• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคประสาท

โรคประสาท


⇒ สุขภาพจิตนั้นสำคัญไฉน

งานบริหารด้านสาธารณะสุขในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าขาดแคลนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศระหว่างพัฒนา ดังที่นายแพทย์ มาห์เลอร์ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกได้กล่าวว่า
ในประเทศอัฟริกาเด็กทารกมีโอกาสเจริญเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นเพียงร้อยละ 50 ของประชากรของโลก 4 ใน 5 ส่วนไม่เคยได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างถาวร เด็กต้องตายลงปีละมากกว่า 5 ล้านคน ด้วยโรคท้องร่วง ประเทศกำลังพัฒนา ( ด้อยพัฒนานั้นเอง ) ที่ยากจนที่สุดรวม 67 ประเทศ ใช้งบประมาณสาธารณะสุขรวมกันทั้งหมดแล้วยังน้อยกว่ามูลค่าของยาสงบอารมณ์ที่ใช้กันในประเทศร่ำรวย “

ในอดีตที่ผ่านมา ผู้บริหารประเทศก็ดี นักวิชาการก็ดี มองข้ามความสำคัญของจิตใจ นึกถึงแต่เพียงโรคของร่างกาย เรื่องเกี่ยวกับจิตใจเป็นของเห็นได้ยาก ผู้ที่มิได้ทำงานเกี่ยวข้องกับจิตเวชและสุขภาพจิตจึงมิได้สนใจ แต่ในปัจจุบันผู้บริหารประเทศและนักวิชาการได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้น เพราะยอมรับกันว่าสุขภาพจิตของประชากรมีความสำคัญ ขอยกบทความตอนหนึ่งของกองสุขภาพจิตไว้ดังนี้
“ ....กำลังคนที่มีคุณภาพ ถ้าขาดกำลังใจ หรือมีความกดดันทางอารมณ์และจิตใจ ก็ไม่อาจใช้คุณภาพของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อประเทศชาติได้อย่างเต็มที่ สภาพของจิตใจที่สมบูรณ์ หรือสุขภาพจิตที่ดี จึงมีความสำคัญอยู่เบื้องหลังการพัฒนาประเทศอย่างคาดไม่ถึง และมักถูกมองข้ามไปเสมอ เนื่องจากเป็นสิ่งมองไม่เห็น จับตัวไม่ได้ และยากแก่การประเมินคุณค่าที่แท้จริงมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนได้ ........”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา กล่าวตอนหนึ่งในเรื่องการวิจัยเพื่อการสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของสุขภาพอนามัยในปี 2543 ว่า
......สังคมที่เปลี่ยนไปและความเป็นอยู่ที่สับสน ตลอดจนค่านิยม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่เปลี่ยนไปมีผลทำให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ เช่น อาชญากรรม และการติดยาเสพติด ดังนั้นแม้ความเจริญเกิดขึ้น โรคบางอย่างลดลงไป และผู้คนมีอายุยาวขึ้น ปัญหาทางสุขอนามัยไม่ได้หายไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น.....”

อุบัติเหตุและการทำร้ายเป็นสาเหตุของการตายอันดับที่ 1 ในประเทศไทย อุบัติเหตุของการจราจรทางบก อาจกล่าวได้ว่าเป็นความผิดพลาดของระบบซึ่งประกอบด้วยถนน รถ คนขับ สิ่งแวดล้อมและกติกาคือกฎจราจร จากอุบัติเหตุ 861 ครั้ง เกิดเนื่องจากคนหลับในและเมาสุรา 27 ครั้ง และเป็นกรณีที่ไม่ได้รายงานถึงสาเหตุรวม 604 ครั้ง น่าคิดว่าอุบัติเหตุ 604 ครั้งที่หาสาเหตุไม่ได้น่าจะเกี่ยวกับสุขภาพจิตสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม งบประมาณด้านสุขภาพจิตของประเทศไทยมาเกือบอันดับสุดท้ายทุกปี

