• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาลดกรด


ถ้าเอ่ยถึงโรคกระเพาะทุกคนก็คงรู้จักเป็นอย่างดี ถ้าพูดถึงปวดท้องส่วนใหญ่คนมักจะว่าเป็นโรคกระเพาะ โรคนี้เกิดจากการที่มีกรดเกลือหลั่งลงไปในกระเพาะอาหารมากเกินไป อาจสืบเนื่องมาจาก ความเครียดของจิตใจหรือการกินอาหารที่ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารเข้าไป ทำให้เยื่อบุกระเพาะอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ อาการที่ปรากฏคือ ปวดเสียดท้องบริเวณเหนือสะดือ ซึ่งจะหายเมื่อกินอาหารเข้าไป และอาการปวดจะกลับเป็นขึ้นมาใหม่ภายในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ในกรณีที่มีอาการรุนแรงจะทำให้อาเจียน บางครั้งมีเลือดปนออกมาและอุจจาระมีสีดำ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ กาแฟ น้ำอัดลม อาหารรสเผ็ด เครื่องเทศ ตลอดจนบุหรี่

การรักษาโรคกระเพาะในระยะเริ่มแรกนี้สำคัญมาก มิฉะนั้นอาจจะทำให้มีอาการเลือดออกในกระเพาะหรือเป็นแผลในกระเพาะ แผลในกระเพาะจะดีขึ้นถ้าระมัดระวังในเรื่องการกินอาหารและเครื่องดื่ม ในทำนองเดียวกันความโกรธ ความเครียด หรือมีอาการทางประสาทจะทำให้แผลหายช้า ดังนั้นการพักผ่อนให้เพียงพอจึงจำเป็นสำหรับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
ยาที่ใช้ในการรักษาจะต้องเป็นยาที่ไปลดความเข้มข้นของกรดเกลือในกระเพาะอาหาร โดยระงับการหลั่งของกรดเกลือ หรืออาจจะไประงับการสร้างกรดเกลือก็ได้ ยาต่างๆ เหล่านี้ได้แก่ยาที่มีส่วนผสมของสารพวกอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ โซเดียมไบคาร์บอเนต สารเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นด่างจะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับกรดเกลือ เป็นการลดปริมาณของกรดเกลือในกระเพาะอาหารได้ ส่วนยาไซเมติดีน (cimetidine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยไประงับการสร้างกรดเกลือ

มีผู้เข้าใจกันว่า ยาลดกรดเป็นยาไม่มีอันตราย แต่ความจริงแล้วการใช้ยาลดกรดเป็นประจำอาจจะมี
อาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้
เช่น ท้องผูก ท้องเสีย และมีความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกายทำให้
อวัยวะบางระบบทำงานผิดปกติไป ปฏิกิริยาต่อกันของยาลดกรดกับยาในกลุ่มอื่นเมื่อใช้ร่วมกัน ซึ่ง
จะทำให้ผลในการรักษาลดลง และการทำให้กระเพาะมีสภาวะเป็นด่างมากเกินไป ไม่เป็นผลนักเนื่องจากเอ็นไซม์ที่ช่วยในการย่อยโปรตีนจะถูกทำลาย และอาจมีกรดเกลือหลั่งมากในกระเพาะอาหารได้ภายหลัง
 

ยาลดกรดโดยทั่วไปมีคุณสมบัติต่อไปนี้
1.สามารถทำให้สภาวะความเป็นด่างของกระเพาะอาหารมากขึ้น
2.ออกฤทธิ์ได้เร็ว และระยะเวลาของการออกฤทธิ์มากกว่าครึ่งชั่วโมง
3.ไม่ทำให้เกิดการหลั่งของกรดภายหลัง
4.ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อภาวะสมดุลความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย
5.ไม่ค่อยดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
6.มีผลกระทบต่อการย่อยและการดูดซึมอาหารน้อยมาก
7.สามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้
8.ทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายเร็วขึ้น
9.มีอาการข้างเคียงน้อย เมื่อใช้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
10.ราคาถูก และสะดวกต่อการใช้
 

ยาลดกรดที่มีอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดได้แก่
1.สารประกอบพวก อลูมิเนียม เช่น อลูมิเนียมไฮดตอกไซด์ มีชื่อทางการค้าว่า อลูมิน (Alumin)
โดยปกติแล้วค่อนข้างปลอดภัยในการใช้ แต่ถ้าใช้ในระยะเวลานานอาจเกิดอาการข้างเคียงได้คือ
ท้องผูก ราคาขายส่งคือ ขวดขนาด 8 ออนซ์ ราคา 18 บาท

