• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดแขนและปวดไหล่

ปวดแขนและปวดไหล่

แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ The Acupressure Health Book โดย Frank Bahr.M.D.

ความรู้เรื่องการกดจุดเป็นของเก่าแก่และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในยุโรป Dr.Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับนำมาเผยแพร่แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เพราะกดจุดก็คือ ศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี แต่การกดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็ม ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเข็มเหมือนฝังเข็ม และไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษาทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร

เมื่อมีอาการปวดแขนและปวดไหล่ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ท่านควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหรือเอกซเรย์ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งหักหรือมีสาเหตุที่ร้ายแรงอื่นๆ

อาการปวดแขนและไหล่ถึงแม้จะไม่มีสาเหตุร้ายแรง ก็อาจเป็นเรื้อรังและใช้ยาบรรเทาปวดธรรมดาไม่ค่อยได้ผล ในกรณีเช่นนี้ขอให้ท่าลงมือกดจุดได้ทันที

อาการ

อาการปวดมักปวดมากตอนกลางคืน อาจไม่ปวดอยู่ตรงที่เดียว แต่อาจหมุนเวียนไปหลายๆ ที่ ถ้าปวดมากๆ อาจทำให้มีอาการขยับแขนไม่ถนัด

สาเหตุ

มีหลายสาเหตุ เช่น ออกแรงมากไป ถูกกระแทก หรือได้รับอุบัติเหตุทำให้กระดูกหักหรือเคลื่อน ถ้ามีกระดูกหักหรือเคลื่อน ควรให้แพทย์ดึงกระดูกที่หักให้เข้าที่และใส่เฝือกไว้ กรณีนี้ห้ามกดจุด จะกดจุดเฉพาะอาการที่ไม่มีกระดูกหักหรือข้อเคลื่อนเท่านั้น

ตำแหน่งที่กดจุด

กดจุดที่ร่างกาย

1. จุด “ต้าฉุย” (ta-chui)

 

วิธีหาจุด: เมื่อก้มศีรษะลงจะมองเห็นปุ่มกระดูกนูนๆ นี่คือกระดูกคออันที่ 7 และจุดจะอยู่ที่แอ่งเล็กๆ ต่ำกว่ากระดูกนูนๆ นี้พอดี

วิธีนวด: นวดขึ้นบน

 

2. จุด “เทียนเจียว” (t’ien-chaio) จุดสำหรับแขน

 

วิธีหาจุด: จุดจะอยู่กึ่งกลางระหว่างจุดที่ 1 กับหัวไหล่

วิธีนวด: นวดเข้าหาหู

 

3. จุด “เจียนหยู” (chien-yu)

 

วิธีหาจุด:

เมื่องอศอกฝ่ามือแตะที่หน้าอกจะคลำพบแอ่งเล็กๆ ที่บริเวณด้านหน้าของหัวไหล่ ที่แอ่งเล็กๆ คือที่ตั้งของจุด

วิธีนวด:

นวดเข้าหาต้นคอ

 

4. จุด “ปี้เหน่า” (Pi-hao) จุดสำหรับกล้ามเนื้อแขน

 

วิธีหาจุด:

อยู่บริเวณด้านนอกของต้นแขนใต้ปลายสุดของกล้ามเนื้อรูปสามเหลี่ยมที่หัวไหล่ หรืออยู่ที่ปลายแหลมของกล้ามเนื้อเดลทอยด์ (Deltoid)

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน เอียงไปด้านหน้าเล็กน้อย

 

5. จุด “โส่วซานหลี่” (Shou-san-li)

 

วิธีหาจุด:

เมื่องอศอกให้หมุนเอียง 45 องศา จุดจะอยู่ต่ำกว่ามุมข้อพับประมาณ 3-4 นิ้วมือ

วิธีนวด:

นวดไปด้านหลัง

 

6. จุด “เหอกู่” (Ho-ku)

 

วิธีหาจุด:

จุดอยู่ต่ำกว่าข้อที่โคนนิ้วมือ 2 นิ้วมือ และห่างจากนิ้วหัวแม่มือ ½ นิ้วมือ

วิธีนวด:

นวดเข้าหาข้อมือ

 

7. จุด “อ้วนกู่” (wan-ku)

วิธีหาจุด:

จุดจะอยู่ที่แอ่งเล็กๆ ใกล้กับข้อมือด้านนิ้วก้อย

วิธีนวด:

นวดเข้าหาข้อมือ

 

กดจุดที่ใบหู

หูขวา:

 

1. อยู่บริเวณส่วนนูนของใบหูระหว่างขอบหูกับแอ่งหู

วิธีนวด:

นวดขึ้นบนตามแนวลูกศรชี้

2. อยู่ที่หลังหู อยู่ตรงข้ามกับจุดที่ 1

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน

หูซ้าย:

นวดเช่นเดียวกับหูขวา ในทิศทางเดียวกันกับหูขวา

การรักษา

กดจุดที่ร่างกายและใบหู ควรทำสลับวันกัน นวดวันละ 1-3 ครั้งๆ ละ 5-10 นาที ขึ้นกับความรุนแรง

การกดจุดที่ใบหูควรกดจุดให้แรงพอ

ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย มือที่จะกดจุดไม่ควรจะเย็น ถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าห่มมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่าย อาจจะโลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่างทำการกดจุด บางรายอาจมีเหงื่ออกมาก ควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. ในวันที่อากาศหนาวเย็น เมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อย ก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น

ข้อแนะนำก่อนกดจุด

1. การกดจุด หมายถึง การนวดจุดนั้นๆ โดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปทีแสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูแจจะใช้กระจกส่องช่วยหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆ นั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับผิวหนัง และนวดไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้งต่อ10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ, ปากกามนๆ นวดได้ เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดจุดแต่ละครั้งไว้ ดังนี้

  • เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½ -3 นาที
  • เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
  • เด็กโตตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
  • ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ข้างขวาและซ้าย)

8. ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วของผู้กดจุดเอง

ข้อมูลสื่อ

83-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 83
มีนาคม 2529
ลลิตา อาชานานุภาพ