• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผักชี

อาหารสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดไม่เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลในการศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

ผักชี

ผักที่ทุกคนรู้จักและเคยเห็นก็ คือ เอาไว้โรยหน้าแกงจืด ซุป หรืออาหารพวกยำๆ ต่างๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอม และเพื่อความสวยงามมากกว่าจะกินจริงๆ จึงมีคำสุภาษิตที่ว่า ‘ผักชีโรยหน้า’ สำหรับคนที่ทำความดีเพียงเพื่อหวังคำชม ลองมาดูกันซิว่า นอกจาก ‘โรยหน้า’ แล้ว ผักชียังมีประโยชน์อะไรอีกบ้าง

ชื่ออื่น ผักหอม (นครพนม) ผักหอมน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ผักหอมป้อม ผักหอมผอม (ภาคเหนือ) พังไฉ่ (จีน-แต้จิ๋ว)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Coriandrum sativum L.วงศ์ Umbelliferae

สรรพคุณ

ทั้งต้น รสเผ็ด สุขุมขับเหงื่อและผื่นหัดออกมากขึ้น ขับลม ทำให้เจริญอาหาร แก้หัดที่ผื่นออกไม่หมด ท้องอืดเฟ้ออาการคั่งค้าง ดับกลิ่นคาวปลาและเนื้อ และช่วยละลายเสมหะ

ผล รสเผ็ด สุขุม ไม่มีพิษ แก้หัด ทำให้ผื่นออกเร็วและหายเร็วขึ้น บำรุงกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร แก้เบื่ออาหาร บิด ริดสีดวงทวาร ดับกลิ่นคาวปลาและเนื้อ

ส่วนที่ใช้

ทั้งต้น และผล ใช้เป็นยา

ทั้งต้น (รวมทั้งรากด้วย) เก็บเมื่อต้นเจริญเต็มที่ ล้างสะอาด ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้

ยาแห้ง ลักษณะเป็นต้นแห้งใบม้วนหลุดออกง่าย สีเหลืองออกเขียว ลำต้นเหี่ยวแห้ง กว้างประมาณ 1 มม. รากขดงอ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ที่ดีควรมีสีเขียวกลิ่นแรง

ผล (ลูกผักชี) เก็บในฤดูหนาวเมื่อผลแก่ เก็บทั้งต้นมาฟาดให้ผลหลุดออกมา เก็บแยกสิ่งเจือปนทิ้งตากแห้งสนิท เก็บใส่ภาชนะปิดสนิทเก็บไว้ใช้

วิธีและปริมาณที่ใช้

ทั้งต้นแห้ง 10-15 กรัม (สด 60-150 กรัม) ต้มเอาน้ำกินหรือคั้นเอาน้ำกิน ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้างหรือตำพอก

ผล แห้ง 6-12 กรัม ต้มน้ำหรือบดเป็นผงกิน ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำอมบ้วนปากหรือชะล้าง

ข้อห้ามใช้ กินมากๆ ทำให้ตาลาย ลืมง่าย ทำให้กลิ่นตัวแรงขึ้น

ตำรับยา

1. เด็กออกหัด ต้องการหัดออกเร็วขึ้น ใช้ต้นสด 100 กรัม หั่นฝอยใส่เหล้า 2 แก้วใหญ่ ต้มให้เดือดโดยใช้ฝาครอบไว้ เพื่อป้องกันกลิ่นหายไปหมด ปล่อยให้เย็น เอากากออก นำน้ำมาพรมและทาที่หลัง ขาหน้าอก และท้อง อย่าทาหน้า

2. เด็กเป็นผื่นแดงไฟลามทุ่ง (Erysipelas) ใช้ผักชีตำพอก

3. ดากออก ใช้ต้นสด 1 กำมือ หั่นแล้วเผาเอาควันรมบริเวณที่เป็น หรือใช้ผลต้มน้ำส้มสายชูชะล้าง

4. หัดทื่นแดงยังออกไม่ทั่ว ใช้ผลแห้ง 120 กรัม ใส่หม้อดินเผาหรือหม้อเคลือบใส่น้ำให้ท่วมยา วางไว้ในห้องคนไข้ เป็นห้องเล็กไม่มีลมโกรก ใช้ถ่านต้มหม้อยาให้เดือด เอาไอรมให้ทั่วห้อง ต้มเรื่อยๆ จนไอเต็มห้อง จนผื่นออกทั่วแล้วก็ไม่ต้องรมต่อไป

