• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เบาหวาน ตอน : การดูแลรักษา

เบาหวาน ตอน : การดูแลรักษา

ตื่นแต่เช้า ออกกำลังกายให้สดชื่น พร้อมเปิดวิทยุ (เมดอินไทยแลนด์) ไปที่คลื่น 864 กิโลเฮิรตซ์ สถานี ปชส.7 รายการ “สุขภาพประจำวัน” เวลา 5.00 น.-5.15 น. ทุกวันจันทร์ถึงเสาร์ และรายการ “หมอชาวบ้าน” เวลา 4.30-5.00 น. ทุกวันเสาร์

บางท่านที่เป็นเบาหวานมักมีความวิตกกังวลว่าจะรักษาให้หายได้ยาก เพราะการรักษาโรคนี้จะต้องใช้เวลา การดูแลและการใช้ยาไปพร้อมๆ กัน สำหรับผู้ที่ขาดการดูแลเรื่องใดก็อาจทำให้ระยะเวลาที่ใช้รักษายาวนานขึ้น

ดังนั้นเราควรจะทราบว่าการดูแลรักษาตัวเองทำได้อย่างไร มีข้อจำกัดอย่างไรในการใช้ยา ก็ขอเชิญฟังคำอธิบายของ รศ.นพ.สาธิต วรรณแสง จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

นพ.วิชนารถ: ถ้าเรารู้ตัวแน่นอนว่าเป็นเบาหวาน จะดูแลรักษาตัวเองได้อย่างไร

นพ.สาธิต: โรคเบาหวานเป็นโรคที่สามารถจะช่วยตัวเองได้ดีที่สุด วิธีแรกคือ การควบคุมอาหาร ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการรักษาเบาหวาน อาหารที่ควรจะเลิก ได้แก่ น้ำหวานน้ำอัดลม นมข้นหวาน ขนมหวาน น้ำผึ้ง อาหารที่ควรจะหลีกเลี่ยง กินให้น้อยแต่ไม่ถึงกับงด คือ พวกผลไม้หวาน เช่น ทุเรียน ลำไย มะม่วงสุก โดยเฉพาะมะม่วงที่กินกับข้าวเหนียว พวกแป้ง ของมันๆ ของทอด หรือแกงกะทิ กินได้แต่อย่าให้มาก

นพ.วิชนารถ: มีอาหารประเภทใดที่ต้องกินเพิ่มหรือเปล่า

นพ.สาธิต: อาหารที่ควรกินเพิ่ม คือ พวกเนื้อ เนื้อปลาดีที่สุดแล้ว มีเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือกินโปรตีนที่ได้จากพืช ที่ดีที่สุดคือ ถั่ว หรือผลผลิตจากถั่วอาหารที่ใยมากๆ ได้แก่ พวกผัก ข้าวซ้อมมือ เม็ดแมงลักนี้ก็มีใยมาก

นพ.วิชนารถ: เหล้าและเบียร์นี้ต้องงดไหม

นพ.สาธิต: อันนี้เป็นเรื่องสำคัญต้องงดทั้ง 2 อย่าง เพราะเบียร์คือน้ำตาลที่เตรียมเอาไว้แล้ว ดื่มเข้าไปก็ดูดซึมดีมาก ส่วนเหล้าไม่ดีหลายอย่าง คือ เมื่อกินยารักษาเบาหวาน ยาบางอย่างมีปฏิกิริยากับเหล้าได้ กินเข้าไปอาจทำให้หน้าแดง แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดลดมากอีก อย่างดื่มเหล้ามักมีกับแกล้ม ทำให้ไม่ค่อยระวังตัว ก็อาจจะคุมอาหารได้ไม่ดี

นพ.วิชนารถ: ผู้ป่วยโรคนี้จะออกกำลังกายได้ไหม

นพ.สาธิต: อันนี้เป็นวิธีที่สองของการรักษาตัวเอง ควรจะทำสม่ำเสมอ คนไหนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเบาหวาน จะคุมยาก

นพ.วิชนารถ: นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติอย่างอื่นอีกไหม

นพ.สาธิต: มีอีกข้อที่สำคัญมาก คืออาการชาตามปลายเท้า ควรจะดูแลโดยกลับมาตอนเย็นล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำอุ่น เสร็จแล้วเช็ดซอกเท้าให้สะอาด ดูว่ามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า เพราะบางคนไม่เหยียบของมีคมมาเลือดไหลแต่ไม่รู้ตัวเพราะอาการชาที่เท้า รองเท้าถุงเท้าก็อย่าใส่ที่คับเกินไป อีกอย่างคือเรื่องประคบน้ำร้องต้องระวัง เมื่อมีอาการชาตามปลายเท้าก็ไปหากระเป๋าน้ำร้อนมาประคบ แต่มันร้อนเกินไปโดยที่ตัวเองไม่รู้สึก ดังนั้นเวลาจะใช้กระเป๋าน้ำร้อน ควรให้คนอื่นที่เขามีความรู้สึกดีลองจับดูว่ามันใช้ได้หรือเปล่า

การตัดเล็บก็ให้ตัดอย่างระวังถ้ามีตุ่มพองใสๆ อย่าเอาเข็มบ่ง มีตาปลาหรอหูดก็อย่าไปตัด ให้แช่น้ำอุ่นๆ แล้วเอาผ้าสะอาดค่อยๆ ถูให้มันลอกออก

ที่สำคัญคือ กรออกกำลังขาการเดินที่ดีที่สุด หรือจะนั่งแกว่งขาวันละ 5-10 นาทีก็ได้

นพ.วิชนารถ: เพราะเหตุใดจึงต้องระวังรักษาเท้าให้ดีไม่ให้เกิดแผล

นพ.สาธิต: เพราะว่าน้ำตาลในเลือดมันสูง ผิวหนังก็สูงด้วย เวลาเป็นแผลที่ผิวหนังมันจะหายช้ากว่าปกติเนื้อเยื่อต่างๆ จะเจริญได้มันข้นอยู่กับน้ำตาลด้วย ถ้ามีน้ำตาลมากไปมันก็เจริญไม่ค่อยดี แล้วมีเชื้อโรคแทรกอีกก็ยิ่งหายช้า และเลือดที่ไปเลี้ยงแถวปลายมือปลายเท้าก็ไม่ดี เพราะเส้นเลือดมันตีบแข็ง

นพ.วิชนารถ: แล้วการใช้ยาสำหรับโรคเบาหวานมียาอะไรบ้าง

นพ.สาธิต: ยาที่ใช้สำหรับโรคเบาหวานมีอยู่ 2 ชนิด คือ ยากินกับยาฉีดยากินที่ใช้กันแพร่หลายมีหลายชนิดยกตัวอย่างเช่น ยาชื่อคลอร์โปรปาไมด์ เป็นยาที่ค่อนข้างใช้สะดวก เพราะกินวันละ 1 ครั้ง ราคาไม่แพงขององค์การเภสัชกรรมก็มีขาย ควรกินในเวลาเช้าก่อนอาหาร ประมาณ 7 หรือ 10 วัน อาการจะดีขึ้น ยาตัวนี้ต้องระวังน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไปเมื่อใช้ในคนเป็นเบาหวานที่อายุมาก ห้ามใช้ในคนเป็นโรคตับ โรคไตหญิงตั้งครรภ์

ส่วนยาฉีดคือ อินซูลิน ทำจากตับอ่อนของวัวหรือหมู มาสกัดเอาอินซูลินใช้ฉีดรักษาเบาหวาน มีวิธีใช้ 2 วิธี คือ

วิธีแรก ฉีดตลอดชีวิตใช้สำหรับคนไข้เบาหวานที่เป็นตั้งแต่เด็ก เรียกว่าเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลินตลอดชีวิต โดยมากพวกนี้หมอหรือพยาบาลจะสอนให้ฉีดยาเองเป็น เพราะต้องฉีดยาทุกวันตลอดชีวิต

ประเภทที่ 2 คือ ใช้ฉีดชั่วคราว ในช่วงที่ตั้งครรภ์ไม่สามารถกินยาได้ หรือไม่สบายมาก หมอจะเปลี่นจากยากินเป็นยาฉีด แต่บางคนอาจจะแพ้อินซูลินได้ โดยมีผื่นขึ้นหรือน้ำตาลในเลือดลดเกินไป

