• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาหม่องพริกขี้หนูแก้เคล็ดขัดยอกฟกช้ำ


เมื่อเดือนก่อนขณะที่นำต้นฉบับไปส่งให้ทาง “หมอชาวบ้าน” นั้น ได้มีโอกาสคุยกับกอง บ.ก. ได้ความคิดมาว่าถ้าสามารถหายาสมุนไพรที่ทำเป็นลักษณะยาสำเร็จรูปเก็บไว้ใช้ได้นานสักหน่อย เมื่อเกิดไม่สบายเจ็บป่วยจะได้นำมาใช้ทันท่วงที คิดไปคิดมาอันที่จริงยาไทยแบบปั้นเป็นเม็ดหรือที่เรียกว่า “ลูกกลอน” นี้ก็น่าจะเข้าเค้ายาสำเร็จรูปได้ เพียงแต่ดูไม่ค่อยน่ากินเหมือนผลิตเป็นเม็ดจากเครื่องหรือเป็นแคปซูล แต่ยาบางตำรับก็ต้องใช้ต้มกิน จะไปเปลี่ยนปรับปรุงให้ง่ายก็ต้องใช้เวลาศึกษากันอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้สรรพคุณเหมือนเดิม ไม่ผิดเพี้ยน
หวังว่าไม่นานนักวิชาการ แพทย์ เภสัชกร และผู้สนใจจะระดมความรู้ความสามารถ วิจัยค้นคว้าสกัดเอาสารสำคัญต่าง ๆ ในพืชสมุนไพรมาทำเป็นยาที่สามารถผลิตใช้ได้เองในประเทศก็เป็นได้ (ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนปลูกต้นไม้สมุนไพรเป็นพันๆ ไร่ เพื่อสกัดสารชนิดหนึ่งไว้ทำยาและเตรียมการส่งไปขายทั่วโลกแล้วนะครับ )

อย่างไรก็ตามยาสมุนไพรก็ยังคงต้องใช้ส่วนต่างๆ ของต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สดหรือแห้ง ผสมปรุงเป็นยากันอยู่ คนรุ่นใหม่ ๆ ที่เพิ่งหันมาสนใจและให้คุณค่าสมุนไพรอาจท้อที่จะนำมารักษาก็เป็นได้
มาฉบับนี้จึงอยากเสนอแนวใหม่ ๆ ทำเป็นยาสำเร็จรูปกันบ้าง คือการทำขี้ผึ้งพริกขี้หนู หรือเรียกอย่างชาวบ้าน ๆ ว่า “ยาหม่องพริกขี้หนู” ที่นำยาหม่องพริกมาเล่าสู่กันฟังเพราะเห็นว่า บ้านเมืองเราปรุงอาหารมักจะต้องมีพริกหรือเครื่องเทศอยู่ด้วยเสมอ และพริกก็หาได้ง่าย ที่สำคัญ (ถูกใจนักวิชาการ)คือ มีการทดลองในพริกขี้หนูพบว่า มีสารสำคัญตัวหนึ่งชื่อ “แค้พไซซิน”  ซึ่งมีคุณสมบัติ 3 ประการ
ในการแก้เคล็ดขัดยอกฟกช้ำได้ดีคือ

1. สารแค้พไซซินมีฤทธิ์ระคายเคืองผิวหนัง จึงช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดที่ผิวหนังขยายตัว ทำให้เลือดไหลหมุนเวียนได้สะดวกขึ้น ประโยชน์ที่ได้คือเลือดที่หมุนเวียนมาจะพาอาหารมาซ่อมแซมส่วนที่ฟกช้ำ กำจัดของเสียและพิษจึงช่วยลดอาการเคล็ดขัดยอกได้

2.ประเทศสหรัฐฯ ปี พ.ศ.2524 ที่ผ่านมาได้ทดลองกับหนูพบว่าสารแค้พไซซินระงับปวดได้ โดยไปรบกวนปลายประสาทที่ทำหน้าที่รับความเจ็บปวดให้หยุดทำงาน

3.ที่ประเทศสหรัฐฯ เช่นกัน ทดลองใช้สารแค้พไซซินทาผิวหนังอาสาสมัครพบว่าสารนี้ป้องกันการอักเสบหรืออาการบวมแดงไม่ลุกลามต่อไปได้