5. บิดถ่ายเป็นเลือด ใช้ผล 1 ถ้วยชา ตำให้แตก บิดถ่ายเป็นเลือด ผสมน้ำตาลทรายบิดถ่ายเป็นมูก ใช้น้ำขิงสดอุ่นผสมเหล้ากินตอนอุ่นๆ

6. ริดสีดวงทวารมีเลือดออก ใช้ผลคั่วบดแตกผสมเหล้ากินวันละ 5 ครั้ง หรือใช้ต้นสด 120 กรัมใส่นม 2 แก้วต้มผสมน้ำตาลกิน

7. ปวดฟัน ปากเจ็บ คอเจ็บ ใช้เมล็ดใส่น้ำ 5 ส่วน ต้มให้เหลือ 1 ส่วน เอาน้ำอมบ้วนปาก

8. ท้องอืดเฟ้อ ปวดท้อง ใช้ผล 2 ช้อนชา ต้มน้ำกิน

ผลทางเภสัชวิทยา

ผลแก่ เป็นเครื่องเทศ มีกลิ่นหอม ใช้ร่วมกับยาอื่น แต่งกลิ่นอาหาร ช่วยกระตุ้นต่อมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ขับสารออกมามากขึ้น น้ำดีออกมากขึ้น ในน้ำมันระเหยมีสารยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคได้

สารที่พบ

ทั้งต้น มีวิตามินซี 92-98 มก.% ดีคานาล (decanal) โนนานาล (nonanal) ลินาโลออล (linalool) เป็นต้น

ผล มีน้ำมันระเหย 1-1.4% ไขมัน 26% ในน้ำมันระเหย ประกอบด้วยสารพวกเทอปีน (terpenes) หลายชนิด และพวกแอลกอฮอล์ การบูน (camphor) เจอรานิออล (geraniol) นอกจากนี้ยังมีน้ำตาลกลูโคส น้ำตาลผลไม้ (fructose) และน้ำตาลอ้อย (sucrose) เป็นต้น

เมล็ด มีน้ำมันระเหย 1% ไขมัน 20-25% น้ำตาล 20% นอกจากนี้ยังมีสารประกอบที่มีไนโตรเจน 13-15% สารอนินทรีย์ 7%

หมายเหตุ

- ต้นสด ใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหารน้ำซุป เป็นต้น ผลเป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นในอุตสาหกรรม ขนมหวาน เหล้า และเครื่องแกงต่างๆ ไส้กรอก เป็นต้น น้ำมันจากผลใช้แต่งกลิ่นเครื่องดื่ม และขับลม

- ต้นสด ตำพอกขมับทำให้เย็น แก้ปวดศีรษะ น้ำคั้นใช้ทาผื่นแดงคันอักเสบ

- ต้นสด ต้มน้ำกิน แก้ไอ หวัด อาหารเป็นพิษ

ต้น แก้ไข้ ช่วยย่อย แก้สะอึกและกระหายน้ำ คลื่นไส้อาเจียน

ผล เคี้ยวกลบกลิ่นเหม็นในปาก หรือลมหายใจ ขยี้ดมแก้วิงเวียนมึนงง

ผล บดเป็นผงแช่น้ำ หรือใช้ผลบดผงผสมน้ำตาลคั่วไหม้ บดเป็นผงให้เด็กกินแก้ปวดท้อง ร้อนในกระหายน้ำ และใช้แก้เจ็บคอไอ เยื่อเมือกอักเสบ

น้ำมันระเหยจากผล กินแก้ปวดท้อง ท้องขึ้นอืดเฟ้อ น้ำมันนี้จะมีกลิ่นดีติดทนกว่าน้ำมันอื่น

สบู่ที่ทำจากน้ำมันจากผลจะมีกลิ่นและฟองดี เป็นสบู่เนื้ออ่อนสีออกเขียวรากผสมยาเขียว

ราก ผสมยาเขียวชงน้ำให้เด็กกิน เป็นยาขับพิษไข้หัว เช่น เหือด หัด อีสุกใส ดำ แดง ได้ดี

ข้อมูลสื่อ

83-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 83
มีนาคม 2529
อาหารสมุนไพร
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