะสายตาข้างที่เขลดต่ำลงกว่าปกติ หมายถึงมัวลงกว่าตาข้างที่ตรง
เรื่องสายตาในคนตาเขมีความหมายมาก โดยเฉพาะในเด็กที่มีตาเข บิดา มารดา ผู้ปกครอง ครู ญาติพี่น้อง ถ้าพบเด็กตาเขไม่ว่าอายุเท่าไร แม้แต่ 6 เดือน 9 เดือน 1 ขวบ หรือ 2 ขวบ 3 ขวบ ให้รีบพาไปปรึกษาจักษุแพทย์ทันที
                                               

ความเข้าใจของชาวบ้านที่คิดว่าเด็ก ๆที่ตาเขไม่ต้องห่วงอะไรมาก อีกหน่อยโตขึ้นหายเองได้ หมายถึงตาตรงได้นั้น เป็นความเข้าใจที่ยังผิดอยู่มาก ตาเขในเด็กยิ่งปล่อยไว้นานยิ่งรักษายาก และโอกาสจะเขมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งตาข้างที่เข สายตาจะลดลง ลดลง เพราะความที่ไม่ใช้มอง ใช้ตาเพียงข้างเดียวอยู่เสมอ จึงทำให้ตาข้างนั้นในที่สุดจะบอดได้ ไม่สามารถจะทำให้เห็นดีได้แม้จะวัดแว่นใส่ก็ไม่ดีขึ้น
จึงถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ถ้าพบเด็กหรือผู้ใหญ่ตาเข รีบแนะนำให้ไปตรวจโดยเร็วเถอะครับ ปล่อยไว้นับวันตาข้างเขจะเสื่อมสภาพไป ในที่สุดจะกลายเป็นคนตาบอดตาใสไปได้ คือนอกจากจะบอดแล้ว ยังเข อีกด้วย ถือเป็นโชคซ้ำสอง
 

 

 

การรักษา :
พาไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวัดสายตาและประกอบแว่นให้เหมาะกับสายตา ไม่ต้องห่วงว่าคนนั้นจะเป็นเด็กอายุเพียง 2 ขวบหรือ 3 ขวบ ถ้าตาเขและมีสายตาผิดปกติ คือสายตาสั้น,สายตายาว, หรือสายตาเอียง จำเป็นต้องใช้แว่นช่วย ก็ขอให้สวมแว่นเถอะ แล้วตาจะดีเอง
ส่วนถ้าสวมแว่นแล้วสายตาดีขึ้น ยังมีลักษณะตาเขเหลืออยู่นิดหน่อย แพทย์ช่วยผ่าตัดดึงให้ตรงได้ ไม่ใช่ของลำบาก...เล่นไม่ยาก !

 

                  


2.สายตาผิดปกติ
(Refractive error)
นี่ก็เข้าข่ายคล้าย ๆ โรคตาเข คือคนที่สายตาผิดปกติ แต่ไม่ยอมใช้แว่นที่ถูกต้องกับสายตา จะทำให้ปวดกระบอกตา มึนศีรษะ ตามัว คลื่นไส้ อาเจียนได้
ส่วนคนที่มีสายตาผิดปกติเพียงข้างเดียว อีกข้างหนึ่งดี ร่างกายจะพยายามเอาข้างดีใช้อยู่เสมอ ตาข้างที่มัวจะไม่ถูกใช้ อาจทำให้เขไปทางใดทางหนึ่งได้ เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ เข้าในที่สุด ประสาทการเห็นจะเสื่อมไป บอดได้ จึงอาจจะพบคนบางคน ใช้ตามองอะไรเพียงข้างเดียว โดยที่อีกข้างสายตาสั้นมาก หรือยาวมาก หรือเอียงมาก แต่ไม่ได้แก้ไขด้วยการใช้แว่นที่ถูกต้องหรือเลนซ์สัมผัส ทำให้ตาข้างนั้นเสียไป เพราะไม่ถูกใช้ให้เหมะกับสภาวะของความผิดปกติในสายตา

ถ้าสงสัยว่าสายตาจะผิดปกติ คือสั้น, ยาว, เอียง อย่าลังเลใจ รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือร้านวัดสายตาเถอะครับ ไม่ว่าเด็กเล็กเด็กโต ผู้ใหญ่ หรือคนแก่ การวัดสายตาไม่ใช่ของยากเย็น และใช้เวลามากมาย อย่างน้อยก็ทราบว่าผิดปกติหรือเปล่า หรือเป็นโรคอื่น จะได้ช่วยเหลือแนะนำได้ทันท่วงที


