ท้องผูกเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป เป็นภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระน้อยครั้ง และแต่ละครั้งเต็มไปด้วยความยากลำบาก อาการท้องผูกนั้นเกิดได้เนื่องจากหลาย ๆ สาเหตุเช่น การกินอาหารที่มีกากน้อย ภาวะการขาดน้ำของร่างกาย หรือมีความกดดันทางด้านจิตใจ เมื่อมีอาการท้องผูกในขั้นแรกยังไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องใช้ระบาย ควรแก้ไขด้วยวิธีอื่นเสียก่อนเช่น เปลี่ยนแปลงลักษณะอาหารที่กินเข้าไป โดยกินอาหารหรือผลไม้ที่มีกากมาก ๆ เช่น มะละกอสุก หลีกเลี่ยงอาหาร ผลไม้ และเครื่องดื่มบางชนิดที่จะทำให้ท้องผูกยิ่งขึ้น เช่นฝรั่ง น้ำชา ในกรณีที่ปฏิบัติตามแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น ถึงจะหันมาใช้ยาระบาย ซึ่งจะต้องใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพราะถ้าใช้นานเวลาหยุดยาจะมีอาการท้องผูก นอกจากนี้อาจทำให้ลำไส้อักเสบได้
ยาถ่ายและยาระบายที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้น แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่ทำให้อุจจาระเป็นก้อน
ยาระบายชนิดนี้ เป็นยาระบายที่ปลอดภัยและราคาถูก เป็นสารประกอบที่ได้จากพืช หรือสังเคราะห์จากสารเคมี เช่น รำข้าว เมธิลเซลูโลส (Methylcellulose) และเม็ดแมงลัก สารพวกนี้เมื่อกินเข้าไปพร้อมกับดื่มน้ำมาก ๆ จะพองตัวขึ้น ทำให้เพิ่มปริมาณของกากอาหาร และทำให้อุจจาระนุ่ม สะดวกแก่การถ่าย ยากลุ่มนี้ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ออกฤทธิ์ภายใจ 12-24 ชั่วโมง
ยากลุ่มนี้มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินอาหารที่มีกากมากและผู้สูงอายุ แต่ต้องดื่มน้ำตามเข้าไปมาก ๆ มิฉะนั้นอาจเกิดลำไส้อุดตันได้
ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่
1.1 พวกเมธิลโซลลูโลส เป็นสารได้จากเซลูโลสของพืช มีทั้งชนิดผง เม็ด และแคปซูล ขนาดของยาที่ใช้คือ ผู้ใหญ่ 1 กรัม 1-4 ครั้งต่อวัน เด็ก 500 มิลลิกรัม 2-3 ครั้งต่อวัน
ชื่อทางการค้าของยากลุ่มนี้คือ
เซลโลธิล (Cellothyl) ไฮโดรโลส (Hydrolose)
1.2 พวกซีลเลียม (Psyllium) ได้จากเมล็ดพืชพวกกล้วยชนิดหนึ่ง เรียกว่า กล้วยกล้าย (Plantain) มีลักษณะเป็นผง เมื่อนำมาผสมน้ำจะมีลักษณะคล้ายวุ้น ขนาดของยาที่ใช้คือ ครั้งละ 5-10 กรัม ผสมน้ำ
เย็น 1 แก้ว วันละ 1-3 ครั้ง
ชื่อทางการค้าของยากลุ่มนี้คือ
เมตามิวซิล (Metamucil) , คอนซิล (Konsyl) , แพลนตาโก (Plantago)
2.กลุ่มที่เพิ่มการซึมผ่านของของเหลว
ยากลุ่มนี้เป็นเกลือของแมกนีเซียม โซเดียม และโปตัสเซียม เป็นเกลือที่ละลายน้ำได้ดี ถูกดูดซึมค่อนข้างน้อย จากทางเดินอาหาร มีผลทำให้ลำไส้มีน้ำมากขึ้น เกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้ได้ ยากลุ่มนี้มักใช้เป็นยาที่ให้ก่อนหรือหลังการใช้ยาถ่ายพยาธิ หรือใช้เป็นยาระบายหลังจากทำให้อาเจียน หรือล้างท้อง เพื่อขจัดพิษของยาหรือสารบางอย่าง แต่ห้ามใช้ในการขจัดพิษจากการกินกรดหรือด่างเข้าไปและห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ เนื่องจากปริมาณของแมกนีเซียมที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะสะสมในร่างกายได้ ถ้าไตเสื่อมประสิทธิภาพ นอกจากนี้อาจทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติไปด้วย
ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ได้แก่
แมกนีเซียมซัลเฟต กินครั้งละ 10-30 กรัม
แมกนีเซียมซิเตรท กินครั้งละ 200 มิลลิกรัม
แมกนีเซียมคาร์บอเนต กินครั้งละ 8 กรัม
โซเดียมซัลเฟต กินครั้งละ 15 กรัม
โซเดียมฟอสเฟต กินครั้งละ 7.5 กรัม
3.กลุ่มที่กระตุ้นการถ่ายอุจจาระ
ยาในกลุ่มนี้ ทำให้มีการถ่ายอุจจาระโดยกระตุ้นลำไส้ใหญ่โดยตรง ให้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น และขัดขวางการดูดซึมน้ำและเกลือแร่จากลำไส้เข้าเซลล์บุลำไส้ ยาในกลุ่มนี้จะทำให้ไม่มีอุจจาระค้างอยู่ต้อง
ใช้เวลา1 - 3 วัน จึงจะถ่ายได้เป็นปกติ ทำให้มักเข้าใจผิดว่าต้องกินยาถ่ายอีก กลับกลายเป็นว่าต้องใช้ยานี้เป็นประจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
ยากลุ่มนี้สามารถแบ่งเป็น
3.1 ไดเฟนิลมีเธน (Diphenylmethane) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ที่ลำไส้ใหญ่ภายใน 6-12 ชั่วโมง เช่น ยาฟีนอล์ฟธาลีน (Phenolphthalein)
ข้อควรระวัง สำหรับการใช้ยาตัวนี้คือ อาจเกิดการแพ้ยาขึ้น เกิดลมพิษ ถ้ารุนแรงอาจมีไข้ ปวดข้อ ร่วมด้วย ขนาดที่ใช้ในการรักษาคือ ผู้ใหญ่ 100 มิลลิกรัม เด็ก 30-60 มิลลิกรัม เวลาที่เหมาะสมในการกินคือ ก่อนนอน
ชื่อทางการค้าของ ฟินอล์ฟธาลีนคือ
อาการอล(Agarol) บรุ๊คแลค(Brooklax) , เพอโกแลค (Purgolax), เพอโมแลค (Purmolax), เรกูลิม (Regulim), เวอราโคเลท(Veracolate)
ยากลุ่มนี้อีกตัวคือ บิซาโคดีล (Bisacodyl) ยาตัวนี้มักทำในรูปของยาเคลือบและยาเหน็บ เพื่อให้ยาแตกตัวที่ลำไส้ใหญ่ ไม่ควรกินยาตัวนี้ร่วมกับยาลดกรดหรือนมสด เพราะความเป็นด่างของยาลดกรดและนมสดจะไปทำลายสารที่เคลือบอยู่ ยาอาจแตกตัวในกระเพาะอาหาร เกิดอาการระคายเคืองและปวดมวนท้องได้ นอกจากนี้ถ้าใช้ชนิดเหน็บอาจจะทำให้ระคายเคืองบริเวณที่สอดยาและควรใช้ยาเมื่อเวลาที่ต้องการจะถ่าย การใช้ยานี้ติดต่อกันนาน ๆ เมื่อหยุดยาจะทำให้ท้องผูก ลำไส้ไม่มีการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ อาจเกิดตะคริวได้ เพราะร่างกายสูญเสียแร่โปตัสเซียม แคลเซียม
ขนาดของยาที่ใช้รักษาคือ ผู้ใหญ่ 5-10 มิลลิกรัม (ครั้งละ 1-2 เม็ด) ถ้าใช้เหน็บทวารหนัก เด็กอายุมากกว่า 2 ขวบ ให้ 10 มิลลิกรัม เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ให้ 5 มิลลิกรัมเมื่อใช้ยาเหน็บยาจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วประมาณ 15-60 นาที หลังเหน็บยา
ชื่อทางการค้าของบิซาโคดีล คือ
อะโคเลต (Acolate) , ไบโคแลค (Bicolax) , ไบแลค (Bilax) , ดัลโคแลค (Dulcolax) , ฟีนอแลค(Fenolax) ,เจนโคแลค (Gencolax)
3.2 กลุ่มแอนธราซีน ไกลโคไซด์ (Anthracene glycosides) ได้แก่มะขามแขก (Senna) และ คาสคารา (Cascara) ยากลุ่มนี้เป็นยาระบายที่มีฤทธิ์อ่อนที่สุดจะออกฤทธิ์ภายใน 6-12 ชั่วโมง จึงควรใช้ยานี้ก่อนนอน ถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้มีการเสียน้ำและสารเคมีพวกโซเดียม โปตัสเซียม และเนื่องจากสารพวกนี้ดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้และสะสมในน้ำนม จึงห้ามใช้ในหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เพราะจะเป็นอันตรายถึงทารกได้
ขนาดที่ใช้คือ ผู้ใหญ่ให้ 12-36 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-12 ขวบให้ครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ เด็กเล็กให้หนึ่งในสี่ถึงหนึ่งในสามของผู้ใหญ่
ชื่อทางการค้าคือ
เพอเซนนิด (Pursennid), ซีโนกอต (Senokot), เซนน่า ไกลโคไซด์ (Senna glycoside)
3.3 น้ำมันละหุ่ง (Caster oil) เป็นยาถ่ายที่ใช้กันมานานแล้ว ออกฤทธิ์ภายใน 3 ชั่วโมง น้ำมันละหุ่งทำให้ไม่มีแก๊สและอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ จึงใช้สำหรับทำความสะอาดลำไส้ก่อนผ่าตัด แต่ยานี้จะทำให้การดูดซึมอาหารและไวตามินผิดปกติ และเนื่องจากน้ำมันละหุ่งมีกลิ่นไม่ชวนกิน การผสมกับน้ำผลไม้จะทำให้กินได้ง่ายขึ้น ควรกินในขณะท้องว่าง แต่ไม่ควรใช้ก่อนนอน เพราะออกฤทธิ์เร็ว ขนาดที่ใช้สำหรับเป็นยาระบายคือ 4 มิลลิกรัม หากต้องการใช้เป็นยาถ่าย ขนาดสำหรับผู้ใหญ่ ครั้งละ 15-60 มิลลิกรัม เด็กครั้งละ 5-15 มิลลิกรัม
4.กลุ่มที่ทำให้อุจจาระนุ่ม
ยากลุ่มนี้ทำให้อุจจาระเหลวขึ้นโดยสะสมน้ำไว้ในลำไส้ ทำให้สะดวกต่อการถ่ายแต่ไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ ตัวอย่างของยากลุ่มนี้คือไดอ๊อกทิล โซเดียม ซัลโฟซัคนิเนต (Dioctyl sodium sulfosuccinate) และมินเนอรัลออย (Mineral oil) ไดอ๊อกทิล โซเดียม ซัลโฟซัคนิเนต มีรสขม อาจให้พร้อมกับนมหรือน้ำผลไม้ ถ้าใช้ในขนาดสูง ๆ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
ขนาดของยาที่ใช้คือ ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ก่อนนอน ทั้งผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป
ชื่อทางการค้าได้แก่
ด๊อกซิเนต (Doxinate), ไดอาโลส (Dialose) แลคซิบีน (Laxibene), มิลคินอล (Milkinol), โคเลส(Colace) , เพอริโคเลส (Peri-colace)
มินเนอรัลออย ไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหาร และถูกดูดซึมเข้าร่างกายน้อยมาก ยานี้ถ้าใช้มากกว่า 2
สัปดาห์จะทำให้การดูดซึมไวตามินที่ละลายได้ในไขมัน เช่น ไวตามิน เอ ดี อี เค ลดน้อยลง จึงไม่
ควรใช้เป็นยาถ่ายประจำบ้าน ขนาดของยาที่ใช้คือ ผู้ใหญ่ครั้งละ 15-25 มิลลิกรัม เด็กครั้งละ 10-15 มิลลิกรัม ก่อนนอน
เมื่อมีอาการท้องผูก โดยที่ไม่มีความผิดปกติในลำไส้ ควรกินผัก ผลไม้ ที่มีกากมาก ๆ เสียก่อน ถ้าไม่ได้ผลจึงจะหันมาใช้ยาระบาย โดยเลือกกลุ่มที่จะเป็นอันตรายน้อยที่สุดและขนาดยาที่ใช้ก็ต่ำสุดเท่าที่จะให้ผลในการรักษา เมื่อหายจากอาการท้องผูกแล้ว ควรหยุดยาทันที สิ่งที่สำคัญก็คือจะใช้ยาระบายหรือยาถ่ายต่อเมื่อจำเป็นจริง ๆ ห้ามใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้ถ่ายอุจจาระตามปกติไม่ได้เลย และอาจจะทำให้ลำไส้อักเสบเรื้อรังได้
- อ่าน 118,462 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้