“....ประชากรในประเทศกำลังพัฒนาทั้งชายหญิงและเด็กราว 40 ล้านคนกำลังป่วยด้วยความผิดปกติทางจิตอย่างรุนแรง และไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลทั่วไปหรือศูนย์การแพทย์และอนามัยในประเทศกำลังพัฒนามีความผิดปกติทางจิตเวชที่สำคัญร้อยละ 10 หรือมากกว่านั้น....”
ข้อความข้างต้นเป็นรายงานจากองค์การอนามัยโลกและยังได้กล่าวเสริมต่อไปว่าอัตราส่วนระหว่างจิตแพทย์ต่อประชากรในประเทศกำลังพัฒนาน้อยกว่า 1 ต่อแสนของประชากร
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีจิตแพทย์ประมาณ 120 คนต่อประชากร 48 ล้านคน ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า
ควรหาทางให้ประชากรและชุมชนได้ช่วยตัวเองเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ไม่รุนแรงตามนโยบายของสาธารณะสุขมูลฐาน”


⇒ผู้ป่วยจิตเวช หรือ “ คนบ้า 500 จำพวก “

โดยทั่วไปในทางการแพทย์เรียกคนผิดปรกติทางจิตรวมๆกันว่า “ผู้ป่วยจิตเวช” แต่ในความรู้สึกของคนทั่วๆไปนั้นยังติดอยู่ในเรื่อง “ บ้า 500 จำพวก” ติดอยู่ในแนวความคิดเพราะถือว่าบุคคลทั่วๆไปมีความเพียบพร้อมทางด้านจิตใจนั้น หาได้ยากมักมีจุดบกพร่องในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสมอ
แต่ในปัจจุบันมีคำใหม่มาแทนคือ “ประสาท” เป็นคำที่สละสลวยกว่าคำว่า “บ้า”มากทีเดียว เพราะคนทั่วๆไปรังเกียจคำว่า”บ้า” แต่ดูไม่สู้รังเกียจคำว่า “ประสาท” เพราะในยุคปัจจุบันเป็นยุคของความวิตกกังวล

อย่างไรก็ตามยังมีประชากรที่เข้าใจคำต่างๆสับสนอยู่มาก เช่น โรคจิต โรคประสาท โรคระบบประสาท ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มาโรงพยาบาลเพื่อต้องการ “เช็คประสาท” เช่น เอ็กซเรย์สมอง หรือตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์


⇒ผู้ป่วยจิตเวช 5 จำพวก
โดยทั่วไปทางการแพทย์แบ่งความผิดปกติของจิตเวช 5 แขนงได้แก่
1. โรคจิต
ประชาชนทั่วไปเข้าใจความหมายดี หมายถึงผู้เสียสติ หรือวิกลจริตหรือบ้านั้นเอง เป็นคำที่ผู้ป่วยรังเกียจ สังคมหวาดหวั่น ญาติผู้ป่วยกลุ้มใจหลายรายบ่นว่าพลอยจะเป็นประสาทไปด้วย เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่ถ้าเหตุผลดังกล่าวแสดงความรังเกียจผู้ป่วย เพราะญาติเดือดร้อนกันทั้งครอบครัว ไม่เป็นอันทำมาหากิน ในทางตรงกันข้ามญาติบางรายแสดงอาการปกป้องและ “โอ๋” ผู้ป่วยจนเกินควร
ลักษณะสำคัญของโรคจิตมี 3 ประการคือ

1.1 บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น พูดมาก เพ้อเจ้อ หรือซึมเฉย แยกตัวเอง ไม่สนใจตนเอง ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพมากน้อยแล้วแต่ความรุนแรงและชนิดของโรค บางรายเพ้อคลั่งถึงกับเปลือยกาย

1.2 มีอาการประสาทหลอนและหลงผิด เช่น ประสาทหลอนทางหู ได้ยินเสียงคนมาพูดด้วยก็โต้ตอบไปคือพูดคนเดียว ถ้าหูแว่วได้ยินเสียงด่าก็แสดงความโกรธด่าว่าโต้ตอบกับเสียงประสาทหลอน ได้ยินเสียงชมก็ยิ้ม หัวเราะคนเดียว บางรายได้ยินเสียงขู่จะทำร้ายก็เกิดอาการหวาดกลัว และอาจมีภาพหลอนทางตา เห็นคนจะมาทำร้ายด้วยก็ได้
อาการประสาทหลอนเกิดได้ทางประสาทรับความรู้สึกทั่วร่างกายและมักมีอาการหลงผิดร่วมไปด้วยเสมอ เช่น หวาดระแวง กลัวคนทำร้าย กลัวยาพิษ คิดว่าผู้อื่นชอบแกล้งด่าว่านินทา คิดว่าตนเองถูกสะกดจิต ฯลฯ

