• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขิงยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด


ขิงเป็นอาหารสมุนไพรชนิดหนึ่งซึ่งเรารู้จักกันดี เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่คนทั่ว ๆ ไปโปรดปรานมาก โดยเฉพาะปลานึ่ง ถ้าใส่ขิงลงไปสักหน่อย ก็จะช่วยลดกลิ่นคาวของปลาลง และยังทำให้มีรสอร่อยอีกด้วย นอกจากนี้ก็มีการนำขิงไปรุงอาหารเพื่อให้อร่อยเช่น หมูผัดขิง เนื้อผัดขิง และอาหารอื่น ๆอีกมาก ซึ่งล้วนแต่อร่อยน่ากินทั้งนั้น


⇒ ขิงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale Rosc วงศ์ Zingiberaceae


⇒ ประวัติย่อของขิง

ชาวจีนรู้จักขิงมาเป็นเวลานานจากหลักฐานหนังสือที่ขุดพบในหลุมฝังศพหม่าหวังไว่ย หมายเลขหนึ่ง (ประมาณ 2,200 ปีมาแล้ว คือ 168 ปีก่อน ค.ศ.) ที่ฉางซาง ในหนังสือดังกล่าว มีการกล่าวถึงขิงมากมาย แหล่งกำเนิดของขิง คือประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ ปัจจุบันขิงเป็นพืชที่มีปลูกกันมากในประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์
สำหรับประโยชน์ของขิงนั้น นอกจากใช้เป็นอาหารและใช้ในการปรุงกลิ่นแล้ว ขิงยังมีประโยชน์ในเง่ของสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคตั้งแต่โบราณอีกด้วย ดังที่บันทึกไว้ในตำราเภสัชของจีน และเป็นสมุนไพรที่ใช้อยู่ในตำรับจีนจนถึงปัจจุบัน มีบันทึกในบทกวีของซูตงปอชื่อ “ตงปอจ๋าจี้” ว่า พระในวัดเซียนจิ้งซึ่งมีอายุกว่า 80 ปี แต่ยังมีใบหน้าที่อิ่มเอิบ และร่างกายที่แข็งแรงว่า “ท่านพูดเองว่า ท่านได้ฉันขิงมาเป็นเวลากว่า 40 ปี เลยทำให้ท่านไม่แก่”
มีผู้กล่าวไว้ว่า “ขิงยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด” คำพูดนี้ถูกต้อง ที่เป็นเช่นนี้เพราะขิงยิ่งแก่ยิ่งมี Gingerol และZingeron ยิ่งมาก สารสองตัวนี้ยิ่งมีมากก็ยิ่งมีรสเผ็ด ขิงไม่เหมือนพืชชนิดอื่น เง่าที่ฝังดินจะงอกเง่าใหม่ออกมา เมื่อเง่าใหม่งอกออกมา เง่าแก่ก็ยังสามารถนำไปกินได้


⇒ สารที่พบในขิง
ขิงมีน้ำมันหอมระเหย (Volatileoils) 0.25-3% สารที่สำคัญได้แก่ Zingiberol, Zingiberene, Phellandrene, Camphene, Citral, Linalool, Methylheptenone, Nonyl aldehyde – Borneol, มีสารรสเผ็ดคือ Gingerol ซึ่งเป็นสารประกอบของ Shogaol ผลึก Zingerol และ Zingiberol
นอกจากนี้ยังมี กรดอินทรีย์หลายตัวเช่น กรดกลูตามิค กรดแอสปาราจิค ซีรีน ไกลซีน เป็นต้น


⇒ ผลทางเภสัชวิทยา
1.ฤทธิ์ต่อระบบย่อยอาหาร ผลจากการทดลองกับสุนัข โดยใช้น้ำขิงต้ม 50% พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งกรดในกระเพาะอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมง ต่อจากนั้นจึงมีฤทธิ์กระตุ้น

2.ฤทธิ์ต่อระบบหมุนเวียนของเลือดและการหายใจ ให้คนปกติเคี้ยวขิงหนัก 1 กรัม (ไม่กลืนกากขิงลงไป) จะทำให้ความดันโลหิต (ตัวบน) เพิ่มขึ้น 11.2 มม.ปรอท ความดัน(ตัวล่าง) เพิ่มขึ้น 14 มม.ปรอท

3.ฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อโรคและโปโตรซัว จากการทดลองนอกร่างกายพบว่า น้ำที่ได้จากการแช่ขิงสามารถยับยั้งเชื้อทัยฟอลย์ และเชื้อทริโคโมแนสที่ทำให้เกิดช่องคลอดอักเสบได้

4.ฤทธิ์ในการยับยั้งอาการอาเจียน ผลจากการทดลองกับสุนัขพบว่า น้ำขิงที่ได้จากเง่าขิง สามารถยับยั้งอาการอาเจียน ซึ่งเกิดจากการระคายกระเพาะและลำไส้ของสารเคมีบางอย่างได้


