• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำหนักเด็กสำคัญไฉน ?

น้ำหนักเด็กสำคัญไฉน ?

 

การเจริญเติบโตของมนุษย์นั้นเริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ จากจุดเล็ก ๆ คือไข่ใบเดียว เมื่อมีการผสมกับตัวเชื้ออสุจิ ก็จะกลายเป็นชีวิตมนุษย์ ซึ่งจะค่อย ๆ เติบโต มีอวัยวะต่าง ๆ เช่น มีหัวใจ มีตา มีแขน ขา เป็นต้น และเมื่ออยู่ในครรภ์ได้ประมาณ 280 วัน มนุษย์ก็จะถูกคลอดจากครรภ์มาสู่โลกภายนอก จากนั้นชีวิตก็จะผ่านวัยต่าง ๆ คือ วัยทารก ซึ่งเป็นช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 1 ปีเต็ม เด็กวัยก่อนเรียนอาจตั้งแต่ 1 ปี ไปจนถึง 5 ปีเต็ม เด็กวัยเรียนอายุ 6 ปี ถึง 14 ปี จากนั้นชีวิตก็จะผ่านไปสู่วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน และวัยชรา เป็นลำดับ จนในที่สุด เมื่อถึงวาระชีวิตก็จะดับสูญคือ ความตาย
ช่วงระยะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงวัยหนุ่มสาว ทุกชีวิตจะมีการเจริญเติบโตของร่างกายให้เห็นชัดเจนและในช่วงระยะหลังคลอด มนุษย์ทุกคนจะมีการพัฒนาความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น อุปนิสัย ,สติปัญญา,จิตใจ และความสามารถในการใช้อวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะมือและเท้า
เพื่อที่จะให้มนุษย์มีคุณภาพที่ดีนั้น การเจริญเติบโตทางร่างกายจึงเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกชีวิตควรจะได้รับ เพื่อที่จะมีความพร้อมไปสู่การเรียนรู้ และพัฒนาการความสามารถอย่างมีประสิทธิภาพ

เครื่องชี้ที่ดีที่สุดที่ใช้วัดผลการเจริญเติบโตของร่างกาย คือ การชั่งน้ำหนัก แล้วเปรียบเทียบกับน้ำหนักมาตรฐานที่ได้มาจากน้ำหนักเด็กปกติ
ตัวอย่างเช่น เด็กแรกเกิดควรจะมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม
เมื่ออายุ 5 เดือน ควรจะมีน้ำหนักเป็น 6 กิโลกรัม (2 เท่าของแรกเกิด)
เมื่ออายุ 1 ปี ควรจะหนัก 9 กิโลกรัม( 3 เท่าของแรกเกิด)
และเมื่ออายุ 2 ปี ควรจะหนักเป็น 4 เท่าของแรกเกิด คือ 12 กิโลกรัม
ถ้าเด็กเติบโตด้านร่างกายเป็นปกติก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในลักษณะดังกล่าว เด็กบางคนที่เติบโตเป็นปกติเช่นกัน แต่อาจจะมีน้ำหนักผิดแผกไปจากเกณฑ์ดังกล่าวบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าเด็กมีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยบ่อย ๆ ก็ให้ถือได้ว่า การเจริญเติบโตยังใช้ได้อยู่  

การเจริญเติบโตทางด้านความยาวหรือความสูง ก็มีเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน เช่น
เด็กแรกเกิดจะยาวประมาณ 50 ซม. และจะยาวเป็น 75 ซม. เมื่ออายุ 1 ปี
เมื่ออายุ 2 ปี จะยาวประมาณ 8.5 ซม. และ
เมื่ออายุ 4 ปี จะสูงเป็น 100 ซม. หรือ 2 เท่าของแรกเกิด
เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูดี จะมีความสูงมากกว่ามาตรฐานดังกล่าว โดยเฉพาะเด็กที่ได้อาหารพวกไข่,นม, เนื้อสัตว์ และอาหารประเภทถั่วต่าง ๆ

เพื่อติดตามการเจริญเติบโตทางร่างกายของคน พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็ก ควรจะได้ทำความเข้าใจและสนใจในการชั่งน้ำหนักเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยหนุ่มสาว และอาจจะมีการชั่งน้ำหนักเป็นครั้งคราวในวัยกลางคนและวัยชราดัวย เพื่อจะได้ปัองกันไม่ให้เกิดโรคอ้วนหรือโรคผอม
ในการรณรงค์ในเรื่องการชั่งน้ำหนักเด็ก โดยเฉพาะวัยทารกและเด็กวัยก่อนเรียน กองโภชนาการ กรมอนามัย โดยความร่วมมือของกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ ได้พิมพ์แผ่นภาพการเจริญเติบโตในด้านน้ำหนักไว้ดังที่ได้แสดงประกอบไว้ในหน้า 36
เด็กที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะเติบโตตามแนวของเส้นที่อยู่บนสุด ซึ่งได้มาจากการเจริญเติบโตของเด็กที่เป็นปกติ เด็กหลายคนอาจจะเจริญเติบโตดีกว่านี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นปกติดี แต่ถ้ามีน้ำหนักต่ำกว่านี้ ก็ให้พิจารณาว่า อาจจะเติบโตไม่ดีนัก

   

กราฟเส้นที่ 2 ของแผ่นภาพ เป็นระดับน้ำหนักต่ำสุดที่ยอมรับได้ว่า เด็กยังเป็นปกติอยู่
ถ้าน้ำหนักของเด็ก อยู่ระหว่างกราฟ เส้นที่ที่ 2 และ 3 จากข้างบน จะบ่งชี้ว่าเด็กคนนั้นกำลังผิดปกติ คือ มีการขาดอาหารระยะเริ่มแรก จนร่างกายเจริญเติบโตช้าลงกว่าปกติ
ยิ่งถ้าน้ำหนัก อยู่ระหว่างกราฟเส้นที่ 3 และ 4 จากข้างบนแล้ว ก็จะบ่งชี้ว่า เด็กคนนั้นกำลังอยู่ในระยะอันตรายของการขาดอาหาร เพราะขณะนี้เด็กมีการขาดอาหารขั้นปานกลางแล้ว และถ้าเด็กขาดอาหารมากขึ้นจนถึงขั้นรุนแรง ก็จะมีน้ำหนักตกต่ำกว่ากราฟเส้นล่างสุด ระยะนี้ถือว่าเป็นการขาดอาหารระยะรุนแรง ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาหรือเลี้ยงดูให้ดีขึ้น เด็กอาจจะเป็นอันตรายถึงตายได้

การชั่งน้ำหนักเด็กปกติและเด็กที่มีการขาดอาหารเป็นระยะ ๆ จะทำให้ทราบถึงการเจริญเติบโตของเด็กได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังทำให้ทราบถึงวิธีการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา ตลอดจนถึงครอบครัวเด็กด้วย เพราะเด็กที่ขาดอาหารมักจะมาจากครอบครัวที่ยากจน คือ จนทั้งเงินทอง จนความรู้ และจนโอกาสที่จะได้รับบริการต่าง ๆ ด้วย เมื่อมีการช่วยเหลือเด็กและช่วยเหลือครอบครัวเด็กที่มีปัญหา เพื่อให้ช่วยตัวเองให้ได้ การติดตามดูน้ำหนักเด็กก็จะเป็นเครื่องชี้อย่างดีถึงผลสำเร็จหรือความล้มเหลวของโครงการช่วยเหลือนั้น ๆ

