• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสองขวบถึงสามขวบ

เด็กสองขวบถึงสามขวบ

ลักษณะของเด็ก

284. ลักษณะของเด็กอายุ 2-3 ขวบ

เด็กอายุ 2-3 ขวบ สามารถทำอะไรด้วยตนเองได้หลายอย่างแล้ว เลิกใช้ผ้าอ้อม และกินข้าวได้เอง จดจำคำพูดได้มาก จนกระทั่งคุยกับผู้ใหญ่รู้เรื่อง และเป็นตัวของตัวเอง

เมื่อคนเราเริ่มเป็นตัวของตัวเอง ย่อมมีความต้องการอยู่กับพวกพ้องเด็กจึงอยากเล่นกับเพื่อน แต่เมื่อให้เล่นกับเพื่อนจริงๆ เด็กวัยนี้ยังเล่นไม่ค่อยได้ เดี๋ยวเดียวก็ทะเลาะกัน เด็กรู้จักเพิ่งตนเองบ้างแล้ว แต่ยังไม่รู้จักการร่วมมือกับคนอื่น และถ้าขาดความร่วมมือก็จะอยู่ในสังคมไม่ได้

ในสังคมเมือง การอบรมเด็กวัย 2-3 ขวบนี้มีปัญหาอยู่ที่การหัดให้เด็กรู้จักร่วมมือปรองดองกับคนอื่น ครอบครัวสามารถสอนให้เด็กรู้จักพึ่งตนเองได้ แต่เด็กไม่ค่อยยอมร่วมมือ แม้แต่กับพ่อแม่ เรามักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “วัยต่อต้าน”

“วัยต่อต้าน” นี้ มิได้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน แต่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่ถูกเลี้ยงอยู่แต่ในครอบครัว เด็กที่ถูกเลี้ยงรวมหมู่ในสถานที่เลี้ยงเด็กจะไม่มี “วัยต่อต้าน” และเมื่อถึงวัย 2-3 ขวบนี้ เด็กที่อยู่รวมหมู่จะเริ่มรู้จักเล่นกับเพื่อนด้วยความสามัคคีปรองดองกัน

การที่เด็กมี “วัยต่อต้าน” นั้นเป็นเพราะถูกเลี้ยงดูแต่เฉพาะในครอบครัว ซึ่งไม่สามารถสอนให้เด็กรู้จักความร่วมมือกับคนอื่น เด็กจึงเกิดอาการ “ต่อต้าน”

เด็กสมัยก่อนและเด็กในชนบทซึ่งเติบโตขึ้นมาในครอบครัวนั้น มีโอกาสเรียนรู้เรื่องความร่วมมือเมื่อเริ่มพึงตนเองได้ เพราะเด็กสามารถออกไปเล่นนอกบ้านอย่างอิสระร่วมกับเด็กอื่นๆ โดยไม่ต้องกลัวอันตรายจากรถหรือจากโจรผู้ร้าย เด็กสมัยก่อนรวมกลุ่มเล่นกันเยอะๆ มีตั้งแต่เด็กโตจนถึงเด็กรุ่นจิ๋ว เด็กโตยอมให้เด็กเล็กเล่นด้วยเพราะเล่นหลายๆ คนสนุกดี ดังนั้นเด็กเล็กๆ จึงเรียนรู้เรื่องความร่วมมือรอมชอมกันไปตามธรรมชาติ เพราะรู้ว่าถ้าเอาแต่ใจตนเอง ตัวก็จะเข้าร่วมวงเล่นกับคนอื่นไม่ได้

แต่เด็กในเมืองสมัยนี้ ถูกห้ามออกนอกบ้านเนื่องจากมีภยันตรายนานัปการ และถึงจะออกไปได้ก็ไม่มีสนามกว้างให้เด็กได้เล่นร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เด็กสมัยใหม่ขาดโอกาสที่จะเล่นด้วยกันอย่างอิสระในหมู่เด็กโดยไม่มีผู้ใหญ่ควบคุม เด็กสมัยก่อนมีโอกาสเช่นนี้ แม้การอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวจะเข้มงวด แต่เด็กก็ยังมีช่องสำหรับระบาย

เด็กสมัยนี้ที่ขลุกอยู่แต่ในบ้านอาศัยโทรทัศน์เป็นเพื่อน และไม่ค่อยได้พูดเล่นหัวกับเพื่อน มักจะพูดช้า บางคนอายุเกือบ 3 ขวบแล้วยังพูดได้ เพียงคำว่า พ่อ...แม่...หม่ำ เท่านั้น ทำให้พ่อแม่เกิดความกลัวว่า ลูกของตนจะสติปัญญาด้อยกว่าเด็กอื่น

แต่ถ้าหูของเด็กฟังเสียงได้ยิน (เมื่อเรียกชื่อจากด้านหลังแล้วเด็กหันกลับมาก็แปลว่า หูได้ยิน) และกิจกรรมอื่นๆ ทำให้เหมือนเด็กปกติ เด็กจะพูดได้เองแน่นอน เด็กบางคนพูดได้ช้าตามธรรมชาติของเขา เราไม่ควรใจร้อนนัก แต่ต้องพยายามหาโอกาสให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างอิสระบ่อยๆ

เด็กสมัยก่อนและเด็กในชนบทได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านเพื่อนเผาผลาญพลังงานในกาย แต่เด็กในเมืองสมัยนี้ต้องหาทางใช้พลังงานนั้นภายในบ้านบ้านก็แคบกว่าเมื่อก่อน ถ้าอยู่ห้องแถวหรือทาวน์เฮาส์ยิ่งไม่มีที่เล่นนอกบ้านเลย เด็กต้องการใช้พลังงานจึงลากเก้าอี้มาต่อเล่นบ้าง ปีนป่ายบันไดบ้าง ปีนตู้หรือชั้นหนังสือบ้าง เมื่อเด็กเล่นผาดโผนเช่นนี้ ผู้ใหญ่ก็ว่า “นี่ เดี๋ยวเก้าอี้พังหมด” “อย่ารื้อของเลอะเทอะซีลูก” “วิ่งเล่นในบ้านไม่ได้นะ” ฯลฯ เมื่อเด็กถูกห้ามและหมดโอกาสที่จะใช้พลังงานส่วนเกิน จึงหันมา “ต่อต้าน” คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ในบ้าน การที่เด็กโกรธร้องไห้อาละวาดหรือขวางปาสิ่งของนั้น ไม่ใช่เพราะเด็กเกลียดคุณแม่ แต่เพราะเด็กทนอยู่เฉยๆ ไม่ได้เท่านั้นเอง และมีเด็กบางคนที่ใช้วิธีระบายอารมณ์ด้วยการเล่นอวัยวะเพศ

เด็กวัย 2 ขวบขึ้นไปควรมีโอกาสได้เล่นกับเพื่อนอย่างอิสระในที่กว้างมีเครื่องเล่นตามสมควร เด็กที่ถูกเลี้ยงอยู่แต่ในบ้านร้างท่ามกลางคลื่นรถยนต์นั้น จะไม่มีโอกาสเรียนรู้วิธีอยู่ในสังคมด้วยความรอมชอม สังคมเมืองจึงจำเป็นต้องมีสถานเลี้ยงเด็ก เพื่อให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนจำนวนมาก

สถานที่เลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลในเมืองมักจะคับแคบ เด็กถูกบังคับให้อยู่แต่ในห้อง เพราะผู้เลี้ยงเกรงว่าถ้าเกิดอันตรายข้นแก่เด็กจะทำให้เสียชื่อเสียง สนามเด็กเล่นส่วนใหญ่มีเอาไว้ประดับโรงเรียนเท่านั้น เด็กไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นโลดโผนโจนทะยานกันเลย เมื่อถูกอัดอยู่แต่ในห้อง พลังงานของเด็กจึงถูกอัดอยู่ในร่างกาย ไม่มีโอกาสระบาย

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวนั้นด้อยคุณภาพกว่าการเลี้ยงรวมหมู่ เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกับญาติพี่น้องด้วย นอกจากนั้นเด็กต้องรู้จักอดทนต่อความเหงาเมื่ออยู่เพียงคนเดียว ไม่มีเพื่อนเล่น มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนที่ติดคนอื่นแจจนขาดความเป็นตัวของตัวเอง การเลี้ยงดูอบรมเด็กจึงต้องอาศัยทั้งครอบครัว และการอยู่รวมหมู่ แม้ว่าการเลี้ยงดูในครอบครัวจะไม่ช่วยให้เด็กรู้จักวิธีอยู่เป็นกลุ่ม แต่ก็สามารถสอนให้เด็กรู้จักเล่นคนเดียวได้

เมื่อเด็กอายุเกิน 2 ขวบ เราควรสอนให้เด็กรู้จักเล่นคนเดียว เด็กวัยนี้ไม่ใช้มือกำดินสอเทียน สีเทียน แล้วแต่จะใช้ปลายนิ้วจับเอาไว้ รู้จักต่อแท่งไม้ได้สูงๆ รู้จักใช้เสียมเล็กๆ ขุดดิน คุณแม่ควรคิดหาทางใช้ความสามารถเหล่านี้ของเด็กและหัดให้เล่นคนเดียว สำหรับเด็กผู้หญิงที่ชอบตุ๊กตา ก็ซื้อตุ๊กตาและชุดหม้อข้าวหม้อแกงหรือชุดเครื่องเรือนให้ และปล่อยให้เล่นคนเดียวในที่ซึ่มองเห็นคุณแม่ได้ เมื่อเด็กวาดมโนภาพเก่งขึ้น แกจะหมกมุ่นกับการเล่นจนไม่สนใจว่าคุณแม่จะอยู่ด้วยหรือไม่ แม้ว่าสนามบ้านคุณจะเล็กมีที่ว่างเพียงวาเดียวก็น่าจะสร้างสนามทรายไว้เป็นที่เล่นของเด็ก แกจะขนของเล่นไปเล่นคนเดียวที่นั่น สำหรับเด็กที่ชอบหนังสือก็ซื้อหนังสือให้ แกจะเปิดดูภาพในหนังสือเพลินทีเดียว

เด็กที่ชอบเขียนภาพ ควรหาสีเทียนและกระดาษแผ่นใหญ่ๆ ให้ แกจะขีดเขียนไปพลาง พูดพร่ำพรรณนาไปเรื่อย ควรให้กระดาษแผ่นใหญ่ เพราะถ้ากระดาษไม่พอเด็กจะขีดพื้นขีดผนังบ้าน วันไหนอากาศร้อน ให้เล่นน้ำดีที่สุด เวลาซื้อสระน้ำพลาสติก ไม่ควรเลือกขนาดใหญ่และลึกเกินไป เพราะเด็กล้มในน้ำและอาจลุกไม่ขึ้น นอกจากนี้ยังเสียเวลาใส่น้ำเทน้ำอีกด้วย ถ้าคุณแม่ไม่กลัวว่าเสื้อผ้าเด็กจะเปรอะเปื้อนเลอะเทอะ ก็หาดินเหนียวมาให้เด็กจะชอบมากและเล่นอยู่ได้นาน เด็กที่ชอบดนตรีน่าจะเปิดเพลงให้ฟัง ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงคลาสสิคลูกทุ่ง ลูกกรุง หรือเพลงแจ๊ส เพลงรำวงก็เพลงเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นอยู่แต่ในบ้านทั้งวันด้วยการละเล่นต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น

ข้อมูลสื่อ

84-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 84
เมษายน 2529