2.สารประกอบพวกแมกนีเซียม เช่น แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ หรือที่รู้จักกันดีในนามของ มิลด์
ออฟ แมกนีเซีย (Milk pf magmesia) มีคุณสมบัติในการลดกรดเกลือในกระเพาะอาหาร และใช้เป็นยาระบายได้ เนื่องจากอาการข้างเคียงของยาตัวนี้ คือ ทำให้ท้องเดิน นอกจากนี้ยังมีสารประกอบพวกแมกนีเซียมไตรซิลิเกต ซึ่งมักจะใช้ผสมกับยาลดกรดตัวอื่น ๆ เนื่องจากสารตัวนี้มีคุณสมบัติในการดูดซับสารต่าง ๆ ได้ดี

3.สารประกอบโซเดียมไบคาร์บอเนต ออกฤทธิ์เร็วแต่อยู่ได้ไม่นาน จึงไม่ค่อยนิยมใช้ อาการข้างเคียงที่พบ คือ อาการบวมและความดันโลหิตสูง ซึ่งในกรณีที่ผู้ใช้ยานี้เป็นโรคไต หรือโรคหัวใจอยู่แล้ว อาจเกิดอันตรายได้ และไม่ควรใช้รักษาผู้ป่วยทีมีแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง ถึงแม้ว่าจะรักษาได้ในตอนต้น แต่ภายหลังจากนั้นจะทำให้มีกรดเกลือหลั่งลงมาอีก ทำให้อาการเลวลง

4.ยาลดกรดที่มีสารตั้งแต่ 2 ชนิดผสมกัน จุดประสงค์คือ ลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจาการใช้ยาลดกรดชนิดเดียว อัตราส่วนในการผสมนั้น อาจเป็นอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ต่อ แมกนีเซียมไฮดรอก
ไซด์ เท่ากับ 1:1 หรือ 2:1 ก็ได้

ยาที่มีสารอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ผสมกับแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดคือ
อัลคาดอน (Alkadon)
อลูดร็อก (Aludrox)
แอนทาเซีย (Antacia)
มาลามิล (Malamil)
อลันแม๊ก (Alum-mag)
อลัมมิลค์ (Alum-milk)
มาลาล๊อก (Maalox)

ยาที่มีสารอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ผสมกับแมกนีเซียมไตรซิลิเกต ได้แก่
อัลมินัม (Al-miumn)
อลูซิล (Alusil)
แกสมาจิน (Gasmagin)
อัลแม๊ค (Almag)
อลูทอป (Alutop)
เจลูซิล (Gelusil)

ยาที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ กับแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์โดยการเพิ่มสารเซมิไธโคน(Semithicone) ลงไป เพื่อลดการเกิดฟองของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร เป็นการป้องกันไม่ให้สารละลายที่เป็นกรดล้นขึ้นไปถูกบริเวณหลอดอาหาร ชื่อทางการค้าของกลุ่มนี้ได้แก่
อัลแม๊กเซน (Almaxane)
มายซิล (Mylil)
แอนทาซิล (Antacil)
ไซมีโค (Simeco)

ขนาดของยาที่ใช้สำหรับยาลดกรดเหล่านี้ ถ้าเป็นยาชนิดแขวนตะกอนกินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ก่อน
หรือหลังอาหาร 1 ชั่วโมง ส่วนยาเม็ดใช้ครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนหรือหลังอาหาร 1 ชั่วโมงเช่นกัน ราคา
ขายส่งของยาลดกรด ถ้าเป็นยาแขวนตะกอนราคาตั้งแต่ 16-30 บาท สำหรับขวดเล็ก ส่วนยาเม็ด
ราคาเม็ดละประมาณ 13-52 สตางค์
 

5.ยาไซเมติดีน(Cimetidine)
สารตัวนี้ทำหน้าที่ต้านการออกฤทธิ์ของฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารสำคับที่จะกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดเกลือลงไปในกระเพาะอาหาร แต่ไซเมติดีนใช้รักษาอาการหวัดคัดจมูก และอาการแพ้อื่น ๆ ไม่ได้
อาการข้างเคียงของยาตัวนี้พบน้อย ที่พบคือ เวียนศีรษะ ท้องเดิน ผิวหนังเป็นผื่น ในผู้ชายอาจมีอาการเต้านมโตขึ้น การใช้ยาตัวนี้ในขนาดสูง ๆ อาจมีอาการสมองสับสนเกิดขึ้นได้
 

