• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บิดถ่ายเป็นมูกเลือด

บิดถ่ายเป็นมูกเลือด


เวลาที่คุณท้องร่วง ท้องเดิน ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง คุณเคยนึกโมโหไหมว่า ทำไมอุจจาระจึงไหลเอาๆ เป็นน้ำมูก ไม่ยอมแข็งเสียที (เพราะถ้าแข็งก็คงไม่ไหล ) หรือถึงไม่มีอะไรก็มีอาการอยากที่จะให้ไหล อยากจะถ่าย แต่ถ่ายออกมาก็กะปริบกะปรอย

ทำไมถึงซวยอย่างนี้นะ
ไม่ใช่เรื่องซวยเสมอไปหรอกครับ

การไอ เป็นวิธีการที่ร่างกายขับไล่สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในหลอดลมออก
การจาม เป็นการขับไล่สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในจมูกออก
การอาเจียน เป็นการขับไล่สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร

อ้าว.........อย่างนั้นการท้องร่วงก็เป็นการขับไล่สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในลำไส้ซิ
ครับ........ก็มีส่วน เมื่อเกิดอะไรที่ไม่สมดุลของร่างกายขึ้น ร่างกายของเราก็พยายามที่จะปรับให้มัน

สมดุลหรือเป็นปกติ ต่อเมื่อไม่สามารถปรับได้แล้ว เราจึงเกิดอาการป่วยขึ้น
ก่อนที่จะว่าต่อไป เราก็มาว่าถึงเรื่องกลไกลของการทำงานของลำไส้คร่าวๆก่อน
โดยปกติ เมื่อเราเคี้ยวและกลืนอาหารลงในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารจะย่อยอาหารจนเป็นของเหลวและส่งต่อไปยังลำไส้เล็กและใหญ่ลำไส้จะดูดสารอาหาร น้ำ เกลือแร่ต่างๆผ่านผนังลำไส้ จนเหลือแต่กากอาหารที่ค่อนข้างเหนียว และกากอาหารนี้จะถูกส่งไปขังตัวอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ( ตำแหน่งที่เรียกว่าไส้ตรง ) เมื่อมากเข้าๆ ก็จะถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกาย ที่เราเรียกว่าอุจจาระ

        


 แล้วเกิดการท้องร่วงได้อย่างไรครับ

การเกิดอาการท้องร่วงเกิดจาการทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารของลำไส้ หรือการเคลื่อนไหวของลำไส้เกิดผิดปกติขึ้น เช่น

--เมื่อมีสารหรือเชื้อโรคไปทำให้เกิดการผิดปกติ ทำให้ผนังลำไส้ดูดซึมสารอาหารไม่ได้ดี เช่น ทำให้เยื่อบุผนังลำไส้อักเสบ หรืออื่นๆหรือลำไส้ดูดซึมไม่ได้ ก็จะมีน้ำหรืออาหารเหลวในลำไส้มาก ร่างกายก็จะพยายามขับสิ่งแปลกปลอมออก จึงเกิดการท้องร่วงถ่ายของเหลวออกมาก

--หรือมีอะไรที่ไปทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วเกินไป เวลาการดูดซึมอาหารก็น้อยลง ทำให้อาหารถูกขับออกจากร่างกายเร็วในสภาพที่ยังเป็นของเหลวอยู่
และยังมีสาเหตุอื่นๆจากที่กล่าวนี้อีก

ครับ......ทีนี้เราก็มาว่าถึงเรื่องท้องร่วงที่เกิดจาก บิด – ถ่ายเป็นมูกเป็นเลือด ว่ามีอะไรบ้าง นพ. สุชา คูระทอง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะมากล่าวให้ทราบกัน


⇔เมื่อไรควรสงสัยว่าเป็นบิด
อาการที่สำคัญก็มี อันแรก ถ่านเป็นมูกมีเลือดปนบ่อยครั้ง ร่วมกับอาการปวดถ่วงปวดเบ่ง ถ่ายแล้วก็ยังรู้สึกว่าอยากถ่ายอยู่เรื่อยๆ
อันที่สอง ปวดท้อง ชื่อมันบอกแล้วว่า บิด ก็ปวดแบบบิดเหมือนลำไส้ถูกบิด
โดยทั่วไปมีบิดอยู่ 2 ชนิด คือ บิดมีตัวกับบิดไม่มีตัว


