• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคที่เกิดจากยา

โรคที่เกิดจากยา


ยาแม้จะเป็นสิ่งให้คุณอนันต์ แต่ก็อาจก่อโทษได้มหันต์ เช่นกัน
ฉบับนี้ มาพูดกันถึงโรคที่เกิดจากยาหรือโรคยาทำกันดีไหมครับ ?

ภาพที่ 1
อาการลมพิษ ผื่นคัน ที่เกิดจากการแพ้ยา
ยาที่ทำให้แพ้ได้บ่อย ๆ ก็คือกลุ่มยาซัลฟา เพนิซิลลิน ยาแก้ปวดลดไข้ แอสไพริน คนที่แพ้ยาจะเกิดอาการลมพิษผื่นคันขึ้นหลังกินยาสัก 15-30 นาที
ถ้าสงสัยมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นควรหยุดกินยานั้น ๆ ต่อไป แล้วกินยาแก้แพ้ – ยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีน (เม็ดละ 5 สตางค์ – ร้อยเม็ด 5 บาท) 1 เม็ด และทาด้วยยาแก้ผดผื่นคัน (คาลาไมน์โลชั่น ขวดเล็กประมาณ 3 บาท)
ทางที่ดีควรปรึกษาหมอให้แน่ใจ

ถ้ารู้แน่นอนว่าแพ้ยานั้นจริง ๆ ต่อไปก็ห้ามกินยานั้น ๆ อีกต่อไป และทุกครั้งที่หาหมอ ควรแจ้งให้หมอทราบว่า
ตัวเองเคยแพ้ยาอะไร หมอจะได้ไม่จ่ายยาที่เคยแพ้ให้กินซ้ำอีก มิฉะนั้น อาจเกิดอาการแพ้ได้อีกและถ้าแพ้ยาฉีดเช่น ยาเพนิซิลลินชนิดฉีด อาจแพ้ถึงขั้นตายคาเข็มได้


ภาพที่ 2 
ฟันเหลืองดำจากเตตร้าซัยคลีน

เตตร้าซัยคลีน เป็นยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ชนิดหนึ่ง ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อหนอง เช่น แผลเป็นหนอง เป็นฝี พุพอง ฯลฯ

ยานี้ถ้าใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งอยู่ในวัยที่ฟันกำลังเจริญเติบโต ยาก็จะเข้าไปเคลือบอยู่ในเนื้อฟัน ทำให้ฟันกระดำกระด่าง ออกเป็นสีเหลือง ๆ ดำ ๆ ได้
สีจะติดฟันไปจนชั่วชีวิต จะขัดสีอย่างไรก็ไม่ออกทำให้กลายเป็นปมด้อยสำหรับบางคนได้ยานี้จึงห้ามใช้ในเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ รวมถึงเด็กที่อยู่ในท้องแม่ด้วย หญิงตั้งครรภ์จึงควรระวัง อย่าไปใช้เตตร้าซัยคลีนเข้านะครับ !
เตตร้าซัยคลีน มีทั้งยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำเชื่อม ยาผง เป็นซอง ๆ และยาฉีด มีชื่อเรียกมากมายหลายยี่ห้อ ก่อนใช้ยาอะไรก็ควรถามให้แน่ใจว่าเข้ายานี้หรือเปล่า มิฉะนั้นจะกลายเป็นการสร้างปมด้อยแก่เด็กไปจนชั่วชีวิต


ภาพที่ 3
โรคโลหิตจางชนิดร้ายแรงจากคลอแรมเฟ นิคอล

คนไข้มีหน้าตาซีดขาว มีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ และมีไข้ (ต้วร้อน) เนื่องจากการแพ้ยาคลอแรมฯ ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่ง

ยานี้จะไปกดไขกระดูกซึ่งเป็นตัวสร้างเม็ดเลือด ทำให้ร่างกายขาดเม็ดเลือดทุกชนิด กลายเป็นโรคโลหิตจาง หน้าตาซีดขาว มีเลือดออกง่าย และภูมิต้านทานลดลง เป็นเหตุให้ติดเชื้อได้ง่าย
หมอเรียกโลหิตจางชนิดร้ายแรงแบบนี้ว่า โรคโลหิตจางอะพลาสติค (Aplastic amemia)ถ้าเป็นโรคนี้เข้าโอกาส
เป็นตายเท่ากัน คือตายได้ถึงครึ่งต่อครึ่งดังนั้น จึงไม่ควรใช้ยาคลอแรมฯ อย่างพร่ำเพรื่อ ยานี้มีชื่อเรียกมากมายหลายยี่ห้อ และมีรูปแบบต่าง ๆ เช่นเดียวกับเตตร้าซัยคลีน
ข้อสำคัญ เราอาจซื้อยานี้มากินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะที่มีขายอยู่ในท้องตลาด มีบางยี่ห้อหลอกโฆษณาว่าเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน หรือไม่ก็โฆษณาจนกลายเป็นยารักษาโรคได้ครอบจักรวาล
หรือไม่ก็ถูกผสมอยู่ในยาชุดแก้หวัด แก้ไข้ต่าง ๆ

ก่อนกินยาอะไร โปรดอย่าลืมถามให้แน่ใจว่าเขาไม่ได้จ่ายคลอแรมฯ มาให้นะครับ !
 

ข้อมูลสื่อ

43-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 43
พฤศจิกายน 2525
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