ในเด็กวัยเรียน แนวความในการชั่งน้ำหนักเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก ควรจะได้นำมาใช้ เมื่อมีการชั่งน้ำหนักเด็กแล้ว ควรจะมีการแปลผลด้วยว่า เด็กเติบโตปกติหรือไม่ ไม่ควรสักแต่ชั่งน้ำหนักแล้วบันทึกไว้ โดยไม่มีการแปลผลแต่อย่างไร โดยทั่วไปแล้ว เด็กวัยเรียนจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 2 กิโลกรัม และมีความสูงเพิ่มปีละประมาณ 5 ซม. จนเมื่อใกล้จะเข้าวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว น้ำหนักจะเพิ่มปีละประมาณ 5-7 กิโลกรัม และความสูงก็จะเพิ่มปีละ 5-7 ซม.
เช่นกัน จนเป็นหนุ่มสาวเต็มที่ จากนั้นจะไม่สูงเพิ่ม แต่น้ำหนักอาจจะเพิ่มได้อีกเรื่องของการชั่งน้ำหนักและการวัดความสูง นอกจากจะเป็นเครื่องชี้ถึงการเจริญเติบโตของแต่ละคนแล้ว ยังอาจจะนำมาใช้เป็นเครื่องชี้ภาวะสังคมของชุมชนได้ด้วย เช่น ชุมชนใดที่มีการพัฒนาดี ทรัพยากรมนุษย์ก็จะดีถ้วนทั่วหน้ากัน กล่าวคือ เด็กทุกคนจะเติบโตเป็นปกติ ไม่มีปัญหาการขาดอาหาร ถ้าชุมชนใดที่มีปัญหาสังคมอยู่ แม้จะมีการพัฒนาทางด้านวัตถุไปมากมายก็ตาม ก็จะมีปัญหาการขาดอาหารอยู่

  

ประเทศไทย ได้มีความพยายามในการพัฒนาตนเองมาหลายสิบปี แต่ปัญหาการขาดอาหารยังมีอยู่มาก จากการชั่งน้ำหนักเด็กทารกและเด็กวัยก่อนเรียนทั้งประเทศ หนึ่งล้านคน พบว่าเด็กไทยยังมีการขาดอาหารในระดับต่าง ๆ ทั้งเริ่มแรก ปานกลาง และรุนแรง รวมกันถึงร้อยละ 40-60 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบมีปัญหามากที่สุด รองลงมา คือ ภาคเหนือ และภาคใต้ เป็นลำดับ ภาคกลางมีปัญหาน้อยแต่ก็ยังมีการขาดอาหารถึงร้อยละ 40

เพื่อเป็นการแก้ปัญหา ควรจะเริ่มที่ตัวเด็กแต่ละคน โดยที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองพยายามเลี้ยงดูให้อาหารที่ถูกต้องเหมาะสมตามวัย เช่น
ให้ลูกกินนมแม่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ให้อาหารเสริมที่เหมาะสมตามวัย
ระวังความสะอาดในการเตรียมและให้อาหารแก่เด็ก (อย่างน้อยควรล้างมือทุกครั้ง)
ป้องกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ โดยการให้ภูมิคุ้มกันโรคที่ป้องกันได้
ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก
ฝึกเด็กให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม
สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นในการที่จะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาความสามารถได้ดีเต็มที่
การชั่งน้ำหนักเป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามการเติบโตทางร่างกาย จะเป็นวิธีที่ง่ายและเหมาะสมที่สุดในเด็กแต่ละคน และในเด็กของชุมชนต่าง ๆ ถ้าเด็กทุกคนมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติก็จะเป็นเครื่องชี้ที่ดีที่สุดถึงการพัฒนาการของคนในชุมชนนั้น ว่าเป็นไปได้อย่างดี เพราะความต้องการพื้นฐานของคนได้เริ่มพอเพียงแล้ว

เพื่ออนาคตของเด็กไทยและอนาคตของชาติ คนไทยทุกคนควรสนใจเรื่องการเติบโตและการพัฒนาการความสามารถของเด็กกันให้มากยิ่งขึ้น และจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด คือ น้ำหนักตัว เพื่อใช้เป็นเครื่องชี้ถึงการเจริญเติบโตของร่างกาย.
 

ข้อมูลสื่อ

41-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 41
กันยายน 2525
ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์