• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผมร่วง

โรคผมร่วง (ต่อ)
คราวที่แล้วผมได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องผมร่วงที่ไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาและเป็น
วัฏจักรการเวียนว่ายตามเกิดของเส้นผม ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่มาหาหมอเรื่องผมร่วง ผมร่วงอีกชนิดหนึ่งที่พบได้เสมอ ๆ ที่ผมได้กล่าวถึงในตอนแรกแล้ว คือผมร่วงกรรมพันธุ์ซึ่งความจริงแล้วผมไม่ได้ร่วงมากผิดปกติเท่าใดนัก แต่เป็นเพราะเส้มผมบางลงเนื่องจากฮอร์โมนเอนโดรเจนและถูกกำหนดโดยพันธุ์กรรม (Androgenetic alopecia)

คราวนี้ผมขอเริ่มด้วยโรคผมร่วงที่มีความสำคัญมาก เพราะถ้ารักษาก็หายได้ แต่ถ้าไม่รักษาอาจจะตายจากโรคนี้ได้ บางคนอาจจะสงสัยว่ามีหรือโรคผมร่วงแล้วตาย ผมจะเฉลยให้หายสงสัยก็ได้ว่า โรคผมร่วงจากซิฟิลิสครับที่ทำให้ผู้ป่วยตายได้ แต่ไม่ใช่ผมร่วงจนตายนะครับ ส่วนจะตายอย่างไรนั้นก็ขอเชิญติดตามอ่านต่อไปแล้วจะเข้าใจ 

โรคผมร่วงจากซิฟิลิส

ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งเกิดจากเชื้อทริโปนีมาพาลิตั้ม (Treponema pallidum)
 รูปร่างของมันเป็นตัวยาว ๆ แต่ขดเป็นเกลียวเหมือนเกลียวสว่าน เวลาเคลื่อนไหวจะหมุนไปรอบตัว ไชเข้าตามผิวหนังที่สัมผัสกับเชื้อ ส่วนใหญ่แล้วติดต่อโดยทางเพศสัมพันธ์ บริเวณผิวหนังที่ได้รับเชื้อจะเกิดเป็นแผลขึ้นมีขอบแข็ง ไม่เจ็บ ที่เรียกกันว่าแผลริมแข็ง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจจะเป็นแผลเล็ก ๆ ไม่เห็นชัด เนื่องจากไม่เจ็บ ผู้ป่วยจึงอาจจะละเลยไม่ได้รักษา แผลนี้จะหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา แต่เชื้อตัวนี้จะกระจายไปอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยไม่แสดงอาการเรียกว่า “ระยะแฝง” จะรอโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคซิฟิลิสในระยะต่อ ๆ ไป

เมื่ออาทิตย์ก่อนผมเพิ่งได้พบผู้ป่วยที่เป็นโรคซิฟิลิสในระยะที่ 2 อีกรายหนึ่งในขณะที่ผมนั่งตรวจผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง

“สวัสดีครับ ” ผู้ป่วยชายหนุ่มท่าทางหงอย ๆ กล่าวพร้อมทั้งยกมือไหว้

ผมรับไหว้ “สวัสดีครับ เชิญนั่งครับ มีปัญหาอะไรถึงได้มาหาหมอ” ผมพลิกดูเวชระเบียน ก็ทราบว่าผู้ป่วยชื่อนายมานพ อายุ 18 ปี ยังโสดอยู่เป็นคนไข้ที่มาตรวจโรงพยาบาลนี้เป็นครั้งแรก

ผมร่วงครับ อยู่ดี ๆ ผมก็ร่วงเอา ๆ มาได้ 1 อาทิตย์ แล้วครับ บางทีรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ และครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายเป็นหวัด” นายมานพตอบ

ผมถามต่อไปว่า “ผมร่วงวันละกี่เส้น เคยนับบ้างหรือเปล่าครับ”

คำตอบที่ได้รับคือ “ผมร่วงมากครับ ผมนับไม่ไหวแต่ว่ากะดูแล้วคงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน เวลาหวีผมอย่างงี้ผมร่วงเป็นกระจุก ๆ เลยครับ แล้วยังตกตามที่นอน ตามหมอนอีก ถ้าวันไหนสระผมละก็ ผมยิ่งร่วงมากใหญ่เลย ผมชักไม่กล้าสระผมแล้ว เวลาหวีผมก็พยายามหวีเบา ๆ กลัวจะร่วงหมดศีรษะครับ”

ผมสังเกตดูก็ไม่รู้สึกว่าผมผู้ป่วยน้อยลง ทั้งนี้เพราะโดยปกติแล้วเราจะสังเกตว่าผมของคนอื่นน้อยผิดปกติ ก็ต่อเมื่อผมร่วงไปไม่น้อยกว่า 40% ของ หนังศีรษะทั้งหมด (ในกรณีที่ผมร่วงทั่ว ๆ ไปทั้งศีรษะ)
เมื่อ 2-3 เดือนก่อนมีโรคภัยไข้เจ็บอะไรหรือเปล่า ” ผมถามเพื่อที่จะได้รู้ว่าผู้ป่วยมีอาการผมร่วงหลังจากเป็นไข้หรือเปล่า เพราะหลังจากไข้สูง ๆ 2-3 เดือนแล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการผมร่วงตามมา อย่างเช่น ไข้หัวโกร๋น

“ผมสบายดีมาตลอดครับ ” ผู้ป่วยตอบ

ผมเดินเข้าไปตรวจดูก็พบว่าลักษณะของหนังศีรษะก็ปกติดี จึงใช้มือลองดึงเส้นผมของผู้ป่วยดูก็รู้ว่าผู้ป่วยรายนี้มีอาการผมร่วงจริง เพราะทุกครั้งที่ดึงจะมีเส้นผมหลุดติดมือออกมา 10 กว่าเส้นทุกที ผมจึงลองถามประวัติเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วยดู ก็ได้ความว่าผู้ป่วยรายนี้เคยไปเที่ยวผู้หญิงโสเภณีเมื่อประมาณ 3 เดือนก่อน หลังจากนั้นต่อมา 1 เดือนก็มีแผลเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ เนื่องจากแผลนี้ไม่มีอาการ ผู้ป่วยจึงใช้ยาผงวิเศษโรย ต่อมาแผลก็หายไปเอง ผมจึงให้ผู้ป่วยถอดเสื้อออก ก็พบว่ามีผื่นสีชมพูจาง ๆ ขนาดประมาณ 3-4 มิลลิกรัมกระจายอยู่ทั่วทั้งตัว ผื่นนี้ไม่มีอาการคัน ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่สังเกตว่าอยู่ ผมลองคลำดูต่อมน้ำเหลืองก็พบว่ามีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วไป
เมื่อได้ประวัติและตรวจความผิดปกติดังกล่าวแล้ว ทำให้ผมคิดว่าผู้ป่วยน่าจะเป็นโรคซิฟิลิสระยะที่สองมากที่สุด ผมจึงส่งผู้ป่วยไปตรวจเลือดดูว่าเป็นซิฟิลิสหรือไม่ ก็พบว่ามีเลือดบวก
 
“คุณเป็นโรคซิฟิลิสระยะที่สองครับ” ผมบอกผู้ป่วยเมื่อมาฟังผมในวันต่อมา

“คุณหมอจะรักษาให้หายได้ไหมครับ” ผู้ป่วยถาม

ผมถามผู้ป่วยจนแน่ใจว่าไม่เคยแพ้ยาเพนนิซิลลินแล้ว จึงตอบว่า “การรักษาที่ดีที่สุดคือ ฉีดยาเบนซา
ทีน เพนนิซิลลิน 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้าม อาทิตย์ ละครั้ง สองครั้ง แต่คุณต้องมาตรวจเลือดดูว่าปกติหรือยังทุก 1 เดือน ในระยะเวลา 3 เดือนแรก และทุก 3 เดือนในระยะต่อไปจนกว่าเลือดจะปกติ ทีนี้หมออยากทราบว่าคุณมีแฟนหรือเปล่า”

นายมานพอมยิ้มอย่างเขิน ๆ แล้วตอบว่า “มีแล้วครับ”

ผมจึงถามอีกว่า “เคยมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรือเปล่า
เคราะห์ดีที่ได้รับคำตอบว่าไม่ เนื่องจากซิฟิลิสในระยะนี้ติดต่อได้ง่าย ถึงแม้ว่าซิฟิลิสจะเป็นโรคที่รักษาให้หายได้โดยง่าย แต่ก็เป็นโรคที่เรียกได้ว่าเป็นจอมเทรกซึมและตัวบ่อนทำลายที่ร้ายกาจ เพราะถ้าไม่ได้รับการรักษาในระยะที่สองแล้ว อาการผมร่วง ไข้ ปวดข้อ ผื่นขึ้น และอาการอื่นๆ ที่มีก็จะหายไปเองได้ แต่เชื้อซิฟิลิสจะรุกเงียบแทรกซึม และบ่อนทำลายไปทุกอวัยวะ ที่สำคัญก็คือระบบประสาท และหัวใจ มันจะแสดงอาการอีกทีก็อาจจะ 10 ปี หลังจากผ่านระยะที่สองไปแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจจะหูหนวก ตาบอด หรือเป็นอัมพาตจาการทำลายระบบประสาท สติปัญญา และความจำอาจจะเสื่อมลง มีความคิดและพฤติกรรมผิดไปจากปกติ บางรายอาจจะสำคัญผิดคิดว่าตนเป็นคนสำคัญของประเทศหรือของโลก ถ้าเชื้อซิฟิลิสไปทำลายระบบหัวใจและเส้นเลือดแดงใหญ่แล้ว อาจจะทำให้เกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดแดงใหญ่ โป่งพอง จนแตกถึงแก่กรรมโดยกระทันหันได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการผมร่วงในวัยหนุ่มสาวทุกรายควรจะได้รับการตรวจเลือดดูให้แน่ว่าไม่ได้เป็นโรคซิฟิลิส

คนไข้ที่ผมร่วงจากโรคซิฟิลิสนี้เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด ถ้าคนไข้เหล่านี้ไปหลงเชื่อคำโฆษณาของศูนย์บำบัดรักษาเส้นผมต่าง ๆ แล้วก็ออกจะเป็นเคราะห์กรรมของคนไข้ เพราะถ้าไม่ได้รับการรักษาจากหมอแล้วก็จะไม่รู้ว่าเป็นโรคซิฟิลิสอยู่ เมื่อไปรักษาที่ศูนย์ฯ ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว อาการผมร่วงอาจจะดีขึ้นก็ได้ ถ้าบังเอิญคนไข้ไปรักษาในระยะที่โรคกำลังจะหายจากระยะที่สอง เข้าสู่ระยะแอบแฝง ซึ่งเชื้อซิฟิลิสอาจจะแทรกซึมและบ่อนทำลายสุขภาพอยู่นานนับสิบปีก็ได้ กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว จึงอยากเตือนให้ท่านผู้อ่านจำไว้ถ้าคิดว่ามีอาการผมร่วงจริง ๆ และสงสัยว่าตนเองมีโอกาสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้แล้วละก็ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเลือดดูให้แน่ 

โรคผมร่วงหย่อม

โรคผมร่วงที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่อีกโรคหนึ่งคือ โรคผมร่วงหย่อม (Alopecia areata) ที่เรียกว่าผมร่วงหย่อมเพราะลักษณะที่ร่วงจะเห็นผมแหว่งหายไปเป็นหย่อม ๆ บางคนอาจจะมีหลายหย่อม ดูคล้ายกับเป็นแผนที่ลุกลามจนทั่วศีรษะ จนไม่มีเส้นผมเหลือแม้แต่เส้นเดียวก็ได้ โรคนี้คนทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา (ภาษาทางราชการแปลว่าโรคผิวหนัง) แล้วอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นเชื้อราได้ ผมเคยรักษาผู้ป่วยรายหนึ่งที่เป็นโรคนี้เมื่อสัก 3-4 ปีที่ผ่านมาเห็นจะได้ คนไข้รายนี้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ทั่วศีรษะอยู่นานเป็นปี รักษากันอยู่ได้เดือนกว่า ผมก็เริ่มขึ้นเป็นบางแห่ง อยู่ ๆ คนไข้ก็ขาดการติดต่อไป ทีแรกนึกว่าคนไข้คงจะหายแล้วจึงไม่ได้มา แต่ต่อมาหนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวว่ามี ส.ส.ผู้หนึ่งถูกฆ่าตาย ทีศีรษะเป็นเชื้อราอยู่ด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีการเข้าใจผิดเรื่องเชื้อราของหนังศีรษะอยู่มาก

ตอนเย็นเมื่อวานนี้ขณะที่ผมออกตรวจผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ก็พบผู้ป่วยรายหนึ่ง เป็นแม่ลูกอ่อนอายุราว 30 ปี ผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่า

ผมของดิฉันร่วงมาตั้งแต่ 2-3 เดือน หลังคลอด ทีแรกก็คิดว่าไม่เป็นไร เห็นใคร ๆ เขาว่าผมจะร่วงตอนที่ลูกจำหน้าแม่ได้ ก็เลยไม่รู้สึกผิดปกติอะไร จนเมื่อ 3 อาทิตย์ก่อนไปทำผมที่ร้าน ช่างทำผมเห็นว่าผมร่วงหายไป 2 หย่อม ไม่รู้ว่าเป็นมานานเท่าใด อาการคันหรือเจ็บก็ไม่มี เขาบอกว่าคงเป็นเชื้อรา ก็เลยลองซื้อยารักษาเชื้อรามาทาดู 3 อาทิตย์ แล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะขึ้น คุณหมอช่วยตรวจดูหน่อยซิคะ ”

ฟังประวัติทีแรกเข้าใจว่าจะเป็นผมร่วงหลังคลอด แต่เมื่อผมลองใช้มือดึงเส้นผมโดยทั่วไปดูก็พบว่า ผมไม่ได้ร่วงมากผิดปกติ เมื่อแหวกเส้นผมดูแล้วพบว่าผมหายไปจนเห็นหนังศีรษะเป็นบริเวณ 2 แห่ง ประมาณ 5-8 ตารางเซนติเมตร อยู่กลางกระหม่อนเมื่อคนไข้หวีผมปิดไว้ก็จะไม่เห็น สภาพหนังศีรษะก็ดูปกติดี แสดงว่าผู้ป่วยน่าจะเป็นโรคผมร่วงหย่อม จึงอธิบายให้คนไข้ฟังว่า

คุณเป็นโรคผมร่วงหย่อม ซี่งยังไม่มีใครรู้สาเหตุ แต่ไม่ได้เป็นเชื้อราแน่ ๆ ดังนั้นการใช้ยาฆ่าเชื้อราทาจึงไม่ได้ผล”

“ถ้ายังไม่มีใครรู้สาเหตุแล้ว คุณหมอจะรักษาได้หรือคะ” คนไข้ถามขึ้นมา

ผมจึงอธิบายว่า” ที่จริงแล้วโรคนี้เมื่อเป็นครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเองได้ ครั้งหนึ่งของผู้ป่วยจะหายภายใน 1 ปี แต่มียาบางอย่างที่จะกระตุ้นให้เส้นผมงอกขึ้นมาเร็วได้ ซึ่งอาจจะใช้ได้หลายวิธี เช่นยาทากลุ่มสเตียรอยด์แรง ๆ หรือยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังในบริเวณที่เป็น หรือในรายที่เป็นมากลุกลามไปจนหมดทั้งศีรษะ ก็อาจจะใช้ยาเพรดนิโซโลน ชนิดรับประทาน แต่การให้ยาเพรดสิโซโลนรับประทาน ต้องพิจารณาให้ดีว่า คนไข้มีโอกาสเสี่ยงกับอันตรายจากการใช้ยาเช่นเป็นแผลในกระเพาะ ติดเชื้อง่ายเป็นต้น”

“แล้วสำหรับดิฉันจะรักษายังไงดี” คนไข้ถามต่อ

ผมคิดว่าจะลองใช้ยาทาดูก่อน ถ้า 1 เดือนยังไม่ได้ผล จะลองฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังในบริเวณที่เป็นทุก 2 อาทิตย์”

“เคยได้ยินเพื่อนบางคนบอกว่าให้ใช้น้ำมันมะกอก ผสมกับกากมะพร้าวที่เผาจนได้เป็นเถ้าสีดำ ๆ ทาแล้วผมจะขึ้น จะเป็นไปได้ไหมคะ
” คนไข้เล่าให้ฟังถึงสูตรยาที่เพื่อนผู้หวังดีบอก

ผมเคยได้ยินคนไข้มาเล่าถึงยาที่พวกเขาใช้ทาแล้วผมขึ้น มีมากมายหลายขนานจนจำไม่หมอ ส่วนใหญ่แล้วมักจะได้ผลเพราะผมมันกำลังจะขึ้นอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับยาที่ใช้ทา บางคนบอกว่าใช้ยาสีฟันยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ทาแล้วดี บางคนก็บอกให้ใช้สมุนไพรชนิดต่าง ๆ มีบางรายบอกใช้ยาขัดรองเท้ายี่ห้อดัง ชนิดหนึ่งทาแล้วผมขึ้นเร็วดีผมว่าฟัง ๆไว้ก็แล้วกัน ส่วนจะเลือกทาอย่างไหนก็ตัดสินใจเอาเองว่าจะเชื่อใคร เพราะถึงอย่างไร ผมก็จะขึ้นได้เองอยู่แล้ว ความจริงข้อนี้แหละที่ทำให้ศูนย์ที่รักษาเกี่ยวกับเส้นผมสามารถหากินอยู่ได้ เพราะถ้าคนไข้ที่เป็นโรคนี้บังเอิญมาใช้ยาของพวกเขาในช่วงที่ผมกำลังจะขึ้น หากคนไข้ไม่รู้ว่าผมอาจจะขึ้นเองได้ ก็จะเข้าใจว่เป็นยาวิเศษทำให้ผมขึ้นได้ คุณมีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับโรคนี้ที่จะถามอีกไหมครับ”

คนไข้นิ่งสักครู่ แล้วเอ่ยขึ้นว่า “โรคนี้เมื่อรักษาหายแล้วจะเป็นอีกไหม อ้อ! เกือบลืมไป แล้วโรคนี้จะติดต่อไปยังคนอ่นได้ไหม”

โรคนี้ถึงเรายังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง แต่ไม่ใช่โรคติดต่ออย่างแน่นอน คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเชื้อรา สำหรับคนไข้ที่รักษาแล้วหายก็มีโอกาสเป็นซ้ำอีกได้ แต่บางคนก็ไม่เป็นอีกเลย” ผมตอบในขณะที่เขียนใบสั่งยายื่นให้คนไข้

คุณเอาไปซื้อยาที่ห้องเภสัช ทาเช้าเย็นในบริเวณที่เป็น แล้วอีก 2 อาทิตย์ มาให้หมอดูผลใหม่ ถ้ามีปัญหาอย่างไรก็มาก่อนได้นะครับ”

“ขอบคุณ ค่ะ แล้วดิฉันจะมาตามนัด สวัสดีนะคะ”
คนไข้ยกมือไหว้แล้วลุกเดินออกไป

ผมรับไหว้ “สวัสดีครับ”

ความจริงยังมีโรคผมร่วงชนิดอื่นอีกหลายแบบ แต่ยังไม่มีเวลาที่จะกล่าวถึงในคราวนี้ ก็ต้องขอหยุดไว้เพียงเท่านี้ก่อน แล้วจะเล่าให้ฟังอีกในโอกาสหน้า

 

ข้อมูลสื่อ

63-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 63
กรกฎาคม 2527
ศ.นพ.สมยศ จารุวิจิตรรัตนา