3.โรคต้อหินชนิดเรื้อรัง (Chronec Simple Glaucoma)
โรคนี้พบค่อนข้างบ่อย เป็นโรคที่เกิดเพราะมีความผิดปกติในทางเดินไหลเวียนของน้ำเลี้ยงภายในช่องลูกตา ทำให้เกิดการคั่งค้างของน้ำในลูกตา ความดันลูกตาสูง
ผู้ที่เป็นโรคนี้ดูเผิน ๆด้านหน้าจะไม่มีอะไรเป็นที่ผิดสังเกต เพียงว่าผู้นั้นจะมีอาการตามัวลงทีละน้อย ปวดลูกตาหรือศีรษะซีกเดียวกับตาข้างที่เป็นเป็นครั้งคราวนาน ๆ ครั้ง

ความดันลูกตาจะสูงขึ้นไปถึง 30 หรือ 40 มิลลิเมตรปรอท บางรายถึง 60-40 มิลลิเมตรปรอท ถ้าตรวจด้วยเครื่องวัดความดันลูกตา อายุที่พบ พบในคนอายุเข้ากลางคนไปแล้วหรือเริ่มจะเข้ากลางคน คือประมาณก่อนหรือหลัง 40 ปีขึ้นไป เป็นได้ทั้งชายและหญิงพอ ๆ กัน
ทางที่ดี ท่านที่มีอายุ เลย 40 ปี ขึ้นไป (เอ้า ! อาจจะ 45 ขึ้นไปก็ได้ ถ้าใครกลัวว่า 40 จะแก่) มีโอกาสให้ไปตรวจสายตา ขอวัดความดันลูกตาไว้ไม่เสียหายอะไร อย่างน้อยก็เป็นการบันทึกไว้ก่อน
ค่าปกติของความดันลูกตาจะมีประมาณ 15-20 มิลลิเมตรปรอท บางคนอาจสูงถึง 25 ต้องระมัดระวังให้มาก

อาการสำคัญ คือตามัวทีละน้อย ไม่ค่อยรู้ตัว เพราะเป็นทีละข้าง ข้างหนึ่งยังไม่เป็น จะช่วยการมองไว้ได้ทำให้ผู้นั้นเผลอตัว กว่าจะทราบได้เป็นอยู่นานเป็นเดือน เป็นปี
เข้าระยะท้าย ลานสายตาจะแคบมาก คือมองได้ไม่กว้าง สังเกตง่าย ๆ ว่าพวกนี้จะขับรถลำบาก ไม่ค่อยเห็นรถด้านที่มาจากสี่แยก ซ้ายขวา หรือรถแซง รถสวน หรือเดินภายในบ้านอาจชนขอบโต๊ะขอบเตียงเสมอ


     


ถ้าเอาไฟฉายส่องดูที่ตาข้างนั้นพบว่ารูม่านตาค่อนข้างกว้าง และไม่หดตัวเมื่อกระทบแสงไฟ อันนี้อาจจะสังเกตยากสำหรับคนทั่วไป ไม่ชำนาญจริง ๆดูไม่ออก เหมือนตาคนปกติมาก
บางคนคิดว่าตัวเองเป็นโรคสายตาผิดปกติ ไปให้ร้านทำแว่นวัดสายตาประกอบแว่นให้ หมดค่าโดนหลอกให้ซื้อแว่นไปเกือบพันหรือพันกว่า ไม่ได้ช่วยให้ตาเห็นดีขึ้นเลย
เข้าทำนองเสีย (รู้) เงินแล้วตายังมัวเหมือนเดิม คิดแล้วให้เจ็บกระดองใจอยู่คนเดียว
ลงได้มีลักษณะเช่นนี้ กรุณาไปหรือพาไปให้แพทย์ตรวจดูเถอะครับ อย่างน้อยวัดความดันลูกตาเสียหน่อยจะหายข้องใจไปโข มิฉะนั้นจะสายเกินแก้ ลานสายตาแคบลง ในที่สุดมองแทบไม่เห็น ทั้ง ๆ ที่ลักษณะลูกตาภายนอกใสดี แต่บอดเสียแล้ว เพราะประสาทตาด้านในถูกกดจากความดันภายในอยู่นานจนซีดและฝ่อใช้การไม่ได้ ยากที่จะรักษาให้ฟื้นคืนดี

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

43-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 43
พฤศจิกายน 2525
โรคน่ารู้
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์