1.3 ผู้ป่วยโรคจิตไม่เข้าใจภาวะของตนเอง และการตัดสินใจก็เสียไปด้วย ผู้ป่วยโรคจิตส่วนใหญ่ไม่ยอมรับหรือเชื่อว่าตนเองเป็นโรคจิตจึงขัดขืน ไม่ยอมรับการรักษา เมื่อไม่ร่วมมือในการรักษาผลที่ได้จึงไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถ้าญาติเข้าใจ เอาใจใส่และร่วมมือกับจิตแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ผลของการรักษานับว่าดีมากแม้ว่าส่วนใหญ่ไม่หายขาดก็ตาม

ในด้าน “ จิตเวชมูลฐาน “ โรคจิตราวร้อยละ 25 จะมีอาการสงบได้เองเป็นระยะๆ การรักษาด้วยยากลางบ้านก็ดี หรือการรักษาตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ก็ดีไม่สู้ได้ผล แต่ญาติก็มีบทบาทในการช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคจิตอยู่ไม่น้อยทีเดียว ญาติควรเป็นผู้เก็บรักษายาที่ได้รับจากแพทย์และให้ผู้ป่วยกินตามเวลาอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่าผู้ป่วยโรคจิตไม่กินยาตามแพทย์สั่งถึงร้อยละ 70 ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น คิดว่าตนเองหายแล้ว คิดว่าควรลองหยุดยาดู กลัวการติดยา ลืมกินยา เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคจิตจึงมักเกิดอาการกำเริบต้องเข้าโรงพยาบาลหลายๆครั้ง เพราะขาดยา ญาติควรพาผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์ตามกำหนดนัดหมายเพื่อผลของการรักษาที่ดี การซื้อยากินเองสำหรับผู้ป่วยโรคจิตไม่ได้ผลและอันตราย

 

2.โรคประสาท
โรคประสาทเป็นความผิดปกติของจิตใจ โดยไม่มีความผิดปกติของสมอง รู้จักตนเองดีและเข้าใจความเป็นจริงต่างๆ ไม่มีความเพ้อฝันที่นอกเหนือความเป็นจริง ความประพฤติอาจผิดปกติได้บ้าง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สังคมยอมรับ บุคลิกภาพไม่แตกแยก มีความวิตกกังวลมากกว่าปกติเป็นลักษณะสำคัญ อาจมีการกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ย้ำคิด ย้ำทำ อารมณ์เศร้า และอาการของฮิสทีเรียได้

จากคำจำกัดความข้างบนจะเห็นได้ว่า โรคประสาทไม่มีความผิดปกติของสมอง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้อง “ เช็คประสาท “ โดยการเอ็กซเรย์หรือตรวจด้วยคอมพิวเตอร์แต่อย่างใดเพราะสิ้นเปลืองเงินทองโดยใช่เหตุ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจและหลงไป “ เช็คประสาท “โดยเสียเงินทองไปเป็นจำนวนมากด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
โรคประสาทมีสาเหตุทางจิตอันเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาทางจิตใจที่บกพร่อง มีความวิตกกังวลมากกว่าปกติเป็นพื้นฐาน จนมีผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน
โรคประสาทสามารถแสดงอาการได้ทั้งทางจิตและร่างกาย อาการทางจิต เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์ตึงเครียด อารมณ์เศร้า นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เป็นต้น

ส่วนอาการทางร่ายกายที่เกิดได้ทุกระบบ เช่น ใจเต้น ใจสั่น หน้ามืด เวียนหัว ร้อนหนาวตามผิวกาย คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ท้องเดิน หายใจไม่ทั่วท้อง หายใจไม่อิ่มต้องถอนหายใจบ่อยๆ เหงื่อออกชุ่มตามฝ่ามือฝ่าเท้า หน้าผากและรักแร้ เป็นต้น อาการดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเป็นโรคของร่างกายก็ได้ และทำให้เกิดความวิตกกังวลซ้ำซ้อนมากยิ่งขึ้น