⇒ ประโยชน์ของขิงในทรรศนะจีน

เนื่องจากรูปแบบในการใช้เป็นยาของขิงได้ผ่านกรรมวิธีในการสะตุหลายวิธีจึงทำให้สรรพคุณในทางยาแตกต่างกันไป ทั้งนี้เป็นเพราะสารบางอย่างในขิงเมื่อถูกความร้อนจะสลายตัวไป จึงทำให้สรรพคุณทางยาต่างไปด้วย สำหรับน้ำขิง และ เปลือกขิง ซึ่งมีสรรพคุณไม่เหมือนกัน เพราะทั้งสองต่างมีสารที่แตกต่างกัน
ขิงสด มีคุณสมบัติร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ ขับเหงื่อ แก้อาเจียน
น้ำขิง มีคุณสมบัติร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ แก้อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะ(สีขาวใส)
ขิงแห้ง มีคุณสมบัติร้อน สรรพคุณอุ่นจงเจียวสลายเย็น (เป็นหลักในการรักษาโรคกระเพาะอาหารและม้ามพร่อง-เย็น ซึ่งมีอาการท้องอืด แน่น อาหารไม่ค่อยย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก)
ขิงหมกไฟ มีคุณสมบัติร้อน สรรพคุณ อุ่นจงเจียว แก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย เนื่องจากเย็น (เวลากดท้องจะรู้สึกสบาย)
เปลืองขิง มีคุณสมบัติร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ ขับปัสสาวะ ลดอาการบวม ปริมาณที่ใช้ 3-10 กรัม

1.กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผล ใช้ขิงสด 50 กรัม ล้างให้สะอาดแล้วทุบให้แหลก เติมน้ำลงไป 300 ซี.ซี. ต้มนาน 30 นาที กินวันละ 3 ครั้ง ทั้งหมดแบ่งกินเป็น 2 วัน ผลจากการรักษาผู้ป่วย 10 ราย หลังกินน้ำขิง อาการปวดลดน้อยลงหรือหายไป กรดในกระเพาะอาหารและอาการหิวลดน้อยลง อุจจาระไม่เป็นสีดำ กินได้มากขึ้น แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

2.พยาธิตัวกลมจุกลำไส้ ใช้น้ำขิงผสมน้ำผึ้งดื่ม ในคนไข้ 109 ราย ได้ผล 104 ราย 4 รายไม่ได้ผล

3.กลิ่นเหม็นรักแร้ ใช้น้ำขิงทาบ่อย ๆ จะลดน้อยลงหรืออาจจะหายได้

4. อาเจียนและมีเสมหะเป็นฟอง ใช้น้ำขิงประมาณ 1 ช้อนโต๊ะกิน ถ้าเป็นมากให้ใช้น้ำขิง 1 ช้อนโต๊ะ น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำ 3 ช้อนโต๊ะ อุ่นให้พอร้อนกินวันละ 4-5 ครั้ง

5.ปวดกระเพาะอาหาร ใช้ขิง 60-120 กรัม น้ำตาลแดง 120 กรัม พุทรา 7 ลูก ต้มกินน้ำและเนื้อพุทราวันละครั้ง กิน 2 วันติดต่อกัน

6.เป็นแผลที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น
ใช้ขิงสด 250 กรัม กระเพาะหมู 1 ลูก หั่นขิงเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไปในกระเพาะหมู ตุ๋นด้วยไฟอ่อน ๆ กินทั้งน้ำและกระเพาะหมู

7.เป็นหวัดตัวร้อนเป็นไข้ ตากฝน มีอาการหนาว ปวดท้อง หั่นขิงเป็นฝอยหนัก 30 กรัม ชงกับน้ำตาลทรายแดง กินขณะร้อน ๆ แล้วห่มผ้าให้เหงื่อออก หรือจะใส่หัวหอมสัก 3-4 หัวก็ได้ จะทำให้แผลในการรักษาดีขึ้น


⇒ ข้อควรระวัง
สำหรับผู้ที่แพทย์จีนเรียกว่าร้อนในเพราะยินพร่อง หรือร้อนในเพราะเลือดออกมา (มักเกิดขึ้นหลังจากเสียเลือดมาก) ซึ่งมีอาการร้อนอุ้งมือ อุ้งเท้า และหน้าอก เหงื่อออกตอนกลางคืน แก้มทั้งสองข้างแดง ปากคอแห้ง ลิ้นสีแดงไม่มีฝ้าและแห้ง ชีพจรเต้นเร็วแต่ไม่มีแรง หรือผู้ที่มีอาการเจ็บคอ คอแห้ง อุจจาระแข็ง ไม่ควรกินขิงเพราะจะทำอาการดังกล่าวเป็นมากขึ้น


⇒ หมายเหตุ
อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษาและเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

 

ข้อมูลสื่อ

64-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 64
สิงหาคม 2527
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล