• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฝี

ฝี

คุณผู้อ่านคงคุ้นเคยกับภาพข้างต้นนี้เป็นอย่างดีใช่ไหมครับ?

 

เชื่อว่าทุกคนคงเคยเป็นฝีตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมาแล้ว

ฝี (Boils,Abscess) เป็นการอักเสบของต่อมไขมันและขุมขน ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อหนอง) ชนิดหนึ่ง มีลักษณะขึ้นเป็นตุ่มหรือก้อนบวมแดง และปวด ถ้ากดถูกจะเจ็บ จะสังเกตเห็นมีผมหรือขนอยู่ตรงกลาง ตอนขึ้นใหม่ๆ จะมีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง แล้วค่อยๆ ขยายโตขึ้น ต่อมาจะค่อยๆ นุ่มลงและกลัดหนอง เมื่อฝีเป่งมากๆ ก็อาจแตกได้เองทำให้มีหนองไหลเยิ้ม พอฝีแตก อาการเจ็บปวดก็จะทุเลาลงทันที แล้วจะค่อยๆ หายไปเอง โดยกลายเป็นรอยแผลเป็นเล็กๆ

บางครั้งอาจมีต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงอักเสบร่วมด้วย เช่น ถ้าเป็นฝีที่เท้า ก็อาจมีไข่ดัน (หมายถึงต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ) บวมและปวดด้วย บางคนอาจมีฝีขึ้นหลายหัวติดๆ กัน คล้ายฝักบัวจึงเรียกว่า ฝีฝักบัว (Carbuncles) ซึ่งอาจทำให้มีไข้ข้นและอ่อนเพลียร่วมด้วย

เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีหัวฝีขึ้น ให้ใช้น้ำร้อนประคบวันละ 2-3 ครั้ง นานครั้งละ 10-15 นาที และกินยาแก้ปวดแอสไพรินหรือพาราเซตามอล

ถ้าหัวฝีขนาดเล็ก อาจค่อยๆ หายไปได้เอง ถ้าหัวฝีทำท่าจะลุกลาม หรือขึ้นตามใบหน้า หรือขึ้นเป็นฝีฝักบัว ควรกินยาปฏิชีวนะควบด้วย สำหรับคนที่ไม่เคยแพ้ยาก็ให้กิน เพนวี (ผู้ใหญ่ครั้งละ 400,000 ยูนิต เด็ก 200,000 ยูนิต) วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง และก่อนนอน ถ้าเคยแพ้ยานี้ก็ให้กินอีริโทรมัยซินแทน (ผู้ใหญ่ครั้งละ 2 เม็ด เด็กครั้งละ 1 เม็ด หรือ 1-2 ช้อนชา) วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ถ้าไม่ดีขึ้นหรือกลัดหนอง ควรไปพบแพทย์ อาจต้องเจาะหรือผ่าระบายเอาหนองออก ถ้ากินยาแล้วดีขึ้น ควรกินนานอย่างน้อย 7-10 วัน

ข้อควรระวังอย่าบีบหัวฝีขณะที่ยังไม่สุก อาจทำให้เชื้อลุกลามได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นฝีที่บริเวณกลางๆ ใบหน้า อาจทำให้ลุกลามเข้าสมองได้

คนที่เป็นฝีขึ้นบ่อยๆ ควรให้แพทย์ตรวจเช็คร่างกาย อาจมีโรคที่ซ่อนเร้นทำให้ร่างกายอ่อนแอ ที่พบบ่อย เช่น โรคเบาหวาน โลหิตจาง โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคขาดอาหาร เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

82-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 82
กุมภาพันธ์ 2529
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