⇔จะรู้ได้อย่างไรว่าบิดมีตัวหรือไม่มีตัว
อาการที่คนไข้ พอจะรู้ได้ก็คือ บิดมีตัว มีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้อง ปวดถ่วงทวารหนัก ถ่ายแล้วก็อยากถ่าย
คนไข้จะไม่อ่อนเพลียมากนัก อาจมีไข้เล็กน้อยโดยผู้ป่วยจะไม่รู้สึกว่ามีไข้ ยังทำงานทำการพอได้
อุจจาระของคนที่เป็นบิดมีตัวอาจแตกต่างกัน เช่น บางคนอุจจาระเหม็นมาก อย่างที่ชาวบ้านใช้คำว่า เหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า สีจะช้ำเลือดช้ำหนอง ดำแดงมีความรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำอยากจะถ่ายตลอดเวลา พอเข้าไปนั่งก็ออกมากะปริกะปรอย ครั้งละเล็กครั้งละน้อย อาจจะ 10-20 ครั้ง แต่คนไข้ยังสามารถไปไหนมาไหนได้

อาการสำหรับคนไข้ บิดไม่มีตัวนั้น อุจจาระมักจะมีฟองมีเลือดสีแดงมากกว่า กลิ่นเหม็นน้อยกว่า คนไข้มีอาการปวดขัด ปวดเบ่ง ถ่ายแล้วก็อยากถ่าย ที่สำคัญอ่อนเพลีย นอนซม ไปไหนไม่ไหว และจะมีไข้ร่วมเสมอ และมักจะมีอาการท้องร่วงถ่ายเป็นน้ำนำมาสัก 4-6 ชั่วโมง ในบ้านเรา มักจะพบอาการของบิดไม่มีตัวมากกว่าบิดมีตัว

   

⇔ทำไมจึงชื่อบิดมีตัวและบิดไม่มีตัว
อันที่จริงก็เป็นเชื้อโรคที่มีตัวทั้งคู่
แต่ที่เรียกว่ามีตัวเพราะว่า เชื้อบิดมีตัวนั้นเป็นสัตว์เซลล์เดียวพวกโปรโตซัว ซึ่งเรามองเห็นได้ด้วยกล้องขยายธรรมดา
แต่เชื้อบิดไม่มีตัวนั้น เป็นเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ต้องย้อมสีด้วยวิธีพิเศษจึงจะมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ แต่ให้ทราบแน่ว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดไหนต้องเลี้ยงในห้องทดลองจึงจะทราบ
นี่แหละครับ จึงเรียก มีตัว กับ ไม่มีตัว


⇔ เกิดขึ้นได้อย่างไร
บิดทั้ง 2 ชนิดเกิดขึ้นจากการที่เรากินอาหาร หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาดมีเชื้อโรค
บิดมีตัว เกิดจากเชื้อ อะมีบ้า ( Ameba ) เป็นสัตว์เซลล์เดียวหรือพวก โปรโตซัว ที่จัดเป็นสัตว์จำพวกปาราสิต

บิดไม่มีตัว เกิดจากเชื้อชิเกลล่า ( Shigella ) ซึ่งจัดเป็นพวกแบคทีเรียชนิดหนึ่ง
ปกติเวลาเรากินอาหารและน้ำเชื้อโรคบางส่วนจะโดนน้ำลายทำลายและเมื่อผ่านมาที่กระเพาะอาหารก็จะถูกน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหารทำลาย เพราะฉะนั้น การที่เราเป็นบิดจึงเกิดจาการที่เรากินเชื้อโรคที่ทำให้เป็นบิดมากพอควร หรือร่างกายเราไม่แข็งแรงพอ ทำให้ระบบการทำงานต่างๆไม่สามารถทำงานได้ปกติ