นพ.วิชนารถ: การใช้ยากินหรือยาฉีดต้องให้หมอเป็นผู้แนะนำใช่ไหมครับ

นพ.สาธิต: ครั้งแรกต้องไปพบหมอก่อน เพื่อจะได้รับคำแนะนำแล้วอาจกลับไปใช้ยาเองที่บ้านได้ โดยต้องตรวจปัสสาวะเองเป็น คนไข้ที่เป็นเบาหวานตั้งแต่เด็กๆ เขาจะสามารถเพิ่ม-ลดยาเองได้ โดยการตรวจว่าวันไหนปัสสาวะบวก 4 ก็เพิ่มยาฉีด วันไหนปัสสาวะไม่มีน้ำตาลเลย และมีอาการน้ำตาลต่ำ ก็ต้องลดยาฉีด

นพ.วิชนารถ: การกินยาจะต้องกินยามากน้อยอย่างไร

นพ.สาธิต: ถ้ากินยาน้อยเกินไปก็จะคุมน้ำตาลไม่ได้ผล น้ำตาลจะสูงขึ้น อาการเบาหวานซึ่งมีน้อยอาจมีมากขึ้นก็ได้ ถ้ากินมากเกินไปน้ำตาลในเลือดก็ลดมาก มันจะมีอาการเตือนนำก่อน คือ ใจสั่น เหงื่อออก ตัวเย็น ปวดหัวเหมือนกับเราหิวข้าวมากๆ อาการเตือนแบบนี้ต้องระวัง ควรกินน้ำตาลหรือน้ำหวานเข้าไปช่วยแก้ แล้ววันต่อไปก็ลดยาลงยาฉีดก็เหมือนกัน

นพ.วิชนารถ: ถ้าเป็นเบาหวานจะกินยาอย่างอื่นที่ไม่ใช่ยารักษาเบาหวาน ควรจะมีการระมัดระวังอย่างไร

นพ.สาธิต: มียาบางอย่างที่ทำให้ยาเบาหวานหมดฤทธิ์ไปหรือเพิ่มฤทธิ์มากขึ้น เช่น ยาสเตียรอย์ ยานี้จะต้านฤทธิ์ยาเบาหวาน ทำให้คุมเบาหวานได้ยาก ยาพวกซัลฟา เป็นยาเสริมฤทธิ์ยาเบาหวาน คือถ้ากินร่วมกับยาเบาหวานอาจทำให้น้ำตาลลดลงกว่าปกติ

นพ.วิชนารถ: คนที่เป็นเบาหวานแล้วไม่ระวังรักษาตัวให้ดีจะมีโรคแทรกอะไรได้บ้าง

นพ.สาธิต: โรคแทรกเบาหวานมีอยู่หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ที่หัว คือ ตาก็เป็นต้อกระจกง่ายขึ้น บางคนหลังม่านตามีอาการผิดปกติ ทำให้ตาบอดได้ ลงมาหน่อยที่หัวใจก็มีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนปกติ ปอดก็เป็นวัณโรคได้ง่าย คนไข้เบาหวานเกือบ 20% เป็นวัณโรคปอด มาถึงไต เบาหวานถ้าลงมาที่ไตก็เป็นไตวาย มีอาการซีด ความดันสูง คลื่นไส้อาเจียน หรือถ้าติดเชื้อที่ไต จะมีไข้หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น ลงมาถึงข้างล่างก็พวกข้อเข่า ก็อาจปวดเพราะข้อเสื่อมได้ง่ายกว่าคนปกติ มีอาการชาหรือเจ็บแปล๊บๆ ตามปลายมือปลายเท้า มักจะเป็นเวลากลางคืนหรือเวลานั่งพัก แต่พอเดินไปเดินมาก็จะดีขึ้น และส่วนล่างสุดคือปลายเท้า อาจเกิดแผลลุกลามจนอักเสบใหญ่โตหรือเป็นแผลเน่าไปก็ได้

คนที่เป็นเบาหวานจะรักษาให้หายต้องเน้นที่การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ยาเป็นแค่เครื่องช่วยเสริมเท่านั้น ยาจะได้ผลดีต้องมีการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

ข้อมูลสื่อ

83-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 83
มีนาคม 2529
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร