• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นตะคริวทำอย่างไรดี



เมื่อเอ่ยถึงตะคริว ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะรู้จักดี บางท่านก็ถึงกับเข็ดขยาด เพราะตะคริวทำให้เกิด
ความเจ็บปวดเหมือนกับกล้ามเนื้อถูกทุบอย่างแรง แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักตะคริวและไม่เคยเป็นตะคริว ผู้เขียนในฐานะที่เคยเป็นตะคริว เคยรักษาคนที่เป็นตะคริว และมีความรู้เรื่องตะคริวบ้าง
ขอนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง หวังว่าจะมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ นักกีฬา นักวิ่ง และประชาชนทั่วไป


⇒ ตะคริว คืออะไร?
ตะคริว หมายถึง การหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเป็นเวลาต่อเนื่องกันนาน ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจทำอาจเป็นกล้ามเนื้อกลุ่มเดียวหรือหลาย ๆ กลุ่มก็ได้


⇒ ตะคริวอาจเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ดังนี้.-

1.ภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือ

2.กล้ามเนื้ออ่อนแอและเกร็งตัวจากการทำงานหรือออกแรงอย่างมากและเร็วเกินไป  (ขาดการอุ่นเครื่อง) เช่นวิ่งเร็ว หรือแข่งกีฬาหนัก ๆ โดยไม่มีการอุ่นเครื่องก่อน

3.ระบบไหลเวียนของเลือด ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ เช่น อากาศหนาวมาก ใส่ถุงเท้ารัดแน่นมาก ทำให้เลือดไปเลี้ยงปลายเท้าไม่พอ เกิดเป็นตะคริวที่น่อง หรือที่ฝ่าเท้าได้

4.ภาวะเครียดทางจิตใจมีผลทำให้กล้ามเนื้อเครียดหรือตึงตัวมากเกินไปก็ทำให้เกิดเป็นตะคริวได้ง่าย


⇒ อาการของคนเป็นตะคริว
มีการเกร็งของกล้ามเนื้อบางมัดหรือหลาย ๆ มัดอย่างแรงโดยบังคับไม่ได้ ถ้าคลำดูจะพบว่ากล้ามเนื้อแข็งเป็นลำปวดกล้ามเนื้อที่เกร็งนั้น เหมือนกับว่ากล้ามเนื้อถูกทุบอย่างแรง หรือเหมือนกับว่ากล้ามเนื้อถูกขยุ้มแรง ๆ เคลื่อนไหวข้อต่อที่ใกล้กับกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวได้ลำบาก
 

                           


⇒การป้องกัน
1.ควรมีการฝึกซ้อมกีฬาหรือออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ
2.ดื่มน้ำ (หรือน้ำหวาน) ผสมเกลือเล็กน้อย ก่อนการออกำลังกายหรือก่อนการแข่งขันกีฬา
3.ควรมีการอุ่นเครื่อง (Warm-up) เช่นการวิ่งเหยาะ กายบริหารก่อนการแข่งขันกีฬาทุกครั้ง
4.นวดกล้ามเนื้อเบา ๆ ก่อนและหลังการเล่น หรือแข่งขันกีฬา
5. ตัดความกังวลใจล่วงหน้าก่อนการแข่งขัน


⇒ถ้าเป็นตะคริวโดยกระทันหันจะทำอย่างไร?
เนื่องจากการเป็นตะคริวทำให้กล้ามเนื้อนั้นหดเกร็ง เจ็บปวด และเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานกล้ามเนื้อนั้นอาจขาดคุณสมบัติในการยืดหดได้ และส่งผลให้เป็นตะคริวได้บ่อย ๆอีก ดังนั้นจึงต้องรีบแก้ไขทันทีที่เป็นตะคริว ดังนี้

1.จัดท่าทาง (Positioning) เพื่อยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว อาจยืดเองหรือให้ผู้อื่นทำให้ก็ได้ ตัวอย่างเช่น
การยืดกล้ามเนื้อต้องทำอย่างนิ่มนวลก่อนแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มแรงยืดทีละน้อยจนสุดการเคลื่อนไหว
ของข้อและยืดค้างไว้สักครู่ เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวแล้วจึงค่อยๆ คลายแรงยืดนั้นลงการยืดแรง ๆ และเร็วแบบกระตุกจะทำให้เกร็งมากขึ้นกว่าเดิมได้ง่ายจึงไม่ควรทำ

2.การนวดที่กล้ามเนื้อ ในระยะที่เริ่มเป็นตะคริวนี้ ควรจะนวดเบาสลับกับการยืดกล้ามเนื้อก็ได้ เช่น
การคลึงเบา ๆ ที่กล้ามเนื้อนั้นประมาณ 1-2 นาที สลับกับการยืดกล้ามเนื้อ 1-2 นาที จะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวเร็วขึ้น การบีบนวดอย่างแรง ๆ เป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกร็งมากยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ควรทำ

3.การให้ความอบอุ่น
หรือ ความร้อนแก่กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว มีความสำคัญมากในการลดอาการเกร็งเนื่องจากตะคริว และช่วยป้องกันการเป็นซ้ำ ๆ อีกได้เป็นอย่างดี ในระยะกระทันหันการช่วยเหลือ 2 อย่างแรกน่าจะเพียงพอ นอกจากจะเป็นซ้ำ ๆ กันบ่อยครั้ง จึงควรใช้ความร้อนช่วย อาจให้ในรูปของผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น แล้วบิดให้พอหมาด ๆ แล้วนำมาประคบบริเวณที่เป็นตะคริวหรือจะใช้กระเป๋าน้ำร้อนห่อด้วยผ้าขนหนู 2 ชั้น มาประคบก็ได้ จะทำให้เลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้นและลดอาการเกร็ง การประคบใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ถ้าเป็นผ้าชุบน้ำอุ่นก็ควรนำมาชุบน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพื่อรักษาความร้อนได้นาน
 

เมื่อกล้ามเนื้อหายเกร็งแล้ว (หายจากการเป็นตะคริว ) ก็ควรหาทางป้องกันดังกล่าวต่อไป
 

ข้อมูลสื่อ

62-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 62
มิถุนายน 2527
เรื่องน่ารู้
ผศ.ดร.วิชัย อึ้งพินิจพงศ์