เชื้อบิดมีตัวและไม่มีตัวนั้น ชอบอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ มักจะเข้าไปแบ่งตัว ออกลูกออกหลานทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่ ลำไส้จึงทำงานผิดปกติไป ทำให้เราถ่ายเป็นมูกเป็นเลือด


⇔เขารักษากันอย่างไร
ถ้าบิดนั้น ถ้าเป็นไม่มากอาจหายเอง โดยไม่ต้องได้รับการกินยาอะไรเลย
สำหรับผู้ที่เป็นบิดที่ต้องการรักษาด้วยยา
การรักษาบิดมีตัว ( ถ่ายเป็นมูกปนเลือดเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า โดยที่ไม่มีไข้และร่างกายไม่อ่อนเพลีย)
ยาที่นิยมใช้กันสมัยนี้ก็มี 2-3 ตัว ที่ใช้ค้อนข้างสะดวก โดยทั่วไปจะเลือกใช้เพียงตัวเดียว
--ตัวแรกก็พวก เมโทรไนดาโซล ( Metronidazole ) ซึ่งมีชื่อการค้าหลายอย่างด้วยกัน เม็ดขนาด 200มก. ครั้งละ 2 เม็ด ก่อนอาหารวันละ 3-4 ครั้ง กินประมาณ 5-10 วัน อันนี้เป็นยาราคาถูกหน่อย แต่อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปากคนบอกว่าเหม็นในปากในลิ้น เป็นยาค่อนข้างถูกสักหน่อย แล้วก็ได้ผลดีทีเดียว
--ออนิดาโซล ( Ornidazole )เม็ดขนาด 500 มก. 2 เม็ดก่อนอาหารเช้า/เย็น
--ไทนิดาโซล ( Tinidazole ) เม็ดขนาด 300 มก. 4 เม็ดมื้อเดียวหลังอาหารเช้า
ทั้ง 2 ชนิดนี้รักษาแค่ 3 วันก็พอ ยา 2 ตัวหลังนี้ราคาค่อนข้างแพง

การรักษาบดไม่มีตัว ( มีไข้และท้องร่วง อ่อนเพลีย ถ่านเป็นมูกเป็นเลือด )
ยาที่ใช้กันอยู่ก็เป็นพวกยาปฏิชีวนะ เช่น พวกแอมพิซิลลิน ( Ampicillin ) ขนาด 250 มก. 2 เม็ด หรือ 500 มก. 1 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หรือ โค-ไตรมอกซาโซล ( Co-Trimoxazole ) ใช้ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า/ เย็น ยาทั้ง 2 อย่างนี้ใช้เวลารักษา 3-5 วัน


⇔มีโรคอื่นที่มีอาการใกล้เคียงกับบิดหรือไม่
ที่มีและควรระวังคือ ถ้ามีการถ่ายเป็นมูกเลือดเรื้อรัง เพราะอาจไม่ใช่โรคบิดธรรมดา โดนเฉพาะคนที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป หากถ่ายเป็นมูกเป็นเลือด เป็นๆ หาย ๆเรื้อรัง รักษาด้วยยาแก้บิดต่างๆ แล้วไม่ดีขึ้น พึงต้องระวังว่าอาจเป็นโรคมะเร็งของลำไส้ใหญ่ได้
ใครมีอาการแบบนี้ ก็ควรปรึกษาหมอแต่เนิ่นๆเป็นดีครับ.


⇔ปาราสิตหรือปรสิตคืออะไร
เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่กับสิ่งมีชีวิตอื่น และคอยแย่งอาหารหรือรบกวนสิ่งที่มันอาศัยอยู่นั้น โดยบางครั้งก็อยู่รวมกันอย่างปกติสุข บางครั้งปาราสิตนั้นจะก่อโรคให้กับสิ่งที่มันอาศัยอยู่ได้ คนเป็นที่อยู่อาศัยของปาราสิตมากมายหลายชนิด ปาราสิตบางชนิดเป็นตัวก่อโรคที่ร้ายแรงจนทำให้คนที่มันอาศัยอยู่นั้นถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อคนนั้นตายปาราสิตก็หาที่อยู่ใหม่อีกหรือไม่ก็ตายตามไป

