• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคด่างขาว

โรคด่างขาว

คนบางคนอาจมผิวหนังบางส่วนเป็นสีซีดขาวกว่าปกติ ทำให้เห็นเป็นรอยด่างขาวเป็นหย่อมๆ แลดูไม่สวยงาม อาจขึ้นตรงกับบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก คอ แขนขา หลังมือหรือหลังเท้าก็ได้ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือคันแต่อย่างไร ทั้งนี้เป็นเพราะผิวหนังในบริเวณนั้นขาดเซลล์สร้างเม็ดสี จึงไม่สามารถสร้างเม็ดสีได้เป็นปกติเช่นเดียวกับผิวหนังส่วนที่อยู่โดยรอบ

ในปัจจุบันนี้เรายังไม่ทราบว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ผิวหนังส่วนนั้นขาดเซลล์สร้างเม็ดสีไป เราเรียกโรคนี้ว่า “โรคด่างขาว” หรือวิทิลิโก (Vitiligo)

โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของคนทั่วไป พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงคนแก่ แต่จะพบมากในคนอายุระหว่าง 10-30 ปี โดยอยู่ดีๆ ก็เกิดอาการด่างขาวของผิวหนังขึ้นมา แต่ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่าไม่ใช่เกิดจากโรคเกลื้อนหรือโรคอื่นๆ ที่อาจทำให้ผิวหนังเป็นรอยด่างขาวได้เช่นกัน

เราอาจสังเกตได้ว่า โรคด่างขาว จะมีขอบเขตชัดเจน และมักจะเกิดขึ้นกระจายเหมือนกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย เช่น ถ้าขึ้นที่หลังมือก็จะเป็นที่หลังมือทั้ง 2 ข้างเหมือนๆ กัน ไม่มีอาการคัน หรืออาการชา (ใช้เข็มแทงหรือหยิกยังรู้สึกเจ็บเหมือนปกติ ถ้าเมแทงแล้วไม่รู้สึกเจ็บ ควรนึกถึงโรคเรื้อน)

การใช้ยาทาหรือยากินชนิดต่างๆ มักจะไม่ได้ผล (ถ้าเป็นเกลื้อน การใช้ยารักษาเกลื้อนทามักจะจะได้ผลภายในไม่กี่วัน)

โรคด่างขาวมักจะเป็นอยู่อย่างถาวร ยกเว้นบางคนถ้าเป็นรอยเล็กๆ อาจค่อยๆ กลับคืนเป็นสีผิวปกติตามธรรมชาติได้ โรคนี้ไม่มีอันตรายแต่อย่างไร นอกจากความไม่สวยไม่งาม หากรอยด่างขาวลุกลามกว้างขึ้นจนน่าเกลียด คงจะต้องปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจให้ยากินและให้อาบแดด (หรือฉายแสง) เพื่อให้สีผิวนั้นกลับเข้มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นการช่วยเหลือให้ดีขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลอย่างถาวรและน่าพอใจ

ข้อมูลสื่อ

84-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 84
เมษายน 2529
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