ท้องเดินเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทั่ว ๆ ไป พบได้ทั้งอาการท้องเดินชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง โดยอาการชนิดเฉียบพลันนั้นอาจจะหยุดได้เอง โดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ส่วนอาการท้องเดินชนิดเรื้อรังควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วรักษาตามสาเหตุของอาการนั้น ๆ
อาการท้องเดินอย่างเฉียบพลันอาจเกิดเนื่องมาจาก การติดเชื้อจุลินทรีย์ การได้รับสารพิษ ความผิดปกติในการย่อยอาหารและการดูดซึมอาหาร หรือภาวะเครียดของจิตใจ ซึ่งอาการท้องเดินแบบเฉียบพลันนี้ส่วนใหญ่มักจะหยุดได้เอง และบางครั้งก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา แต่ถ้าผู้นั้นมีอาการสูญเสียน้ำมาก และอ่อนเพลีย มีอาการท้องเดินอย่างรุนแรงจนเกิดภาวะขาดน้ำขึ้นในร่างกาย ควรจะได้ให้น้ำเกลือเข้าไปทดแทน
วิธีการให้นั้นอาจจะให้โดยการดื่มเข้าไป หรือให้ทางหลอดเลือดดำก็ได้ การดื่มน้ำเกลือทำได้สะดวกกว่าโดยเฉพาะรักษาเองที่บ้าน ให้ผู้ป่วยดื่มทีละน้อยแต่มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่ทำให้เกิดอาเจียนภายหลัง การดื่มน้ำเกลืออาจทำโดยซื้อน้ำเกลือผงที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาดมาผสมน้ำเอง ตามอัตราส่วนที่บ่งไว้ ซึ่งเป็นวิธีการเตรียมที่ง่ายมาก ถ้าหาซื้อน้ำเกลือผงไม่ได้ ก็มีวิธีการทำน้ำเกลืออย่างง่าย ๆ คือใช้เกลือ ½ ช้อนชา น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำต้มสุก 1 ขวดแม่โขง วิธีนี้สามารถเตรียมได้ทุกแห่งและวัตถุดิบหาได้ทั่วไป บางครั้งอาจพบอาการปวดท้องควบคู่ไปกับอาการท้องเดิน ถ้าต้องการให้มีอาการดีขึ้นควรให้ยาบรรเทาอาการปวดท้องควบคู่ไปกับการให้น้ำเกลือ
ยาที่ใช้บรรเทามีหลายชนิดและมีกลไกในการออกฤทธิ์ต่าง ๆ กันโดยแบ่งออกเป็น
1.ยาที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้
ยาในกลุ่มนี้จะไปลดจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระเท่านั้น จึงไม่ควรใช้กับอาการท้องเดินที่เกิดจากการได้รับเชื้อจุลินทรีย์หรือได้รับสารพิษ เพราะจะทำให้เชื้อโรคหรือสารพิษเหล่านี้อยู่ในทางเดินอาหารได้นานขึ้น มีผลคือถูดดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นจนถึงระดับที่ทำให้เกิดอาการพิษได้ยาในกลุ่มนี้จึงเหมาะสำหรับใช้ในการรักษาท้องเดินที่เกิดจากภาวะเครียดของจิตใจ ซึ่งส่งผลให้ระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ผิดปกติไป หรืออาจจะใช้ยากลุ่มนี้ควบคู่กับยาต้านจุลชีพเพื่อช่วยในการรักษาให้ผลดีขึ้น
ยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาประเภทฝิ่น อาจเป็นสารที่สกัดมาจากฝิ่น หรือสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์คล้ายฝิ่น ซึ่งถ้าใช้ยาเหล่านี้บ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดอาการติดยาได้ จึงควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ยาในกลุ่มนี้ตัวแรกคือ ไดฟิน๊อคซิเลท ไฮโดรคลอไรด์ (Diphenoxylate hydrochloride) ออกฤทธิ์โดยไปมีผลต่อกล้ามเนื้อเรียบของระบบทางเดินอาหาร โดยจะไปช่วยเพิ่มการบีบตัวแบบคลุกเคล้าอาหาร แต่จะไปลดการบีบตัวแบบขับเคลื่อนอาหาร มีผลทำให้ถ่ายอุจจาระน้อยลง ยาตัวนี้มักผสมร่วมกับสาร อะโทรปีน (Atropine) เพื่อไม่ให้ผู้ใช้เกิดอาการติดยาขึ้น
ยาตัวนี้ควรใช้ในขนาดที่เหมาะสมไม่ควรใช้เกินความจำเป็น กรณีที่ต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ควรจะมีการตรวจร่างกายเป็นครั้งคราว และควรระวังถ้าใช้ยาตัวนี้ร่วมกับยาชนิดอื่น เช่น ยาสลบ ยาชา ยาต้านฮีสตามีน ยานอนหลับ เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยา
มีรายงานว่าตัวยานี้จะเสริมฤทธิ์กับยาต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดอาการกดประสาทสมองส่วนกลาง ทำให้เกิดอันตรายได้ และควรระวังในการใช้ยานี้กับเด็ก เพราะอาจทำให้ถึงตายได้ ถ้ากินยานี้เกินขนาด นอกจากนี้ควรระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ เนื่องจากยาตัวนี้ถูกทำลายที่ตับ ถ้าตับทำงานไม่เต็มที่ ปริมาณยาจะอยู่ในร่างกายสูงกว่าปกติ อาจเกิดอันตรายได้
อาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบคือง่วงนอน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ตาพร่า เมื่อต้องการจะหยุดยา ร่างกายจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการปรับตัว ซึ่งจะมากหรือน้อยแค่ไหนขึ้นกับขนาดของยาที่ใช้ และระยะเวลาที่รักษาควรใช้วิธีค่อย ๆ ลดขนาดของยาลง แทนการหยุดยาทันที
ขนาดของยาที่ใช้ในการรักษาคือในเด็ก ครั้งละ ½ - 1 เม็ด 4 ครั้งต่อวันขึ้นกับอายุของเด็กด้วย ผู้ใหญ่ ครั้งละ 1-2 เม็ด 3-4 ครั้งต่อวัน
ชื่อทางการค้าของยาชนิดนี้ ได้แก่
ไดโลมิล (Dilomil) คาทีแวน (Katevan) ไดเฟนซิล (Diphensil) โลโมเฟน (Lomofen) ไดโทรปิ่น(Ditropine) โลโมทิล (Lomotil)
ยาในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้อีกตัวหนึ่งคือ โลเพอราไมด์ (Loperamide) มีรายงานว่าดีกว่ายาตัวแรก ในแง่ที่ว่าทำให้เกิดการกดทำงานของสมอง ส่วนกลางน้อยมาก และยังออกฤทธิ์ได้เร็วและนานกว่า ยาตัวนี้เป็นยาค่อนข้างใหม่ ไม่ค่อยพบอาการข้างเคียง แต่เนื่องจากยาตัวนี้ถูกทำลายที่ตับเป็นส่วนใหญ่ จึงควรหลีกเลี่ยงในการใช้กับผู้ป่วยโรคตับ
ขนาดของยาที่ใช้ในการรักษาคือขนาดเริ่มต้น เด็กครั้งละ 1 แคปซูล ผู้ใหญ่ครั้งละ 2 แคปซูล
หลังจากนั้นถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็ให้เพิ่มอีกครั้งละ 1 แคปซูล แต่ไม่ควรเกิน 4 แคปซูลต่อวัน
ชื่อทางการค้าของยาตัวนี้ได้แก่
อีโมเดียม(Imodium) เพอราเซียน (Perasian) โลเพอริล (Loperil) วาคอนทิล (Vacontil)
2.ยาที่ไปดูดซับสารพิษหรือเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ
ยาประเภทนี้ใช้กันมานานแล้วเมื่อกินยากลุ่มนี้เข้าไปจะไปเคลือบเยื่อบุลำไส้ไม่ให้กระทบกับสารพิษและยังสามารถดูดซับสารพิษต่างๆ ได้อีกด้วย แต่ข้อเสียก็คือ มันจะไปดูดซับอาหาร ยาต่าง ๆ น้ำย่อย ตลอดจนสิ่งมีประโยชน์อื่น ๆ ภายในลำไส้เข้าไปด้วย
ยากลุ่มนี้ที่ใช้กันมากได้แก้ บิสมัท (Bismuth) คาโอลิน (Kaolin) เพคติน (pectin) หรือคาโอเพค
เตท (Kaopectate) ซึ่งตัวนี้เป็นสารผสมระหว่างคาโอลินกับเพคติน นอกจากจะช่วยในการดูดซับสารพิษแล้ว ยากลุ่มนี้ยังทำให้อุจจาระจับเป็นก้อนได้อีกด้วย และยากลุ่มนี้ใช้ได้กับอาการท้องเดินที่ไม่รุนแรงเท่านั้น ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ได้แก่ยาธาตุน้ำขาว (Bismuth Soda)
ขนาดที่ใช้คือ กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 4-6 ชั่วโมง
นอกจากนี้อาจนำยากลุ่มนี้ผสมรวมกับยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อโรคได้ เช่น ผสมคาโอลิน
เพคตินกับยานีโอมัยซิน (Neomycin) ซึ่งจะทำให้การรักษาดีขึ้น
ชื่อทางการค้า คือ
คาโอมัยซิน (Kaomycin) คาโอเพคทาล-เอ็น (Kaopectal-N) นีโอเพคลิน (Neopeclin) โนโวเพค (Novopec)
ส่วนอาการท้องเดินที่เกิดจากการได้รับเชื้อโรคเข้าไป ถ้าทราบว่าเป็นเชื้อโรค ก็ควรให้ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาเฉพาะเชื้อโรคนั้น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น อาการของโรคอหิวาต์ โรคบิดชนิดมีตัว และโรคทัยฟอยด์ เป็นต้น อาการท้องเดินส่วนใหญ่มักหยุดได้เอง ถ้าจะใช้ยารักษานั้นควรคำนึงถึงสาเหตุว่าเกิดอะไร เลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับสาเหตุนั้น ๆ เพื่อประโยชน์ในการรักษาต่อไป
- อ่าน 22,741 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้