• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตาบอดตาใสรู้ไว้ ใช่ว่า

ตาบอดตาใสรู้ไว้ ใช่ว่า

 

 ฉบับที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึง โรคที่เข้าข่ายของการเป็นคนที่จะได้ชื่อว่า “ตาบอด-ตาใส” ไว้ว่ามี
1.โรคตาเข
2.สายตาผิดปกติ
3.ต้อหินชนิดเรื้อรัง

ก็จะว่าต่อถึง

4.ประสาทจอรับภาพเสื่อมชนิดเกิดกับเซลล์มีสีที่เรียกว่าโรคเรทติไนติสปิคเม้นท์โตซ่า
5.โรคประสาทตาเสื่อมหรือฝ่อ
6.โรคจอรับภาพมีการเปลี่ยนแปลงจากโรคความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงหรือโรคเบาหวานระยะท้าย
7.จอรับภาพหลุดลอก 

4. ประสาทจอรับภาพเสื่อมจากเซลล์มีสี (Pigment)
หรือเรียกว่าโรค “เรทติไนติส ปิคเม้นท์โตซ่า”(Retinitis pigmentosa)โรคนี้ถ้าเกิดกับใครถือว่า เคราะห์กรรมทำแต่งไว้แต่ปางก่อนโดยแท้ เกิดจากกรรมพันธุ์ ถ่ายทอดมาจากปู่ย่าตายาย ต้องมีใครคนหนึ่งเป็น ถ่ายทอดมาทางสายโลหิตให้ลูกหลานรับกรรมต่อไป

อาการ :
เป็นได้ตั้งแต่เริ่มเข้าระยะหนุ่มสาว ผู้นั้นจะมีอาการเริ่มแรกให้ปรากฏคือ เข้าที่สลัวหรือตกเวลาพลบค่ำมองอะไรไม่ค่อยเห็น เดินชนอะไรอยู่เสมอเมื่อเข้าที่ร่ม หรือเข้าไปดูภาพยนต์ในโรงใช้เวลานานกว่าจะปรับตาให้เข้าบรรยากาศภายในซึ่งปิดไฟสนิท ทำให้มีอาการเช่นเดียวกับผู้ที่ตาเป็นโรคขาดวิตามิน เอ คือมองในที่มืดไม่ชัด

ครั้งอายุมากขึ้น อาการมัวเมื่อเข้าที่มืดจะมากขึ้น แทบไม่เห็นอะไรเลย อีกทั้งลานสายตาแคบเล็กลงเช่นเดียวกับโรคต้อหินชนิดเรื้อรังในข้อ 3 ผิดกันเพียงว่าโรคนี้ความดันลูกตาไม่สูง รูม่านตาไม่โต
แต่...ระยะท้ายของโรคนี้คือ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น อาจมีต้อหินแทรกซ้อนได้
การตรวจลูกตาด้านหน้า ไม่พบอะไรผิดปกติเลย มีที่ผิดสังเกตคือสายตาลดลง และถ้าตรวจด้วยเครื่องตรวจภายในลูกตา (Ophthalmoscope) จะพบลักษณะเด่นชัดเฉพาะโรคคือ มีจุดดำ ๆ ของเซลล์ปิคเม้นท์ที่จอรับภาพกระจัดกระจายอยู่โดยรอบบริเวณส่วนข้าง ๆ

การรักษา :
โรคนี้ยังไม่มียาที่ให้ผลดี ใครเป็นโรคตาบอด-ตาใส ด้วยโรคนี้ ท่านว่ารักษาแบบประคับประคองไปเถอะครับ ถึงระยะหนึ่งคือประมาณอายุเข้า 30 หรือ 40 ปี จะมองแทบไม่เห็นอะไรเลย ตาเหม่อจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย....น่าสงสารจริง ๆ

 

5. ประสาทตาเสื่อมหรือฝ่อ ( Optic atrophy)
โรคนี้พบได้บ่อยพอสมควร มีมาให้ตรวจอยู่เรื่อย ๆ อาการสำคัญคือตาข้างใดข้างหนึ่งมัว ถ้าไม่รักษาให้ถูกต้อง ปล่อยทิ้งไว้รู้เท่าไม่ถึงการ จะมืดสนิทได้ ไม่มีอาการเจ็บปวดอะไรเป็นได้ทุกอายุ ทุกพศ ทุกวัย วัยที่พบมากคือ 20 ถึง 30 ปี

สาเหตุของโรค :
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะประสาทตาเสื่อมอาจมีได้หลายเหตุ เป็นต้นว่า
ก.มีอาการอักเสบที่ตัวประสาทตาโดยตรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส

ข. จากการกินเหล้าเถื่อนต้มเอง ที่มีเมธิลแอลกอฮอล์เจือปนอยู่ (Methylalcohol) ดื่มเข้าไปเพียงแก้วเดียว ถ้าคนนั้นมีความไวต่อการแพ้แอลกอฮอล์ ชนิดนี้อยู่แล้ว ตาจะค่อย ๆ มัวลง และมืดทั้งสองข้าเพียงเวลา 24 ชม.

ค. กินมะเกลือเพื่อถ่ายพยาธิตัวกลมตัวแบนที่ชาวบ้านกินกัน หากกระทำผิดวิธี บางคนอาจแพ้สารในมะเกลือสุก กินเข้าไปวันรุ่งขึ้นตามองไม่เห็นอะไรเลย

ง. สารตะกั่ว สารหนู ดื่มกินเข้าไปทำให้เป็นพิษต่อประสาทตาได้ ตาบอดไปไม่รู้ตัว

จ.เกิดจากแรงกระแทกบริเวณเบ้าตาข้างนั้นโดยตรง เป็นต้นว่า หกล้ม หน้าซีกนั้นกระแทกพื้น ตกรถ รถชนกันโดนต่อย ตบ ตี กระดูกเบ้าตาแตกร้าวไปกดประสาทตา ตาบอดได้

ฉ. มีมะเร็งไปกดที่ประสาทตาส่วนหนึ่งส่วนใดตั้งแต่หลังลูกตาเรื่อยไปจนถึงภายในสมอง เรื่องนี้ยาก

ช. เส้นเลือดอุดตัน ขาดเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณประสาทตา ทำให้ขาวซีดแล้วฝ่อห่อเหี่ยวไปในที่สุด

ซ. ยารักษาวัณโรคปอดบางชนิด เช่น อีแธมบูตอล กินอยู่นาน ๆ “ตาบอด-ตาใส” ได้ การกินควรถามแพทย์ผู้รักษาก่อนว่า...อันตรายต่อตาไหม ?

การรักษา :
การรักษาโรคประสาทตาฝ่อเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าเป็นมาจากอะไร ค่อย ๆ แก้สาเหตุไป แต่กระนั้นก็ได้เพียง “ทรง” ระวังไม่ให้ “ทรุด” ก็บุญโขแล้ว
พวกนี้ตาด้านนอกใสแจ๋ว ม่านตากลมโต ชาวบ้านอาจจะชมว่า “ตาดำกลมโต” สวยดีแท้ แต่ที่ไหนได้...มองไม่ค่อยเห็น อาจบอดไปในที่สุด สู้พวกตาไม่สวยแต่เห็นดี ๆ เอาอันหลังดีกว่า
 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

44-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 44
ธันวาคม 2525
โรคน่ารู้
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์