คุณสมบัติ 3 ประการนี้จึงน่าแสดงว่าพริกขี้หนูสามารถแก้อาการเคล็ดขัดยอกฟกช้ำได้ นอกจากนี้ทางประเทศจีนเคยทดลองทางคลีนิคกล่าวถึงสรรพคุณนี้เช่นกัน
วิชาการเขาว่าไว้อย่างนี้ เราจะมาทำเป็นสูตรยาใช้ได้จริงอย่างไรดีล่ะ

วิธีทำ 
ไม่ยาก เหมือนทำยาหม่องทั่ว ๆ ไป คือเริ่มจาก
1. เอากะละมังใส่น้ำต้มจนเดือดจากนั้นราไฟให้เดือดน้อย ๆ

2. เอาขันเล็ก ๆ 2 ใบวางไว้บนน้ำร้อน ขันใบหนึ่งใส่เทียนไข อีกใบหนึ่งใส่น้ำมันพืช (จะเป็นน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงาก็ได้) ลงไป 5 ส่วน จนเทียนไขละลาย

3.ตักเทียนไขที่ละลายแล้วใส่ลงไปผสมกับน้ำมันพืช ใช้เทียนไขเหลว 1 ส่วนคนให้เข้ากันดี จะได้ขี้ผึ้งเหลว

4.ทดสอบว่าขี้ผึ้งข้นหรือเหลวเกินไป โดยตักขึ้นมานิดหน่อย หยดลงไปในที่เย็น ๆ ขี้ผึ้งเหลวจะแข็งตัวทันทีใช้มือขยี้ดู ถ้าเหลวไปให้เติมเทียนไข ถ้าข้นไปให้เติมน้ำมัน

5.เอาขันที่ใส่เทียนไขออก เอาขันเปล่าอีกใบใส่แทน ปล่อยทิ้งไว้ให้ร้อน เอาพริกขี้หนูแห้งป่น(ทำจากพริกขี้หนูตากแห้ง แล้วนำไปคั่วก่อนจะบดง่ายขึ้น หรือพริกขี้หนูป่นที่ใส่ก๋วยเตี๋ยวนั่นละครับ) ใช้สัก 1-2 ส่วน ใส่ลงไปในขันที่มีขี้ผึ้งเหลว ตั้งทิ้งไว้ 5 นาที

6.เมื่อครบ 5 นาทีแล้ว กรองเอาผงพริกขี้หนูออก วิธีกรองเอาขันเปล่าร้อน ๆ ที่วางไว้ตามข้อ 5 เอาผ้าวางลงบนปากขัน แล้วเทขี้ผึ้งเหลวลงไปในขณะที่ขันเปล่ายังร้อนอยู่ เสร็จแล้วเทใส่ขวด หรือภาชนะอื่น ๆทิ้งไว้จนเย็น ขี้ผึ้งแข็งปิดฝาเก็บไว้ใช้ได้


วิธีใช้
ควรทาและถูนวดเบา ๆ ไปด้วยสัก 5 นาที เพื่อให้ผิวหนังร้อน แล้วพริกขี้หนูจะออกฤทธิ์ได้เร็ว และควรทานาน ๆ เพื่อให้ผิวหนังมันอยู่เสมอ เพราะถ้าทาบางเกินไปจะไม่รู้สึกร้อน เมื่อหายร้อนก็ทาใหม่
สูตรขี้ผึ้งหรือยาหม่องพริกนี้ เรายังไม่เคยได้รับคำบอกเล่าประสบการณ์จากใครนะครับ มีแต่เจ้าหน้าที่โครงการสมุนไพรฯ หลังจากเล่นกีฬาเกิดเคล็ดขัดยอกฟกช้ำก็นำมาใช้ได้ผลดี ที่แปลกคือนำมาใช้แก้ยุงกัดได้อีกด้วย ถ้าใครนำไปใช้ไม่หวงสูตรยาหม่องนะครับ
เอาละ...ก่อนที่จะพบกันใหม่ก็หวังว่าสูตรยาหม่องพริกง่าย ๆ (แต่เสียเวลาทำสักหน่อย) คงถูกใจแฟนสมุนไพรทั้งรุ่นใหม่ รุ่นเก่ากันบ้าง ถ้าใช้ได้ผลดีรักกันจริงก็ต้องบอกต่อ แล้วบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ ...อย่าลืมบอกมาที่โครงการฯ ด้วยนะครับ


หมายเหตุ
ยาหม่องพริกออกฤทธิ์ คือทำให้ผิวร้อนได้ช้า ต้องทาแล้วทิ้งไว้สักพักอย่าใจร้อน
 

ข้อมูลสื่อ

63-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 63
กรกฎาคม 2527
ภก.สุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล