• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผมร่วง


ว่ากันเรื่องผมร่วงมาแล้ว 2 ฉบับ เริ่มตั้งแต่สาเหตุของผมร่วง เช่นผมร่วงตามธรรมชาติ ผมร่วงตามกรรมพันธุ์ และผมร่วงจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ผมร่วงจากซิฟิลิส ผมร่วงเป็นหย่อม ผมร่วงจากเชื้อรา และผมร่วงจากการถอนผม
สำหรับฉบับนี้ก็จะเป็นเรื่อง ไข้หัวโกร๋น ที่ทำให้ผมร่วง สาเหตุจะเป็นเพราะถูกผีหลอกหรือเปล่า ก็เชิญติดตามอ่านกันต่อไป และปิดท้ายด้วยผมร่วงหลังคลอด
 

ไข้หัวโกร๋น (Tellogen effluvium)

ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินคำนี้มานานแล้ว แต่บางคนอาจจะไม่ทราบว่าเขาหมายถึงโรคอะไร ทำไมถึงหัวโกร๋นได้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ
ในสมัยก่อนที่จะมียาปฏิชีวนะมีโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียอย่างหนึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่าไข้ทัยฟอยด์หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ นอกจากมีอาการทางทางเดินอาการ เช่น เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูกแล้ว ยังมีไข้สูงมาก อยู่เป็นเวลานาน สำหรับผู้ที่รอดตายจากโรคนี้มากได้อีก 2-3 เดือนต่อมา จะมีอาการผมร่วงทั่ว ๆ ไปทั้งศีรษะ จนผมบางลงไปมาก ที่จริงแล้วมักจะยังมีเส้นผมเหลืออยู่ ไม่ใช่ว่าจะร่วงจนหมดศีรษะ ลักษณะเส้นผมที่ร่วงเป็นเส้นผมที่อยู่ในช่วงหยุดการเจริญแล้วตามวงจรเส้นผมที่ผมได้อธิบายไปในตอนแรก (หมอชาวบ้านเดือนมิถุนายน 2527 ) ที่เป็นเช่นนี้เพราะในระหว่างที่เป็นไข้สูงนั้น เส้นผมที่อยู่ในวัยเจริญงอกงามจำนวนหนึ่งจะหยุดการเจริญเติบโต ทำให้อัตราส่วนระหว่างส้นผมที่กำลังเจริญกับเส้นผมที่หยุดการเจริญเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 80-85 ต่อ 15-20 เป็น 70 ต่อ 30 หรืออาจจะมีจำนวนเส้นผมที่หยุดการเจริญงอกงามมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

เส้นผมเหล่านี้เมื่อหมดอายุก็จะร่วงหลุกไปในเวลาประมาณ 3 เดือนต่อมา ทำให้ผมร่วงมากกว่าวันละ 100 เส้นได้ อาการผมร่วงจะอยู่ไม่นานเกิน 6 เดือน เส้นผมก็จะกลับเข้าสู่สภาพปกติไม่เพียงแต่ไข้ทัยฟอยด์จะทำให้มีอาการผมร่วงแบบนี้ เราพบว่าโรคอะไรก็ตามที่ผู้ป่วยมีไข้สูงอยูนาน อาจจะทำให้เป็นโรคผมร่วงแบบนี้ได้ นอกจากยาบางอย่างก็ทำให้เกิดโรคผมร่วงแบบนี้ได้เช่นกัน
 

ผมร่วงหลังคลอด

ในวันหยุดวันหนึ่งขณะที่ผมเดินเล่นอยู่แถวศูนย์การค้าราชดำริ ผมต้องสะดุ้ง เมื่อมีคนมาสะกิดข้างหลังค่อยยังชั่วหน่อยที่หันไปแล้วพบเพื่อนเก่าสมัยเรียนหนังสือชั้นมัธยมด้วยกัน หลังจากที่ทักทายถามสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว เพื่อนจึงเอ่ยว่า “โชคดีมากที่ได้พบคุณวันนี้ ผมกำลังคิดจะพาภรรยาไปปรึกษาเรื่องผมร่วงอยู่พอดีว่าจะพาไปหาที่โรงพยาบาลหรือก็ไม่ค่อยมีเวลา คือยังงี้ ภรรยาของผม มีอาการผมร่วงมาประมาณ 1 อาทิตย์ แล้ว ร่วงวันละมาก ๆ ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไรหรือเปล่า”

ผมจึงถามว่า “แล้วเธอมีอาการผิดปกติอย่างเช่นคันศีรษะ มีผื่นมีขุย มีไข้ หรืออาการทางกายอย่างอื่นหรือเปล่า”

“ก็เห็นสบายดีนี่ ไม่มีอะไรผิดปกติ”

“ลูกอายุเท่าไรแล้วล่ะ” ผมถาม

“อายุได้ 3 เดือนกว่าแล้ว เอ๊ะ ! มันเกี่ยวอะไรกับลูกด้วยละ ” เพื่อนชักงง

ที่ถามนี้ก็ต้องการจะรู้ว่าคลอดลูกมานานเท่าใด ผมร่วงหลังคลอดได้ 3 เดือน ก็พอดีกับที่โบราณว่า ลูกจำหน้าแม่ได้แล้วผมจะร่วง” ผมตอบและอธิบายต่อว่า “ความจริงเป็นเพราะมีความเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนระหว่างเส้นผมที่กำลังเจริญกับเส้นผมที่หยุดเจริญแล้ว เหมือนที่เราพบในคนไข้หลังจากเป็นไข้สูง ๆ”

“แล้วอย่างนี้จะรักษาอย่างไร” เพื่อนถาม

“ก็ไม่ต้องรักษาอะไร” ผมตอบ

“อ้าว ! แล้วผมจะไม่ร่วงหมดทั้งศีรษะหรือ” เพื่อนสงสัย

ไม่หรอก ส่วนใหญ่จะร่วงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเส้นผมที่มีอยู่ แล้วก็จะค่อยดีขึ้น อาการผมร่วงมักจะเป็นอยู่ 2-6 เดือน แต่บางคนอาจจะนานกว่านี้ได้ แล้วมันก็ขึ้นมาเอง ไม่ต้องตกใจ แต่ยังไงก็ลองเอาเส้นผมมาตรวจดู ถ้าต้องการจะรู้แน่ว่าไม่ได้ร่วงจากสาเหตุอื่น ๆ” ผมตอบ หลังจากที่ซักถามจนหายข้องใจแล้ว ก็คุยกันเรื่องอื่นสักครู่ก็แยกจากกันไป.

ผมยกตัวอย่างผู้ป่วย ผมร่วงชนิดต่าง ๆที่พบบ่อย ๆ มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อผู้อ่านที่มีปัญาผมร่วง จะได้เปรียบเทียบดูว่า โรคผมร่วงที่ตัวองเป็นอยู่นั้น จะเป็นโรคอะไรได้บ้าง เรามีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง
ก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย

จบบริบูรณ์
 

ข้อมูลสื่อ

65-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 65
กันยายน 2527
ศ.นพ.สมยศ จารุวิจิตรรัตนา