• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผมร่วง


ใน 2 ฉบับก่อน ผมได้เล่าให้ฟังถึงเรื่อง ผมร่วงธรรมชาติ ผมร่วงกรรมพันธุ์ ผมร่วงจากซิฟิลิส และโรคผมร่วงหย่อมไปแล้ว ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมไม่กล่าวถึงโรคเชื่อราสักที ทั้งที่มีการโฆษณากันมาเหลือเกินทั้งทางหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ว่า “ท่านที่มีปัญหาผมร่วง อย่าปล่อยทิ้งไว้ท่านอาจจะเป็นเชื้อรา ควรจะรีบรักษา” แล้วก็จะบรรยายสรรพคุณของคุณของยาสระ ยาทา หรือยานวดผม ที่เขาจะขาย บางแห่งอ้างตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเส้นผมเปิดเป็นศูนย์ หรือเซนเตอร์ใหญ่โตมาก มีคนไข้ที่มาหาผมหลายคนเคยหลงเข้าไปแล้ว ถูกเรียกเก็บค่ารักษาแพงมาก

จุดประสงค์อย่างหนึ่งที่ผมเขียนเรื่องนี้ลงในหมอชาวบ้าน ก็เพื่อจะเตือนชาวบ้านอื่นๆ ไม่ให้หลงเข้าไปยังศูนย์หรือเซนเตอร์เหล่านี้ เพราะพวกนี้พูดเก่งมาก ใครเข้าไปแล้วอย่างน้อยถ้าไม่มีเงินจ่ายเพื่อรักษาเป็นชุด (course) ก็จะต้องลองซื้อผลิตภัณฑ์ของเขาในราคาแพงหลายร้อยบาท โดยไม่ได้ผลอะไรเลย ความจริงผมร่วงที่เกิดจากเชื้อราในผู้ใหญ่หาได้น้อยผมจึงไม่ได้นำมากล่าวในตอนแรก ๆ 
 

ผมร่วงจากเชื้อรา

วันนี้ห้องตรวจผมดูคับแคบลงไปมาก เพราะมีนักเรียนแพทย์อีก 5 คนมานั่งอยู่ด้วย เพื่อศึกษาเรื่องโรคผิวหนัง ผมกดกริ่งเป็นสัญญานให้ผู้ช่วยพยาบาลเรียกผู้ป่วยที่จะให้นักเรียนแพทย์ได้ศึกษาเข้ามาได้ สักครู่หนึ่งก็มีแม่ลูกคู่หนึ่งเปิดประตูเข้ามา หลังจากที่ทั้งสองคนนั่งลงเรียบร้อยแล้วผมจึงกล่าวว่า
ต้องขอโทษด้วยนะครับ ที่ต้องรอนานหน่อย เพราะวันนี้เรามีนักเรียนแพทย์มาเรียนด้วย”

“ไม่เป็นไรค่ะ
” คุณแม่ของผู้ป่วยตอบ

“หมอลองซักประวัติผู้ป่วยรายนี้ดูซิ” ผมหันไปพูดกับนักเรียนแพทย์

หลังจากที่ซักประวัติจากแม่ผู้ป่วยสักพักใหญ่แล้ว นักเรียนแพทย์คนหนึ่งจึงสรุปประวัติผู้ป่วยว่า “ผู้ป่วยเป็นเด็กนักเรียนชาย อายุ 9 ขวบ มีอาการคันศีรษะมา 2-3 อาทิตย์ ผมร่วงจากบริเวณศีรษะด้านขวา เป็นมาพร้อม ๆ กับที่มีอาการคัน ผู้ป่วยเป็นลูกคนโต มีน้องอีก 2 คน ทั้ง 2 คนสบายดี ไม่มีอาการแบบผู้ป่วย”

“มีใครได้ประวัติอะไรเพิ่มมากกว่านี้ หรือต้องการซักประวัติเพิ่มเติมจากผู้ป่วยอีกบ้างไหม”

ผมถามนักเรียนแพทย์ เมื่อไม่มีใครอยากทราบอะไรเพิ่มเติมแล้ว ผมจึงบอกให้นักเรียนแพทย์อีกคนหนึ่งบรรยายลักษณะของโรค

ลักษณะความผิดปกติที่พบคือ ผู้ป่วยมีอาการคัน และผมร่วงจากบริเวณหนังศีรษะด้านขวา เหนือหูขึ้นไปประมาณ 1 นิ้ว ผมร่วงเป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วครึ่ง ผมที่อยู่โดยรอบก็เปราะหักง่าย หนังศีรษะบริเวณรอบโรคเป็นผื่นแดงมีขุย และมีสะเก็ดจากการเกา เท่าที่ผมสังเกตเห็นมีเท่านี้ครับ”

เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเสียเวลาผมจึงถามผู้ป่วยว่า “เพื่อนที่โรงเรียนมีใครเป็นแบบนี้หรือเปล่า

เด็กชายตอบอย่างฉาดฉานว่า “มีเพื่อนสนิทของผมชื่อตั๊กครับ เขาเป็นอย่างผมนี่แหละครับ นั่งอยู่โต๊ะติดกัน เล่นอะไรก็เล่นด้วยกัน”

ผมถามต่อไปว่า “หนูมีผื่นตามตัวที่ไหนอีกหรือเปล่า
 
เด็กตอบ “ไม่มีครับ”

คุณแม่ที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ ก็พูดขัดขึ้นมาว่า “แม่ว่าเคยเห็นรอยแดง ๆ ที่ไหล่ขวาเมื่อ 2-3 วันนี้นะ ลูกลองถอดเสื้อให้คุณหมอดูซิ” ปรากฏว่ามีรอยผื่นแดงและเป็นสะเก็ดอยู่รอบรอยแดง ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางครึ่งนิ้ว ผิวหนังตรงกลางรอยโรคปกติดี นอกจากมีสีคล้ำกว่าผิวรอบ ๆ เท่านั้น

ผมชี้ให้นักเรียนแพทย์ดูว่า นี่เป็นลักษณะที่พบในโรคเชื้อรา ของผิวหนัง การที่เราพบรอยโรคที่มีลักษณะเฉพาะนี้จะช่วยการวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น มีคนไข้หลายคนโดยเฉพาะท่าน สุภาพสตรี มักจะอายหมอ ไม่ยอมให้แพทย์ตรวจดู ถ้าบังเอิญมีรอยโรคในร่มผ้า ความจริงรอยโรคบางอันอาจจะมีลักษณะเฉพาะที่ช่วยในการวินิจฉัยได้มาก ดังนั้นหมอโรคผิวหนัง มักจะต้องขอดูรอยโรคทุกแห่งที่มี

“เมื่อเราคิดว่าผู้ป่วยรายนี้จะเป็นโรคผมร่วงจากเชื้อราแล้ว เราจะมีวิธีการตรวจอย่างไรที่จะช่วยยืนยันว่าการวินิจฉัยนี้ถูกต้อง
” ผมถามนักเรียนแพทย์

“ตรวจดูเชื้อโดยใช้ เค.โอ.เอช. ครับ” นักเรียนแพทย์ 2-3 คนแย่งกันตอบ คำว่า เค.โอ.เอช. มาจากภาษาอังกฤษ KOH เป็นชื่อย่อทางเคมีของด่างชนิดหนึ่ง (โปตัสเซี่ยมไฮดรอกไซด์) เราจะเอาขุยจากผิวหนัง หรือเส้นผมผู้ป่วยมาละลายในด่างชนิดนี้ แล้วดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้ามีเชื้อราเราจะเห็นได้ชัดในกล้อง เมื่อตรวจพบเชื้อแล้ว ผมจึงเขียนใบสั่งยาให้ผู้ป่วยไปซื้อยา แล้วนัดผู้ป่วยมาตรวจดูอีก 2 อาทิตย์ ว่าเป็นอย่างไร

“ในรายนี้ ผมเห็นอาจารย์สั่ง กรีสซิโอฟูลวิน (Griseofulvin) ไม่ทราบว่าผู้ป่วยต้องรับประทานยาไปอีกนานเท่าใด” นักเรียนแพทย์คนหนึ่งถาม

“เราก็ต้องดูว่าลักษณะรอยโรคดีขึ้นหรือยัง ตรวจเชื้อราพบอีกหรือเปล่า โดยทั่วไปแล้วต้องให้ยานาน 4-6 อาทิตย์น” ผมตอบ

“ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้างคะ
” นักเรียนแพทย์อีกคนหนึ่งถามขึ้น

ผลข้างเคียงของยานี้พบไม่มาก บางรายผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหรือเวียนศีรษะในระยะ 7-10 วัน แรกที่รับประทานยานี้ แต่ต่อไปมักจะชินยา อาการนี้จะหายไปเองโดยไม่ต้องหยุดยา มีผู้ป่วยน้อยรายที่แพ้ยา ซึ่งถ้าแพ้ยาก็ต้องหยุดยา อีกอย่างหนึ่งคือผู้ป่วยที่เป็นโรคตับไม่ควรรับประทานยานี้ เพราะร่างกายจะขจัดยานี้ออกโดยตับ” ผมตอบ