โอ้โฮ......อย่างนี้ก็เหมือนคนบางคนที่กินๆโกงๆ เข้าตัวจนประเทศล่มจมแล้วก็หนีไปอาศัยที่อื่นอยู่ใหม่หรือหนีไม่ทันก็ตายไปด้วยซิครับ
ก็ทำนองนั้น

แหม.....แย่จังเลย ทำไมเขาชอบทำตัวเป็นปรสิตกันล่ะ แล้วพวกปรสิตจริงมีรูปร่างเป็นอย่างไร?
เชื้อเหล่านี้มีขนาดต่างๆกัน มีทั้งชนิดที่มองไมเห็นด้วยตาเปล่า เช่น สัตว์เซลล์เดียว และชนิดที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น พวกพยาธิต่างๆ

ปาราสิตแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม
1. เชื้อโปรโตซัว ( สัตว์เซลล์เดียว ) เช่น เชื่อบิดอะมีบ้า ( มีตัว ) เชื่อมาลาเรีย ฯลฯ
2.พยาธิตัวกลม เช่น พยาธิไส้เดือนตัวกลม พยาธิแส้ม้า พยาธิเส้นด้าย พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด
3.พยาธิใบไม้ เช่น พยาธิใบไม้ตับ พยาธิใบไม้ปอด พยาธิใบไม้ลำไส้
4.พยาธิตัวตืด เช่น พยาธิตัวตืดหมู พยาธิตัวตืดวัว พยาธิตัวตืดอื่นๆ


⇔แล้วปาราสิตทำร้ายร่างกายเราอย่างไร?
ทำให้เกิดการอ่อนเพลีย ซูบซีด ปวดท้อง ท้องเสียบ่อยๆ นอกจากนั้นในบางครั้งมันอาจเข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต ปอด หัวใจ ทำให้เกิดอาการติดเชื้ออื่นๆ เกิดอักเสบเป็นโรคต่างๆ


⇔แล้วมันเข้ามาอยู่ในร่างกายได้อย่างไร ?
โดยมากติดต่อจากอาหารการกินที่ต้มไม่สุกหรือดิบๆสุกๆ และการไม่รักษาความสะอาด เช่น มือที่ไม่ล้างให้สะอาดก่อนกินอาหารอาจมีไข่พยาธิที่ติดอยู่ตามเล็บหรือนิ้วมือ ตกลงไปในอาหาร ทำให้พยาธิเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ในร่างกาย


⇒เชื้อแบคทีเรีย คืออะไร
แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก เราไม่จัดเป็นพืชหรือสัตว์ ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเซลล์เดียวชนิดหนึ่ง


⇔ที่ว่ามีขนาดเล็กมากนั้นขนาดไหนละ
ขนาดเฉลี่ยประมาณ 0.3- 1 ไมโครเมตร ผ 1 ไมโครเมตรเท่ากับ หนึ่งในล้านของเมตร )

โอ้โฮ......ขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วรูปร่างเป็นอย่างไรบ้างละ?
มีทั้งรูปกลม รูปแท่ง และรูปเกลียว มีคนเขาว่า ถ้านำมาเรียงกันทีละตัว จนถึง 250,000 ตัวจะวัดความยาวได้ 1 นิ้วฟุต


⇔แล้วมันอยู่ที่ไหนบ้างละ?
มีอยู่ทั่วไป ในน้ำ อากาศ บนดิน เขาว่ามันเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วมาก หากอยู่ในที่ๆมีอาหารและสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสมคือ 1 ตัวจะเพิ่มเป็น 250,000 ตัวในเวลาเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น

ตายแล้วอย่างนี้ไม่ทำให้คนเป็นโรคภัยไข้เจ็บหมดหรือ
แบคทีเรียมันไม่ได้ก่อให้เราเกิดโรคเสมอไปหรอก มันมีพวกไม่ก่อโรค พวกก่อโรค และพวกอาจก่อโรค

เฮ่อ.......โล่งอกไปที.
 

 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

45-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 45
มกราคม 2526
เรื่องน่ารู้
รศ.นพ.สุชา คูระทอง