ผู้ป่วยเกือบครึ่งหนึ่งมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ หรือปวดหลัง เพราะความวิตกกังวล ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวและเกิดอาการปวดในบางส่วนของร่างกายที่พบบ่อยคือ ศีรษะ หลังคอ และหลังส่วนล่าง ผู้ป่วยวิตกกังวลเหล่านี้ เมื่อไปพบแพทย์ผู้ตรวจร่างกายแล้วอาจบอกกับผู้ป่วยว่าเป็นโรคหัวใจอ่อนบ้าง ความดันโลหิตต่ำบ้าง หรืออื่นๆผู้ป่วยก็จะเกิดโรคอันเนื่องมาจากแพทย์เป็นต้นเหตุเพิ่มขึ้น เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายแล้วบอกว่าไม่เป็นอะไรแต่ก็ให้ยามากิน ผู้ป่วยก็เกิดความสับสน ก็เมื่อไม่เป็นไรแล้วจะต้องกินยาทำไมกัน

ถ้าแพทย์มีเวลาสักเล็กน้อย อธิบายให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจวิธีการนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แนะนำให้ผู้ป่วยรู้จักผ่อนคลายความตึงเครียดของจิตใจ เช่น แนะนำให้ปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ กับพ่อแม่หรือญาติใกล้ชิด เพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ ก็เป็นทางให้ผู้ป่วยได้ระบายอารมณ์ส่วนหนึ่ง แนะนำให้ผู้ป่วยใช้เวลาในกิจวัตรประจำวันโดยมิให้มีเวลาว่างที่จะทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านของจิตใจได้อีกทางหนึ่ง
ในกรณีที่มีความเคร่งเครียดกับการงานมาก ก็แนะนำให้ผู้ป่วยรู้จักพักผ่อนหย่อนใจบ้าง เพื่อคลายความเครียด

ในกรณีผู้สูงอายุ การนำเอาหลักของพุทธศาสนามาใช้เพื่อเตือนสติผู้ป่วยให้รู้จักปล่อยวาง ให้ยอมรับสภาพของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และกรรมได้ผลดีไม่น้อย
โรคประสาทมีสาเหตุสำคัญมาจากความวิตกกังวลใจ ไม่เชื่อมั่นในตนเอง ขาดความภาคภูมิใจ การรักษาตามความเชื่อของพื้นบ้าน ย่อมได้ผลบ้าง เช่น รดน้ำมนต์ บนบานศาลกล่าว ให้หมอดูทำนายโชคชะตา สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจช่วยลดความวิตกกังวลได้พอสมควร ซึ่งชาวบ้านจำนวนไม่น้อยประพฤติปฏิบัติอยู่ในขณะนี้

นอกจากวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในกรณีที่มีความหงุดหงิดและวิตกกังวลสูงมาก การซื้อยากินเองทำได้ เช่น ยาไดอะซีแพมหรือคลอร์ไดอะเซปอกไซต์ ในขนาดต่ำๆกินเป็นครั้งคราวเมื่ออยู่ในสภาพเครียดที่ทนไม่ได้ เช่น ไดอะซีแพมขนาด 2-5 มิลลิกรัม หรือ คลอร์ไดอะเซปอกไซด์ขนาด 5-10 มิลลิกรัม ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ตามควร และยังช่วยให้หลับสบายมากขึ้นด้วย
การใช้ยาคลายความกังวลในขนาดต่ำดังกล่าวเป็นครั้งคราวเพื่อช่วยตนเองไม่มีอันตราย ไม่เกิดการเสพติดแต่อย่างใด ถ้าใช้ยาดังกล่าวแล้วไม่ได้ผลแน่นอนท่านควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาหารือและรับการรักษาต่อไป

อาการปวดหัวก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีสาเหตุจากร่างกายควรกินยาแก้ปวด เช่น แอสไพลิน หรือพาราเซตามอล เป็นครั้งคราวช่วยระงับอาการปวดได้ แต่แอสไพลินไม่ควรคิดขณะท้องว่างเพราะระคายเคืองกระเพาะอาหาร ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการประสาทที่รุนแรง เช่น การกลัวโดยไม่มีเหตุผล กลัวที่สูง กลัวที่กว้าง กลัวเมื่อเข้าไปอยู่ในฝูงชน มีอาการใจเต้นใจสั่นคล้ายจะเป็นลมหมดสติ กลัวเชื้อโรค กลัวมะเร็ง และอื่นๆความกลัวรุนแรงจนไม่สามารถหักห้ามใจได้ หรือเป็นโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ เช่น ต้องล้างมือวันละหลายๆครั้งจนเน่าเปื่อย อาบน้ำครั้งละนานๆและอื่นๆ อาการทางประสาทของผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เพราะสลัดความคิดและความรู้สึกไม่ออกจำเป็นต้องมาพบจิตแพทย์เพื่อการบำบัดรักษา

 

3. โรคประสาทที่แสดงอาการทางร่างกายและเกิดโรค
เช่น หืด แผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่อักเสบ ผื่นคันที่เรียกว่าประสาท ผิวหนัง ความดันเลือดสูงโดยหาสาเหตุไม่ได้ ฯลฯโรคประสาทเหล่านี้ควรได้รับการรักษาจากแพทย์
 

4. ปัญญาอ่อน
บุคคลปัญญาอ่อนเป็นผู้ที่น่าสงสารและน่าเห็นใจ สำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานสติปัญญาต่ำมากเหล่านี้ไม่สามารถรักษาได้ แต่สามารถที่จะฝึกอบรม เรียนหนังสือและประกอบอาชีพได้ในขอบเขตของผู้ป่วยในแต่ละราย
ในกรณีที่ท่านมีบุตรหลานสงสัยว่าเป็นผู้มีสติปัญญาต่ำควรพาไปที่โรงพยาบาลปัญญาอ่อนเพื่อปรึกษาหาทางช่วยเหลือในการเรียนและฝึกอบรมสำหรับบุคคลปัญญาอ่อน
 

5.บุคลิกภาพปรวนแปร
บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่เสียความประพฤติ เกเร ต่อต้านสังคม ฯลฯ การแก้ไขเป็นสิ่งที่ยาก ราวครึ่งหนึ่งกลับตัวได้เมื่ออายุเลย 21 ปี การป้องกันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญพ่อแม่ควรมีเวลาให้ลูกอย่างพอเพียงให้ความรักความอบอุ่นใกล้ชิดบุตรหลาน ทำตนให้เป็นที่พึ่งพาของบุตรหลานทางด้านจิตใจได้ เขาเหล่านั้นก็จะเจริญเติบโตเป็นบุคคลที่มีจิตใจสมบูรณ์มองโลกในแง่ดี ไม่ต่อต้านสังคม หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา
ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรละเลยมองข้ามความสำคัญทางจิตใจของบุตรหลานของท่าน เพราะเมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นแล้วท่านจะเสียใจและแก้ไขได้ยาก


⇒โรคระบบประสาทไม่ใช่โรคทางจิตเวช
โรคระบบประสาท ได้แก่ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นทางสมอง ไขสันหลังและเส้นประสาท ซึ่งเป็นโรคทางกาย ส่วนจิตใจและอารมณ์นั้นเป็นปกติดี เช่นคนทั่วไป เช่น โรคอัมพาต เนื้องอกในสมอง ตกเลือดในสมอง ไขสันหลังอักเสบ โปลิโอ โรคลมชักหรือลมบ้าหมู ปลายประสาทอักเสบ เป็นต้น
โรคเหล่านี้จำเป็นต้องพบแพทย์อาจต้องตรวจด้วยการเอ็กซเรย์ บางอย่างอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
จึงไม่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคจิตเวชและไม่อยู่ในการดูแลรักษาโดยจิตแพทย์
พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ โรคจิตโรคประสาทเป็นโรคทางใจ ส่วนโรคระบบประสาทเป็นโรคทางกาย
ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันครับ .


 

 


 

ข้อมูลสื่อ

48-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 48
เมษายน 2526
โรคน่ารู้
นพ.วิจารณ์ วิชัยยะ