เมื่อไม่มีใครสงสัยอะไรแล้วผมจึงถามว่า “นอกจากผมร่วงจากเชื้อราแล้ว ลักษณะที่ผมร่วงเป็นวงแบบนี้เราพบได้ในโรคอะไรอีกบ้าง”

“อะโลเพเซีย เอเรียเอต้า (Alopecia areata) ครับ” นักเรียนแพทย์คนหนึ่งตอบ เขาหมายถึงโรคผมร่วงหย่อมที่ผมได้พูดถึงในฉบับก่อน

“ทรัยโคทิโลเมเนีย ( Trichotillomania) ครับ” อีกคนหนึ่งตอบ 

ผมร่วงจากการถอนผม

ทรัยโคนิโลเมเนีย คือโรคผมร่วงที่เกิดเพราะฝีมือผู้ป่วยเอง เนื่องจากผู้ป่วยชอบถอนผมเล่น อาจจะเป็นเพียงนิสัย หรือบางคนอาจจะเป็นเพราะมีความกดดันทางจิตใจบางอย่าง เรามักจะพบในผู้ป่วยเด็กวัยเรียนชั้นประถมศึกษา ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่ถอนผมเปล่า ๆ ยังเอามาเคี้ยวกินเล่น เคยมีผู้ป่วยบางรายกินเข้าไปมากถึงกับต้องผ่าตัด เนื่องจากเกิดการอุดตันในทางเดินอาหาร เพราะว่าเส้นผมนี้ค่อนข้างจะทนทานต่อระบบน้ำย่อยต่างๆ ในร่างกาย

“มีใครเคยเห็นผู้ป่วยที่เป็นโรคผมร่วงจากการถอนผมหรือเปล่า
” ผมถามนักเรียนแพทย์ ปรากฏว่ายังไม่มีใครเคยเห็น

“พอจะมีใคเดาได้ไหมว่า เราจะวินิจฉัยได้อย่างไร” ผมถามต่อ

“ก็จากประวัติซิคะ ถ้าเราได้ประวัติว่าผู้ป่วยถอนผม เราก็วินิจฉัยได้ ” นักเรียนแพทย์คนหนึ่งตอบ

แล้วถ้าเราไม่ได้ประวัติอย่างที่ว่ามานี้ล่ะ เพราะบางครั้งผู้ป่วยไม่ยอมรับ” ผมถามขึ้นมาอีก

เมื่อไม่มีคำตอบจากนักเรียนแพทย์ ผมจึงอธิบายต่อไปว่า “บางครั้งผู้ป่วยอาจจะถอนผมเฉพาะเวลาก่อนจะนอนหลับ เราจะพบว่ามีเส้นผมตกอยู่ตามหมอนมากทุกวัน ลักษณะเส้นผมที่พบจะไม่มีต่อมรากผม และเมื่อตรวจดูหนังศีระษะของผู้ป่วย จะไม่พบว่ามีผื่นคัน ไม่มีขุ่ย เหมือนในผู้ป่วยที่เป็นเชื้อรา ลักษณะเส้นผมที่ยังอยู่จะพบว่ามีเส้นผมที่เป็นตอสั้น ๆ อยู่มาก เนื่องจากผมที่สั้นมาก ๆ เหล่านี้ผู้ป่วยถอนออกไม่ถนัด และที่สำคัญอีกอย่างคือ ถ้าเราเอาเส้นผมมาตรวจ จะไม่พบเชื้อรา”

“เราจะให้การรักษาผู้ป่วยเหล่านี้อย่างไร
” มีคำถามจากนักเรียนแพทย์

ส่วนใหญ่เราจะลองอธิบายให้ผู้ป่วยฟังว่า ผมร่วงที่เขาเป็นอยู่เกิดจากการที่เขาชอบถอนผมเล่น ถ้าหยุดถอนผมแล้วผมก็จะขึ้นเอง บางรายอาจจะต้องให้ยากล่อมประสาท บางรายที่เป็นมาก เราอาจจะต้องปรึกษาจิตแพทย์เหมือนกัน ” ผมอธิบายให้ฟัง

พอดีมีคนไข้ผิวหนังอย่างอื่นที่ไม่ได้เป็นผมร่วงเข้ามาตรวจต่อ เราจึงหยุดคุยกันเรื่องผมร่วง แล้วดูผู้ป่วยต่อไป

 

 

ข้อมูลสื่อ

64-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 64
สิงหาคม 2527
ศ.นพ.สมยศ จารุวิจิตรรัตนา