• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ช่วยฉันด้วย

ช่วยฉันด้วย

คอลัมน์ “ความรู้เรื่องยา” ที่นำเสนอโดยกลุ่มศึกษาปัญหายา ได้ลงตีพิมพ์ใน “หมอชาวบ้าน” มา 2 ฉบับแล้ว ครั้งนี้เราขอนำบทความของกลุ่มเภสัชกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาตีพิมพ์ให้ท่านได้อ่านกันบ้าง หวังว่ากลุ่มต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องหยูกยา คงจะร่วมกันเขียนบทความมาลงในคอลัมน์ “ความรู้เรื่องยา” นี่นะครับ

ฉันเฝ้ามองสายฝนที่ตกหยิมๆ ซึ่งเป็นฝนแรกของปีนี้ ต่อไปคงตกชุกลซีนะ ฉันคิดตามประสาคนจิตไม่ว่าง

ฝนเริ่มตกแล้วนะ ชาวบ้านคงจะเป็นหวัดกันบ้างละ แล้วจะมีไข้เลือดออกระบาดในเด็กเหมือนปีที่แล้วหรือไม่หนอ ฉันฉุกคิดถึงคำพูดของเพื่อนร่วมกลุ่มฯของฉัน

“รู้ไหมพี่ ที่อำเภอหนู ชาวบ้านใช้ยาซองแก้ไข้ตัวร้อนกับเด็กกันอย่างผิดๆ เยอะแยะเลย”

ฉันเริ่มสงสัย แล้วที่อำเภอที่ฉันอยู่ละ จะเป็นอย่างไร

ฉันเริ่มร้อนรน เอ! หากเด็กเป็นไข้เลือดออกแล้วไปกินยาซองประเภทนั้นจะไม่แย่หรือ?

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือสัมผัส ฉันขอไปสัมผัสโดยตรงเสียจะดีกว่า เป้าหมายคือโรงเรียนประชาบาลในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลในความรับผิดชอบของโรงพยาบาล 3 แห่ง ฉันมีเพื่อนร่วมทางที่ดี พร้อมสไลด์เทปชุด “คุณยายจอมซ่าผจญฆาตรกรจิ๋ว*”

ฉันอยู่ต่อหน้าเด็กเล็กๆ ชั้นเด็กเล็ก และป.1 ช่างน่ารักไร้เดียงสา ฉันชูซองยาประเภทที่สงสัยขึ้นถาม

“นี่อะไร?” เสียงเด็กตอบสวนทันควัน “โคมายซิน”* ฉันเริ่มขนลุกและชูซองยาชนิดใหม่ขึ้นถาม

“นี่อะไร?” เสียงเด็กแข่งขันกันตอบ คาอูลิน’* ฉันสะอึก แข็งใจชูซองยาขึ้นอีกซองหนึ่ง

“นี่อะไรกัน?” เด็กเล็กตอบคล่อง “หัวสิงห์”* ฉันเริ่มมองเห็นอันตราย

อะไรกันนี่ เด็กเล็กๆ ที่เพิ่งเข้าโรงเรียน 2-3 วัน คงไม่สามารถอ่านหนังสือบนซองยาที่ชูออกแน่ ซ้ำยังเป็นชื่อฝรั่งๆ อีกด้วย ที่เด็กๆ ตอบได้คงไม่พ้นพ่อแม่เด็กกรอกยาให้กินเป็นนิจ แล้วอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร? ฉันตะโกนถามในใจ

ฉันยังไม่ยอมเชื่อ ข้อมูลเพียงน้อยนิดจะไปสรุปได้อย่างไร ฉันออกสำรวจสอบถามชาวบ้านตามหมู่บ้านตามตำบลหลายๆ แห่ง มีผลเหมือนเดิมคือ คนใช้กันมาก ฉันเศร้า แต่ที่กังวลใจมากที่สุดเห็นจะเป็นการสนทนากับอาจารย์ระดับโรงเรียนมัธยม

“ซองพวกนี้หรอ จำได้ว่าเมื่อตอนเด็กๆ เวลาที่น้องเป็นไข้ตัวร้อน คุณแม่ให้ไปซื้อยามาให้น้องทานบ่อยๆ เดี๋ยวนี้เห็นชาวบ้านใช้กันเยอะนี่”

“แล้วไม่กลัวหรอ เด็กกินไปแล้วฟันจะดำ บางทีทำให้เป็นโรคโลหิตจางถึงตายได้นะ” ฉันย้อนถาม

อาจารย์ตอบครับ “ก็ไม่รู้นี่ เห็นใช้กันมาตั้งนานแล้ว เออนี่หมอ หากรู้ว่าอันตรายอย่างนี้ แล้วทำไมถึงไม่ห้ามใช้เขาเลิกผลิตเลิกขายกันละ หมอไม่ต้องมัวเสียเวลาไปคอยแนะนำสั่งสอนเขา”

ฉันได้แต่นิ่ง หน้าชา พูดไม่ออกลิ้น จุกคอหอย ไม่มีคำตอบหากฉันพูด คงไม่พ้นต้องด่าตัวเอง เพราะฉันเป็นข้าราชการคนหนึ่งของรัฐบาล

ใครก็ได้ช่วยฉันที ช่วยตอบด้วยฉันสับสน

หมายเหตุ

คุณยายจอมซ่าผจญฆาตรกรจิ๋ว* เป็นเทปสไลด์เผยแพร่เรื่องไข้เลือดออก จัดทำโดยกลุ่มศึกษาปัญหายา กับกลุ่มเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน

โคมายซิน* เป็นยาซอง สำหรับเด็กซองสีส้ม เป็นยาคลอแรมเฟนิคอล มีตัวยาซึ่งจะกดไขกระดูก ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ชนิดขาดเม็ดโลหิตแดงกับโลหิตขาว อาจทำให้เด็กอ่อนแอและถึงตายได้ (รวมถึงยาซอง ยาน้ำที่เป็นยาคลอแรมเฟนิคอลทุกชนิด)

คาอูลิน* เป็นยาซอง หน้าซองเขียนยาผงเด็ก (พิมพ์ตัวใหญ่) หลังซองเขียนตัวเล็กห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เป็นยาเตตราซัยคลีน ทำให้เด็กมีฟันดำ น้ำตาล และเกิดกระดูกผุได้ (รวมถึงยาซองและยาน้ำที่เป็นยาเตตราซัยคลีนทุกชนิด)

หัวสิงห์* เป็นยาซอง ซึ่งมี แอสไพรินที่จริงแล้วเป็นยาที่ดี แต่ชาวบ้านนิยมใช้ในเด็กตัวร้อน ซึ่งเราไม่อาจทราบว่าเด็กตัวร้อนเกิดจากโรคที่ห้ามใช้ยาประเภทนี้หรือไม่ (เช่น มีไข้เลือดออก ไข้อีสุก อีใส ไข้หวัดใหญ่) และในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เพราะจะทำให้อาการทรุดหนักกว่าเดิม และอาจถึงแก่ชีวิตได้ (รวมถึงยาซองที่เข้ายาแอสไพรินทุกชนิด)

ข้อมูลสื่อ

80-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 80
ธันวาคม 2528