ข้อควรระวัง สำหรับการใช้ยาไซเมติดีน คือ
1.ยาตัวนี้สามารถซึมผ่านรกและเต้านมได้ ดังนั้นหญิงมีครรภ์หรือหญิงที่อยู่ในระหว่างการให้นมลูกจึงไม่ควรใช้ แม้ว่ายังไม่มีรายงานถึงอันตรายของมันก็ตาม

2.ถ้าใช้ไซเมติดีนร่วมกับยาห้ามการแข็งตัวของเลือด ต้องระวัง เพราะยาตัวนี้มีผลในการออกฤทธิ์คล้าย
กับยากลุ่มนี้ด้วย

3.เนื่องจากไซเมติดีนถูกขับออกจากร่างกายโดยทางไต จึงต้องลดขนาดของยาลงไปในผู้ป่วยโรคไต

ขนาดของยาไซเมติดีนที่ใช้ในการรักษาคือ กินครั้งละ 1-2 เม็ด พร้อมอาหาร หรือหลังอาหารเล็กน้อย และก่อนนอน แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 3 เดือนไซเมติดีน 1 เม็ดที่มีปริมาณยา 200 มิลลิกรัม จะมีราคาขายส่งระหว่าง 3.50-8.50 บาท โดยมีชื่อทางการค้าดังนี้
บูรเมติดินา (Brumetidina)
ไซเมท (Cimet)
ไซติดีน (Citidine)
ฟานิเมท (Fanimet)
ไซกาเมท (Sigamet)
อัลซิดีน (Ulcidine)
ไซดีน (Cidine)
ไซมิติน (Cimetin)
ไซเทียส (Citius)
ไซอะมิดีน (Siamidine)
ทากาเมท (Tagamet)

ยาลดกรดอีกตัวหนึ่ง ที่กลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับยาไซเมติดีน คือรานิติดีน (Ranitdine) เนื่องจากตัวนี้เป็นยาใหม่ จึงยังไม่มีรายงานผลของอาการข้างเคียงมากนัก ขนาดของยาที่ใช้ในการรักษาคือ ครั้งละ 1 เม็ด เช้าและเย็น ชื่อทางการค้าของยาตัวนี้ คือ แซนแทค (Zantac) ข้อดีสำหรับยานี้คือ กินวันละ 2 ครั้ง ทำให้ลืมยาได้น้อย
 

6.ยาซูครัลเฟต (Sucralfate) ที่รู้จักในนามของอัลเซนิค (Ulsenic) สารตัวนี้จะไประงับการทำงานของน้ำย่อยและไปเคลือบที่ผิวของกระเพาะอาหาร เป็นการขัดขวางการกระจายของกรดเกลือและบรรเทาอาการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ ยาตัวนี้ใช้ได้ผลดีพอ ๆ กับ ไซเมติดีน แต่อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น คือ ท้องผูก ขนาดของยาที่ใช้ในผู้ใหญ่ คือ ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง กินก่อนอาหารและก่อนนอน

ยาลดกรดชนิดแขวนตะกอนและชนิดเม็ด มีคุณสมบัติในการลดกรดได้เหมือนกัน โดยการใช้ยาเม็ดนั้นควรจะเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ควรคำนึงถึงช่วงเวลาของการใช้ยาด้วย ถ้าต้องการเพียงแค่บรรเทาอาการปวดก็ใช้ได้ทันทีที่มีอาการ แต่ถ้าต้องการให้แผลในกระเพาะอาหารดีขึ้น ควรกินในขณะที่มีอาหารอยู่ในกระเพาะ หรือหลังอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ยาจะออกฤทธิ์นานขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคไตหรือโรคหัวใจ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยนั้นได้ ผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารควรกินอาหารให้เป็นเวลา งดอาหารรสจัด จะเป็นการช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ส่วนการจะเลือกใช้ยาตัวไหนรักษานั้น ควรคำนึงถึงราคายาด้วย ซึ่งยาที่มีราคาแพง ไม่จำเป็นจะต้องรักษาได้ผลดีกว่ายาราคาถูกเสมอไป

 

ข้อมูลสื่อ

61-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 61
พฤษภาคม 2527